นายหวัง เจี้ยน (Mr. Wang Jian) ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกลุ่มบริษัท BGI เปิดเผยว่า ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อหารือด้านการแพทย์จีโนมิกส์ และการพัฒนาการด้านชีววิทยาศาสตร์ร่วมกับภาครัฐบาลและองค์กรต่าง ๆ และได้เข้าพบคารวะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยมุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยในการจัดตั้ง "International Innovation Center for Life" เพื่อยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์จีโนมิกส์ของภูมิภาค และเป็นศูนย์กลางการรักษาโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยกว่า 600,000 คน โดยทาง BGI คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี ในการคิดค้นและทดสอบนวัตกรรมทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ และจะสามารถเปิดให้บริการกับประชาชนในประเทศไทยได้ นอกจากนี้ ยังได้พบกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือเกี่ยวกับการขยายความร่วมมือด้านการแพทย์ระบบสาธารณสุข และการพัฒนาด้านชีววิทยาศาสตร์ในประเทศไทยอีกด้วย
"เราเชื่อมั่นว่า "International Innovation Center for Life" จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้ เพราะประเทศไทยมีบุคลากรทางการแพทย์เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีมาตรฐานและระดับการพัฒนาทางการแพทย์สูง รวมถึงในระดับนโยบายประเทศไทยมีแผนงานด้านจีโนมิกส์รองรับอยู่ จึงเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือของหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้องในหลาย ๆ หน่วยงาน ทั้งสองฝ่ายจะสามารถยกระดับความร่วมมือระหว่างกันในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญ การศึกษา การฝึกอบรมบุคลากร เพื่อให้คนรุ่นใหม่ก้าวทันเทคโนโลยี และสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อนำมาใช้พัฒนาประเทศได้"
นายหวัง เจี้ยน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ทาง BGI ยังได้หารือความร่วมมือกับ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงการพัฒนาความร่วมมือในการวิจัยและทดสอบนวัตกรรมใหม่ เพื่อให้การปลูกข้าวหรือการหว่านพันธุ์ข้าวเพียง 1 ครั้ง สามารถเก็บเกี่ยวได้นาน 5 ปี ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ลดต้นทุน ทั้งในเรื่องเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย น้ำ รวมถึงประหยัดทรัพยากรต่าง ๆ ลดการใช้พลังงาน และนำไปสู่การลดก๊าซคาร์บอนลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย ซึ่งทาง BGI มีเทคโนโลยีที่ทำได้สำเร็จแล้วในหลายพื้นที่ในประเทศจีน โดยเรื่องนี้จะมีการหารือในรายละเอียดอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
"ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ผมยังยึดมั่นในอุดมการณ์ และมีความเชื่อว่า การพัฒนาศาสตร์ด้าน Omics และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องจะเป็นคุณประโยชน์ต่อประชากรทุกคนบนโลก BGI จึงเป็นต้นแบบการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์โดยใช้เทคโนโลยีเฉพาะตัว รวมถึงการคิดค้นนวัตกรรม และยังมุ่งพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม พร้อมกับพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในการคิดค้นศาสตร์ใหม่ ๆ ลดต้นทุนการเข้าถึง และพร้อมจะร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อลดโอกาสการเกิดทารกที่มีความพิการแต่กำเนิด ช่วยยืดอายุของผู้ป่วยมะเร็ง การควบคุมโรคติดเชื้อ เพื่อทำประโยชน์ให้กับมนุษยชาติต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง"
BGI ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2542 เพื่อมีส่วนร่วมในโครงการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองเซินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน มีพนักงานมากกว่า 10,000 คน กระจายทั่วทุกภูมิภาคของโลก รวมกว่า 100 ประเทศ มีงานวิจัยตีพิมพ์มากกว่า 3,000 ฉบับ ซึ่งงานวิจัยกว่า 400 ฉบับ ได้ตีพิมพ์ลงในวารสารทางวิทยาศาสตร์ชั้นนำ ได้แก่ Nature, Sciences และ Cell and New England journal of Medicine เป็นต้น และยังได้รับสิทธิบัตรมากกว่า 1,300 ฉบับ โดยบริษัท BGI Genomics ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น และ MGI ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ BGI ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งดัชนีชี้วัด Nature Index ได้จัดให้ BGI อยู่ในอันดับ 1 ของบริษัทด้านชีววิทยาศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นอันดับที่ 6 ของโลก
สำหรับการต่อสู้กับการระบาดของโรคอุบัติใหม่ต่าง ๆ นั้น BGI สามารถหาลำดับพันธุกรรมและพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัย SARS-CoV-2 และได้รับการรับรองและอนุญาตให้ใช้ในหลายประเทศทั่วโลก อีกทั้ง BGI ประสบความสำเร็จในการรับมือกับโรคระบาดอื่น ๆ โดยเป็นบริษัทแรกในสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่หาลำดับสารพันธุกรรมและผลิตชุดตรวจวินิจฉัยทั้งไวรัสซาร์สและไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคไข้หวัดนกได้สำเร็จในปีค.ศ. 2000 และ ค.ศ. 2004 ตามลำดับในปี พ.ศ. 2560 บริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (บริษัทในเครือ BGI Genomics ในประเทศไทย) ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้บริการตรวจคัดกรองความผิดปกติทางโครโมโซมของทารกในครรภ์ หรือ นิฟตี้ (NIFTY) และยังสามารถให้บริการการตรวจคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรมชนิดอื่น ๆ และได้แปรสภาพเป็น บริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) ในปี พ.ศ. 2565 โดยบริษัทฯ ได้นำทั้งแนวคิด และเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาประยุกต์ใช้ในการให้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทย เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังได้นำมาพัฒนาการรักษาการแพทย์แบบแม่นยำและจำเพาะ โดยอาศัยข้อมูลทางพันธุกรรมมาใช้ในการตรวจวินิจฉัย การเลือกรูปแบบการรักษา รวมไปถึงการเลือกใช้ยาจำเพาะเจาะจง เพื่อให้ได้รับการรักษาและการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น