BEDO ส่งเสริม "ตลาดปันรักษ์" พัฒนา ต่อยอด ฝ้ายตุ่ยอินทรีย์ คุณค่าจากต้นน้ำเลย

ข่าวทั่วไป Wednesday January 11, 2023 16:08 —ThaiPR.net

BEDO ส่งเสริม

"เลย" เมืองทะเลภูเขา ป่าเขียวขจี ความงดงามของธรรมชาติ ชมวิถีชาวบ้านที่เรียบง่าย ด้วยทรัพยากรที่หลากหลายทำให้เลยเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO ให้การส่งเสริมด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรสร้างเศรษฐกิจในชุมชนบ้านศรีเจริญ ตำบลเลยวังไสย์ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย

นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ กล่าวว่า "บ้านศรีเจริญ ตำบลเลยวังไสย์ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ตอนบนของแม่น้ำเลย เป็นพื้นที่ต้นน้ำ มีทรัพยากรชีวภาพที่โดดเด่นและสำคัญต่อวิถีชีวิตชุมชน ได้แก่ ข้าวเหนียวแดงเมืองเลย และฝ้ายตุ่ย โดยส่วนของข้าวเหนียวแดงเมืองเลย ถือเป็นชนิดพันธุ์ข้าวที่พบหาได้ยากมากในปัจจุบัน ชุมชนเลยวังไสย์ได้เพาะปลูกและเก็บเป็นแหล่งพันธุกรรมมีชีวิต เบโด้ (BEDO) ได้เข้าไปทำงานร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเลย ในการจัดทำข้อมูลเพื่อขอรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ รวมถึงให้การส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อยกระดับรายได้ในชุมชน"

นอกจากนี้ ฝ้ายตุ่ย ยังถือเป็นพืชที่เกี่ยวข้องกับวิถีวัฒนธรรมเครื่องนุ่งห่มที่จังหวัดเลย ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องเมืองแห่งฝ้าย ขณะที่ตำบลเลยวังไสย์ มีพื้นที่ปลูกฝ้ายมากที่สุดของจังหวัดก็ว่าได้ การปลูกฝ้ายของตำบลเลยวังไสย์ มีการปลูกแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีใดๆ เมื่อปลูกแล้วจะนำฝ้ายที่ได้มาผ่านกระบวนการ อิ้ว เข็น ปั่นด้าย และทอเป็นผ้าผืนใช้ในครัวเรือนเป็นส่วนใหญ่ เบโด้ (BEDO) เห็นคุณค่าและศักยภาพของฝ้ายตุ่ยจึงได้สนับสนุนให้มีการพัฒนาการทอเป็นผ้าหน้ากว้าง พัฒนารูปแบบลวดลายทั้งจากการทอ และการย้อมฝ้ายด้วยสีจากธรรมชาติ ที่มีในชุมชนเช่น ใบเบือก ใบเอ็นหม่อน ครั่ง เปลือกต้นมะม่วง เป็นต้น ที่สำคัญตอนนี้ได้มีการนำมูลช้างมาทำสีย้อมให้กับฝ้ายของกลุ่มซึ่งได้รับความนิยมมาก มีการนำผ้ามาออกแบบตัดเย็บในรูปแบบที่ทันสมัยให้คนเมืองสามารถสวมใส่ได้   

อย่างไรก็ตาม ด้วยชุมชนตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและมีพืชพรรณ ผลไม้ และสัตว์ที่เป็นอาหารวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น หวาย ผักขี้นาก ตาว คอแลน มีหอยหอม หอยดง แมงแคง และอีปุ่ม ซึ่งหาได้ยากจะมีตามฤดูกาลเบโด้ (BEDO) จึงได้นำเครื่องมือการตลาด เข้ามาปรับใช้สร้างคุณค่าและรายได้ให้กับชุมชนวังไสย์ โดยให้การส่งเสริมด้าน "ท่องเที่ยวชีวภาพ" เป็นการสร้างการรับรู้เชิญชวนให้ผู้คนนอกชุมชนได้รู้จักสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในชุมชนและได้เข้ามาสัมผัสเยี่ยมชมวิถีชาวบ้านที่เรียบง่าย โดยจัดงานตลาดปันรักษ์ ในชื่อ "เทศกาลอาหารพื้นบ้าน ดอกฝ้ายบาน @ขุนเลย" ซึ่งเป็นรูปแบบของตลาดชุมชน และสร้างรายได้ให้ชุมชน

ปัจจุบัน ชุมชนตำบลเลยวังไสย์ ถือเป็นต้นแบบของการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพให้เกิดเศรษฐกิจควบคู่กับการทำกิจกรรมอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี  โดยเฉพาะการทำตลาดปันรักษ์ สร้างความมั่นคงของรายได้ให้ชุมชนประมาณ 30 ครอบครัว ปีละประมาณ 1,000,000 บาท ซึ่งถือว่าตอบโจทย์ภารกิจของเบโด้ (BEDO) ได้อย่างดียิ่ง  คือ สร้างเศรษฐกิจควบคู่กับการอนุรักษ์ จากทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ