สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) จัดทำกลไกการพัฒนาบุคลากรสายอาชีวศึกษา ภายใต้กรอบความร่วมมือ ในกิจกรรม"การบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา : Smart Invention & Innovation ประจำปี 2566 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" ระหว่างวันที่ 10 - 12 มกราคม 2566 ณ โรงแรมลายทอง จ.อุบลราชธานี
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานในวันที่ 10 มกราคม 2566 พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "พัฒนาคน พัฒนาอาชีวะ : เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน" กล่าวว่า วช.ให้ความสำคัญกับการนำวิจัยและนวัตกรรมตามเป้าหมายของแผน ววน. พ.ศ.2566-2570 มาเป็นกลไกในการพัฒนาคนให้เป็นฐานที่เข้มแข็งของประเทศ เพื่อนำสู่สังคมแห่งการเรียนรู้และการสร้างสรรค์ประดิษฐกรรมนวัตกรรม อันเชื่อมโยงกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นประเด็นในทิศทางของแผนพัฒนาการอาชีวศึกษา ในการมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนด้วย การวิจัย และนวัตกรรม พร้อมด้วยการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยใช้ฐานการพัฒนาศักยภาพกำลังคนให้มีสมรรถนะสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ โดย วช. และสอศ. ได้ร่วมกันวางกลไกและจัดทำกิจกรรม เพื่อส่งเสริมการบ่มเพาะให้บุคลากรสายอาชีวศึกษา ได้มีทักษะและคุณลักษณะที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ให้สามารถใช้ววน.สร้างองค์ความรู้ พัฒนาประดิษฐกรรมและนวัตกรรม ที่ช่วยแก้ไขปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพในภาคการผลิตและภาคการบริการ ได้อย่างเป็นมาตรฐาน
พร้อมนี้อาจารย์สง่า แต่เชื้อสาย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง "ยกระดับพลังอาชีวศึกษาด้วยวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างชาติ"
กิจกรรมตลอด 3 วัน มีคณะผู้บริหารของ สอศ.และคณะผู้ทรงคุณวุฒิวช. ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรตลอดการจัดงาน 3 วัน โดยมุ่งเน้นการจะพัฒนานักประดิษฐ์ของอาชีวศึกษาให้มีความเข้าใจ ความรู้ และเสริมสมรรถนะ ในรูปแบบในการบ่มเพาะ การบรรยาย การร่วมworkshop ในประเด็นต่างๆ อาทิ-หลักการเขียนข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม-การเปลี่ยนขยะให้เป็นสินค้าด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม -ความรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม -Creative Thinking for Creative Innovation-เทคนิคการนำเสนอผลงาน
พร้อมกันนี้ได้มีการฝึกปฏิบัติในกลุ่มเรื่อง1) ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร 2) ด้านสาธารณสุข สุขภาพ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 3) ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ 4.)ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model5) ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
มีบุคลากรสายอาชีวศึกษาจากสถาบันของอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร่วมกิจกรรมมากกว่า 300 คน ตลอดการจัดกิจกรรม 3 วัน