ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเข้ามาปรับเปลี่ยนทั้งวิถีชีวิตของผู้คน กระบวนการทำงาน และการเชื่อมต่อถึงกันมากขึ้นเรื่อย ๆ คอนเซ็ปต์เรื่อง "Smart City" หรือเมืองอัจฉริยะจึงกลายเป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่หลายภาคส่วนกำลังให้ความสำคัญกันในขณะนี้ หนึ่งในนั้นคือแบรนด์ผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลกอย่างหัวเว่ย ที่เรียกได้ว่าเป็นตัวตั้งตัวตีด้านการผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลในประเทศไทยจากภาคเอกชนมาโดยตลอด ล่าสุดทางบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ผนึกกำลังอย่างยิ่งใหญ่กับองค์กรภาครัฐ ซึ่งนำโดยกรุงเทพมหานคร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และภาคเอกชน จากพันธมิตรกว่า 160 องค์กร เพื่อระดมความคิด ร่วมสร้าง "กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่" ให้เกิดขึ้นจริงในอนาคตอันใกล้ ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญที่ทุกฝ่ายร่วมกันหารือและแบ่งปันวิสัยทัศน์ ทัศนคติ รวมถึงแนวคิดเชิงกลไก เพื่อกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนกรุงเทพฯ สู่ "Smart City" อย่างแท้จริง
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องการวางผังเมืองให้เป็นมิตรกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานครและหลายภาคส่วน ในการออกมาตรการเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม รวมถึงควบคุมการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ทั้งการค้า อุตสาหกรรม การใช้พลังงาน การก่อสร้าง และสถาปัตยกรรม เพื่อนำไปสู่การสร้างสุขภาพที่ดีขึ้น สร้างความสุขให้กับทุกคนได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
ทั้งนี้ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงแนวคิด "เมืองที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน และสร้างร่วมกัน" (Co-Creation City) มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับการผลักดันให้กรุงเทพฯ ยกระดับขึ้นเป็นเมืองอัจฉริยะ เนื่องจากยการทำให้คนในกรุงเทพฯ ทุกคนมีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของเมืองร่วมกัน จะช่วยสร้างจุดมุ่งหมายเดียวกันในการพัฒนาเมือง ซึ่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยขับเคลื่อนนโยบายการเปิดเผยข้อมูล (Open Bangkok) จะเปิดพื้นที่และโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมและเข้าถึงนโยบายผ่านโลกออนไลน์ นำข้อมูลใน Database มาวิเคราะห์และบริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญกรุงเทพฯ จะต้องวางจุดยืนให้เป็นเมืองน่าอยู่เพื่อดึงดูดบุคลากรมากทักษะ โดยเฉพาะด้านดิจิทัลจากทั่วทุกมุมโลกมาไว้ด้วยกัน
ในฝั่งของภาคเอกชน ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวถึงความร่วมมือในการสร้างกรุงเทพฯ อัจฉริยะ ด้วยการใช้เทคโนโลยียกระดับระบบความปลอดภัยชั้นเลิศเพื่อให้คนกรุงเทพฯ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผ่านระบบอัจฉริยะ (Smart System) และระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ (Smart Security System) ที่หัวเว่ยได้นำนวัตกรรม AI ตัวล่าสุดเข้ามาประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์อัจฉริยะ ซึ่งรวมไปถึงกล้อง CCTV ที่ติดตั้งอยู่ทั่วเมือง อุปกรณ์อัจฉริยะดังกล่าวได้รับการออกแบบมาอย่างชาญฉลาด สามารถช่วยควบคุมการจราจร ดูแลความปลอดภัย ตรวจตราเหตุอาชญากรรมและอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตให้กับประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านการรับ-ส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ไปจัดเก็บบนคลาวด์คอมพิวติ้งเพื่อประมวลผลและนำไปต่อยอดและประยุกต์ใช้กับระบบต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ
นอกจากนี้ ดร.ชวพล ยังได้กล่าวถึงทิศทางในการสร้างกรุงเทพฯ อัจฉริยะอย่างยั่งยืนในศตวรรษที่ 21 ด้วยการผนึกกำลังกับทุกภาคส่วนว่า ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีและผู้สนับสนุนการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศ หัวเว่ย ประเทศไทย จะเดินหน้าตามพันธกิจ "เติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย สนับสนุนประเทศไทย" (Grow in Thailand, Contribute to Thailand)" อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งสำคัญสำหรับการจะสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองอัจฉริยะในทุกมิติ คือการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีไอซีทีตัวล่าสุดของหัวเว่ยมาประยุกต์ใช้เพื่อบริหารจัดการกรุงเทพฯ และดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งระบบดังกล่าวจะประกอบไปด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะต่อไปนี้:
1) IoT (Internet of Things) เครือข่ายรวมของอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สามารถเชื่อมต่อถึงกันและสามารถทำงานโต้ตอบระหว่างกันได้อย่างอัตโนมัติ เพื่อสร้างระบบความปลอดภัยในกรุงเทพมหานครอย่างบูรณาการ ด้วยกระบวนการดำเนินงานที่มีความอัจฉริยะ
2) เทคโนโลยีการเชื่อมต่อผ่านเครือข่าย 5G ผ่านสายไฟเบอร์ (5G Fiber) ที่เป็นมากกว่าอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยมีความเร็วการเชื่อมต่อระดับกิกะบิตต่อวินาที และมีค่าความหน่วงน้อยกว่าเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ 4G ถึง 20 เท่า ทำให้การส่งข้อมูลระหว่างอุปกรณ์เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วที่สุด
3) Intelligence Cloud-Based Platform หรือการเก็บข้อมูลต่าง ๆ อย่างมหาศาลบนแพลตฟอร์มคลาวด์ คอมพิวติ้งทั้งหมด ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยี เกิดการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนกันของข้อมูล (Data) สู่การสร้างสมองของเมือง ทำให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลผ่านการเชื่อมต่อได้ทุกแห่งหน (Ubiquitous Connectivity) ด้วยสามสิ่งนี้ หัวเว่ยเชื่อว่ากรุงเทพฯ จะกลายเป็นเมืองแห่งอนาคต ที่มีการบริหารจัดการอย่างชาญฉลาด และทุกคนจะได้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยีได้อย่างไร้รอยต่อ สู่การเป็น "กรุงเทพอัจฉริยะ" แห่งศตวรรษที่ 21 อย่างยั่งยืน