กทม.เฝ้าระวังป้องกันโรคไข้เลือดออก ใช้กลไก อสส.ช่วยกำจัดแหล่งเพาะยุงลายในชุมชน

ข่าวทั่วไป Friday January 13, 2023 16:09 —ThaiPR.net

กทม.เฝ้าระวังป้องกันโรคไข้เลือดออก ใช้กลไก อสส.ช่วยกำจัดแหล่งเพาะยุงลายในชุมชน
  • กทม.เฝ้าระวังป้องกันโรคไข้เลือดออก ใช้กลไก อสส.ช่วยกำจัดแหล่งเพาะยุงลายในชุมชน

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 31 ธ.ค.65 พบผู้ป่วยสะสม 8,162 ราย (อัตราป่วยเท่ากับ 147.65 ต่อแสนประชากร) มีผู้เสียชีวิต 5 ราย (อัตราป่วยตายเท่ากับ ร้อยละ 0.06) โดยเขตที่มีอัตราป่วยสะสมโรคไข้เลือดออกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เขตพญาไท (318.67) เขตราชเทวี (301.17) และเขตบางกะปิ (260.22) ตามลำดับ

ทั้งนี้ สนอ.มีมาตรการเฝ้าระวังก่อนการระบาดของโรคไข้เลือดออก ได้แก่ การเฝ้าระวัง วิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์ เพื่อจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่ ลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายชุมชนให้น้อยที่สุด สร้างความตระหนักชุมชนร่วมป้องกันโรค เตรียมความพร้อมทรัพยากรและบุคลากรในการควบคุมโรคและรักษา สอบสวนและควบคุมโรคในผู้ป่วยรายแรกให้ทันเวลา และมีคุณภาพและจัดทำแผนร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย ขณะเดียวกันได้ประสานความร่วมมือสำรวจพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกยุงลาย โดยเฉพาะพื้นที่พักอาศัย/ชุมชนย่านใจกลางเมือง เช่น เขตพญาไท เขตราชเทวี ที่พบอัตราป่วยโรคไข้เลือดออกสูง รวมถึงสนับสนุนเครื่องมือที่ใช้กำจัดลูกน้ำยุงลายได้ทรายจีพีโอ-1 (ทรายอะเบต) โดยประสานสำนักงานเขตและศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ร่วมวางแผนดำเนินการผ่านกลไกการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) และคนในชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคไข้เลือดออกและโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ รวมทั้งแนะนำการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยวิธีทางกายภาพ เช่น ใช้ขันตัก กระชอน หรือตะกร้าผลไม้บุด้วยตาข่าย ใช้ตาข่าย หรือฝาปิดภาชนะเก็บน้ำ ขัดล้างและเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน วิธีทางชีวภาพ เช่น ปลาหางนกยูง ปลากัด ปลาสอด ลูกน้ำยุงยักษ์ และวิธีทางเคมี เช่น สารเคมีกำจัดลูกน้ำยุงลาย จุลินทรีย์ สารยับยั้งการเจริญเติบโต รวมถึงการปฏิบัติตามหลัก 5 ป. ได้แก่ ปิด - ปิดฝาภาชนะให้สนิท ปล่อย - ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เปลี่ยน - เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดไม่ได้ ปรับ - ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ปฏิบัติ - ปฏิบัติเป็นประจำ

นอกจากนั้น ยังได้เตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกและโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ โดยจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ สารเคมี เพื่อสนับสนุนรองรับกรณีมีการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกให้เพียงพอ รวบรวมรายงานการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลาย เพื่อเฝ้าระวังโรคตามมาตรการ รายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกทางระบบสารสนเทศทางระบาดวิทยา (BMA-EPINET) ติดตามสถานการณ์โรคไข้เลือดออก เผยแพร่ข้อมูล ความรู้ และแนวทางปฏิบัติให้บุคลากรทราบและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ตลอดจนรณรงค์ส่งเสริมความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมดูแลสุขลักษณะและจัดการสิ่งแวดล้อมบริเวณบ้านพักอาศัยและภายในชุมชน ไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยเฉพาะในจุดเล็ก ๆ ที่มีน้ำขังและอาจมองไม่เห็น เช่น ภาชนะที่ถูกนำไปทิ้ง ภาชนะน้ำดื่มน้ำใช้ที่ไม่มีฝาปิดมิดชิด แจกันดอกไม้ จานรองกระถางต้นไม้ ซึ่งอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายและเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไข้เลือดออก โดยจัดกิจกรรมรณรงค์เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก สร้างความตระหนักในการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายในสถานที่ชุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานที่จัดงาน กิจกรรมจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และการสื่อสารความเสี่ยงในชุมชน บ้านจัดสรร คอนโด โดยผู้นำชุมชน นิติบุคคลคอนโด/หมู่บ้านจัดสรร ผู้นำทางศาสนา โดยประชาสัมพันธ์การกำจัดลูกน้ำยุงลายและป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด เพื่อสร้างความเข้าใจในการป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง


แท็ก อสส.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ