นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงกล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบสุขาภิบาลการประกอบอาหารของโรงเรียนวัดนาคนิมิตร สุขสวัสดิ์ ซอย 8 เขตจอมทอง ภายหลังนักเรียนมีอาการอาหารเป็นพิษรุนแรงเมื่อวันที่ 13 ม.ค.66 ว่า กองควบคุมโรคติดต่อ สนอ.ได้จัดเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ จำนวน 22 ตัวอย่าง ประกอบด้วย น้ำดื่มในโรงเรียน 2 ตัวอย่าง น้ำใช้ในโรงเรียน 1 ตัวอย่าง อาหาร (ผัดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) 3 ตัวอย่าง เศษอาหารจากการอาเจียน 4 ตัวอย่าง และ Rectal swab 12 ตัวอย่าง พร้อมทั้งให้คำแนะนำการทำความสะอาดบริเวณห้องน้ำและพื้นที่ที่นักเรียนอาเจียน โดยสนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์และน้ำยาทำลายเชื้อ ขณะเดียวกันร่วมกับสำนักงานเขตตรวจทดสอบโคลิฟอร์มแบคทีเรียเบื้องต้น (SI 2) ในผู้ประกอบอาหารและภาชนะของโรงเรียน รวมทั้งสำรวจสภาพแวดล้อมบริเวณโรงอาหารและให้ความรู้แก่ผู้จำหน่ายอาหารบริเวณหน้าโรงเรียน ตลอดจนติดตามและกำกับดูแลผู้ค้าอาหารภายนอกบริเวณโรงเรียนให้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลอาหารตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.66 เป็นต้นไป
ส่วนมาตรการควบคุมและป้องกันสำหรับโรงเรียนจะประสานครู เพื่อขอข้อมูลนักเรียนที่ป่วย ให้คำแนะนำครูในการกำกับติดตามแม่ครัว คนเตรียมอาหาร รวมถึงผู้ประกอบอาหารทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน เมื่อพบมีอาการอาเจียนเป็นกลุ่มก้อนในเวลาใกล้เคียงกันในโรงเรียน ให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ เฝ้าสังเกตอาการดูแลเบื้องต้น แล้วแจ้งเหตุการณ์ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่และผู้ปกครองทราบ หากอาการไม่ดีขึ้นให้นำส่งสถานพยาบาล หรือสถานบริการสาธารณสุขพื้นที่ รวมทั้งทำความสะอาดห้องน้ำ-ห้องครัว โดยน้ำยาฆ่าเชื้อ และแนะนำนักเรียนล้างมือให้สะอาดก่อน หลังรับประทานอาหารและภายหลังจากการขับถ่าย
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวว่า สนพ.ได้แนะนำวิธีดูแลสุขภาพและสังเกตอาการของโรคอาหารเป็นพิษ โดยเฉพาะการเลือกบริโภคอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ โดยยึดหลัก "สุก ร้อน สะอาด" หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ และบริโภคน้ำดื่มที่สะอาด รวมทั้งล้างมือด้วยสบู่และน้ำทุกครั้งก่อนปรุงและรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หรือสัมผัสสิ่งสกปรก เพื่อลดความเสี่ยงโรคอาหารเป็นพิษ