ก.แรงงาน จัด Skill Expo ที่ขอนแก่น ภายใต้แนวคิด "สร้าง เสริม เติม ต่อ" โชว์ทักษะ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
วันที่ 19 มกราคม 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานโครงการมหกรรม Skill Expo Thailand 2022 พัฒนาคนสู่โลกยุคใหม่ ครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด "สร้าง เสริม เติม ต่อ" โดยมีนายเฉลิมพงษ์ บุญรอด รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายพิเชฐษ์ ทองพันธ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายสุเทพ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารและนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ร่วมให้การต้อนรับ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จัดขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ มีศักยภาพด้านความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะขั้นสูงในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 20 ปี ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ ที่มีเป้าหมายในการพัฒนากำลังคนในทุกมิติและทุกช่วงวัย ให้เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ พร้อมสำหรับวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21 รวมถึงเป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่แรงงานในการพัฒนาตนเอง ซึ่งในปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศกำลังฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นายจ้างและสถานประกอบกิจการจึงมีความต้องการแรงงานที่มีฝีมือในการทำงาน และพร้อมที่จะจ่ายค่าจ้างตามทักษะฝีมืออีกด้วย
นายสุเทพ กล่าวต่อไปว่า โครงการมหกรรม Skill Expo Thailand 2022 พัฒนาคนสู่โลกยุคใหม่ ครั้งที่ 2 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "สร้าง เสริม เติม ต่อ" คือ สร้างสมรรถนะ เสริมภูมิคุ้มกัน เติมเต็มองค์ความรู้ และต่อยอดความสำเร็จสู่เส้นทางอาชีพ ซึ่งกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การสาธิตการแข่งขันฝีมือแรงงาน จำนวน 10 สาขา ได้แก่ สาขาการสร้างโมเดลสำหรับเกมสามมิติ สาขาการสร้างแบบจำลองข้อมูลอาคาร สาขาการเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ สาขาการรักษาความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ สาขาเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติในงานอุตสาหกรรม สาขาการออกแบบหุ่นยนต์ตามภารกิจ สาขาเมคคาทรอนิกส์ สาขาเทคโนโลยีหุ่นยนต์เคลื่อนที่ สาขาการตรวจสอบเครือข่ายใยแก้วนำแสง สาขาการเชื่อมด้วยระบบเสมือนจริง การสาธิตการฝึกอบรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จำนวน 6 สาขา ได้แก่ สาขาเมคคาทรอนิกส์ สาขาแขนกลหุ่นยนต์ สาขาการเขียนโปรแกรม PLC สาขาเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ สาขาปัญญาประดิษฐ์ สาขาซ่อมบำรุงหุ่นยนต์อุตสาหกรรมการสาธิตการทดสอบมาตรฐานสาขาแห่งอนาคตในศตวรรษที่ 21 จำนวน 5 สาขา ได้แก่ สาขาช่างซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้า ระดับ 2 สาขาผู้ควบคุมระบบงานเชื่อมมิก - แม็ก ด้วยหุ่นยนต์ ระดับ 1 สาขาช่างติดตั้งระบบบ้านอัจฉริยะ ระดับ 1 สาขาช่างติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ระดับ 1 สาขาพนักงานผสมเครื่องดื่ม ระดับ 2 การจัดแสดงโลกเสมือนจริงผ่าน AR หรือ VR จำนวน 6 อาชีพ ได้แก่ ศัลยแพทย์ บาร์เทนเดอร์ ช่างไฟฟ้า ช่างซ่อมบำรุงยานยนต์ เจ้าหน้าที่ถอดประกอบชิ้นส่วนยานยนต์ ช่างปฏิบัติการในโรงงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี IoT สำหรับการเกษตรอัจฉริยะ การจัดแสดงนิทรรศการการพัฒนาประเทศตามแนวคิด BCG การจัดแสดงสินค้าจากผู้ประกอบการในงาน เป็นต้น
"การจัดงานครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 จากทั้งหมด 5 ครั้ง ครั้งแรกจัดที่ชลบุรี ส่วนครั้งต่อไปจัดที่เชียงใหม่ สงขลา และปทุมธานี ตามลำดับ ที่กระจายจัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเพื่อให้แรงงานและประชาชนทั่วไปได้ทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างทั่วถึง เป็นเวทีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคตระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาอีกด้วย จึงชวนผู้สนใจในแต่ละจังหวัดหรือจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมงานดังกล่าว ซึ่งวันเวลาจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง สำหรับขอนแก่นจัดระหว่างวันที่ 19-22 มกราคมนี้ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น" นายสุเทพ กล่าว