นักธุรกิจชั้นนำของประเทศอิตาลีและประเทศไทย ร่วมเจรจาทางการค้าใน การประชุมอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม (Italian-Thai Business Forum) ครั้งที่ 8 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง หอการค้าไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทย โดยปีนี้มีนักธุรกิจชั้นนำจากประเทศอิตาลีและประเทศไทยเข้าร่วมรวม 25 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทจากอิตาลี 12 บริษัท และบริษัทจากไทย 13 บริษัท ครอบคลุมหลากหลายภาคธุรกิจ เช่น พลังงาน, เครื่องจักรอุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมการบิน, การเงินและประกันภัย, อุตสาหกรรมยาง, อุตสาหกรรมยางรถจักรยาน-ยางรถมอเตอร์ไซค์, การก่อสร้าง, การเกษตร, อาหารและเครื่องดื่ม, ธุรกิจค้าปลีกและการบริการ และยังได้รับเกียรติจาก ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย และ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ในการเข้าร่วมประชุมอีกด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างบริษัทสมาชิกอิตาลีและไทย ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการค้ารวมกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
การประชุมอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม มีวัตถุประสงค์หลักในการสานสัมพันธ์ พร้อมต่อยอดความร่วมมือระหว่างสมาชิกกลุ่มธุรกิจในการร่วมกันขับเคลื่อนธุรกิจระหว่างภาคเอกชนไทยและอิตาลี ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของสหภาพยุโรป โดยในปีนี้ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ วาเลนตีโน วาเลนตีนี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในอิตาลี, กล่าวเปิดการประชุม ที่ได้เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอิตาลีซึ่งมีมายาวนาน โดยปี 2023 เป็นปีแห่งการครบรอบ 155 ปีของความสัมพันธ์ทวิภาคีของทั้งสองประเทศ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตได้มีแผนที่จะดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระชับความสัมพันธ์อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างชาว อิตาเลียนและชาวไทย นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียนซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทสำคัญ ทางด้าน การค้าและการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศระหว่างภาคเอกชนโดยในช่วงเดือน มค.- กย. 65 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นถึง 3.5 พันล้านยูโร หรือ เพิ่มขึ้น 25% จากช่วงเวลาเดียวกันจากปีก่อน โดยเฉพาะการหารือครั้งล่าสุดเกี่ยวกับประเด็น การเจรจาการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป มีทิศทางที่เป็นบวก ผ่านเจตจำนงค์ร่วมของทั้งสองฝ่ายที่จะ ลดกำแพงภาษีเพื่อส่งเสริมการค้าและยกระดับมาตรฐานทางการค้า การเปิดเสรีการบริการและการลงทุน การค้าดิจิทัล การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาจากสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ รวมถึงการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้รัฐบาลอิตาลีจะสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้การเจรจาทั้งสองฝ่ายให้เกิดข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่ครอบคลุมรอบด้าน และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมกันของทั้งสองประเทศ
นางสาวบุษบา จิราธิวัฒน์ ประธานร่วมอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า การประชุม Italian-Thai Business Forum จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 8 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างไทยและอิตาลีในด้านความร่วมมือทางธุรกิจและเป็นเวทีสำหรับผู้แทนภาคเอกชนและสมาคมการค้าของทั้งสองประเทศ ในการหารือเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดประเทศไทยหลังการผ่อนคลายมาตรการโควิด จะทำให้การค้าการลงทุนของทั้ง 2 ประเทศกลับมา สดใสยิ่งขึ้น และค่อยๆฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด ในนามของประธานร่วมการประชุมในครั้งนี้ ขอขอบคุณ คุณคาร์โล เปเซ็นติ (Mr. Carlo Pesenti) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิตาโมบิลิอาเร (Itamobiliare) ซึ่งเป็นประธานร่วมการประชุมฝั่งอิตาลี, สมาชิกฝั่งไทย-อิตาลี, ผู้แทนของธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ให้เกียรติเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ตลอดจน ฯพณฯ เปาโล ดิโอนิซี (H.E. Mr. Paolo Dionisi) เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย ที่ได้กล่าวให้ความสำคัญกับฟอรั่มครั้งนี้ซึ่งจะมีส่วนผลักดันเศรษฐกิจและความร่วมมือของทั้งสองประเทศ
ในช่วงแรกของการประชุม นายสรา ชื่นโชคสันต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในขณะที่ยังมีการชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยวและผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งนี้ ปัจจัยที่ควรได้รับการจับตามองในอนาคตได้แก่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นจากเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ การเปิดประเทศของจีน โอกาสในการเกิดไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ ตลอดจนความเป็นไปได้ที่จะเกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานเพิ่มเติมที่เป็นผลมาจากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปสู่ผู้บริโภค
นางสาวฐนิตา ศิริทรัพย์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสำนักงานฯ ในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ผ่านนโยบายส่งเสริมการลงทุนและการให้สิทธิพิเศษ ทั้งด้านภาษีและที่มิใช่ภาษี เช่น การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน นอกจากนี้ ยังให้ข้อมูลเรื่องยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน 5 ปี ระหว่าง 2566-2570 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลาง 5 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) บุคลากรที่มีศักยภาพสูง รวมถึงโลจิสติกส์และศูนย์กลางทางธุรกิจ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจที่มีความก้าวหน้าด้านนวัตกรรม เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและความสามารถในการปรับตัว และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
นายเกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด กล่าวถึงความสำเร็จจากการจัดงาน APEC ว่าประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดงานและต้อนรับผู้นำเขตศรษฐกิจทั้ง 21 เขต รวมทั้งผู้นำแขกรับเชิญพิเศษของรัฐบาลไทย โดยทั้งการประชุมคณะทำงานต่างๆ, การประชุมสภาที่ปรึกษาธุรกิจ APEC (ABAC) และการประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจ (APEC CEO Summit) ต่างประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติต่อประเทศไทย ด้วยแนวคิด BCG : Bio-Circular-Green Economic Model เพื่อให้เศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างยั่งยืน
นายเปาโล มากรี (Mr. Paolo Magri) Executive Vice President, Italian Institute for International Political Studies (ISPI) กล่าวว่าปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ ได้แก่ สงครามร้อนในยุโรประหว่างยูเครนและรัสเซีย และสงครามเย็นในเอเชียระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในปี 2565 สร้างความท้าทายอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดยในอนาคตสิ่งที่ยังคงต้องคอยจับตามองคือทิศทางของสงคราม ตลอดจนผลกระทบที่มีต่อการค้า ห่วงโซ่อุปทาน พลังงาน และสภาวะเงินเฟ้อ
นายคาร์โล อัลโตมอนเต (Mr. Carlo Altomonte) Associate Dean and Director of PNRR Lab, Bocconi University ได้กล่าวถึงการรับมือของสหภาพยุโรปต่อการระบาดของสถานการณ์โควิด 19 ผ่านโครงการความช่วยเหลือทางการเงินที่ให้แก่ประเทศสมาชิกในนาม กองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจสหภาพยุโรป (EU Recovery Fund) ซึ่งจัดสรรให้กับประเทศสมาชิกบนพื้นฐานของตัวเลข GDP และความรุนแรงของผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 ทั้งนี้ อิตาลีเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และมีความมุ่งมั่นที่จะใช้งบประมาณในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนเพื่อประโยชน์ของประชาชนรุ่นต่อไป ผ่านเป้าหมายด้านการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัล และนวัตกรรม วิวัฒนาการสีเขียวและการเปลี่ยนผ่านทางนิเวศวิทยา โครงสร้างพื้นฐานเพื่อความสามารถในการเคลื่อนย้ายและเดินทางที่ยั่งยืน การศึกษาและค้นคว้าวิจัย การสร้างสังคมสำหรับทุกคนและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตลอดจนความเข้มแข็งด้านสุขภาพ
สำหรับการประชุมในปีนี้ นักธุรกิจตัวแทนทั้งจากประเทศไทยและอิตาลีได้นำเสนอ ข้อมูลด้านนโยบายและแผนงานด้านธุรกิจ ในปัจจุบันแก่บริษัทสมาชิก อาทิ
Vittoria and Graphene Creations การร่วมลงทุนระหว่าง บริษัท วิตตอเรีย และ บริษัท กราฟีน ครีเอชั่นส์ ที่มุ่งพัฒนาและสร้างมูลค่าทางการค้าให้กับกราฟิน โดยการประยุกต์ใช้ กราฟีนจากในห้องทดลองไปสู่กระบวนการผลิตเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
CNH Industrial ได้ย้ายที่ตั้งสำนักงานใหญ่จากสวิตเซอร์แลนด์มายังประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2564 เพื่อบริหารกิจกรรมด้านการค้า สำหรับการดำเนินการของบริษัทในเอชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย จีน และอินเดีย โดยในอนาคต บริษัทมีแผนที่จะลงทุนเพิ่มเติมในเทคโนโลยีด้านการเก็บเกี่ยวพืชผลการเกษตร ทั้งนี้นอกเหนือจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ บริษัทยังให้ความสำคัญกับกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งครอบคลุมเรื่องการศึกษา สุขอนามัย ตลอดจนอาหารและสุขภาวะ
กลุ่มเซ็นทรัล ให้ข้อมูลเกี่ยวกับรีนาเชนเต ห้างสรรพสินค้าหรูอันดับหนึ่งในประเทศอิตาลี ที่ให้บริการทั้งหมด 9 สาขาใน 8 เมืองหลัก โดยในปี 2563-2565 ซึ่งเป็นช่วงสถานการณ์ โควิดได้มีการรีโนเวทห้างให้มีรูปโฉมใหม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เช่น สาขามิลาน, ตูริน, ฟลอเรนซ์ และโรม นอกจากนี้ยังอาศัยจุดแข็งทางด้าน omnichannel มาใช้กับธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ไฟล์สไตล์ยุคใหม่ของลูกค้าอีกด้วย
บริษัท เดอะ ฟู้ดเอ็ดดูเคชั่น แบงคอก จำกัด กล่าวว่า The Food School Bangkok เป็นแพลตฟอร์มโรงเรียนสอนทำอาหารแห่งแรกของประเทศไทย โดยร่วมกับโรงเรียนพันธมิตร 3 แห่ง ได้แก่ Alma จากประเทศอิตาลี วิทยาลัยดุสิตธานี (Dusit Thani College) ประเทศไทย และ Tsuji จากประเทศญี่ปุ่น วิสัยทัศน์ของเราคือการสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือสำหรับการศึกษาด้านการทำอาหารแบบปฏิรูป ที่สามารถเชื่อมโยงผู้ที่ชื่นชอบอาหาร ผู้ประกอบการที่มีความสร้างสรรค์ และมืออาชีพ เข้ากับแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรมการทำอาหาร ผ่านระบบนิเวศการศึกษาที่ไม่เหมือนใคร โดยองค์ประกอบของ The Food School Bangkok ประกอบไปด้วย Food: The Test Kitchen พื้นที่ซึ่งเปิดให้ผู้ประกอบการได้เข้ามาทดลองพัฒนาสูตรอาหาร นอกจากนั้นยังมี R&D Kitchens และ Food Halls ที่เป็นสองส่วนสำคัญในการสร้างนวัตกรรมอาหารใหม่ ๆ องค์ประกอบถัดมา คือ School: สถานที่เรียนศิลปะการทำอาหารและขนมอบคุณภาพระดับโลก ทั้งหลักสูตรประกาศนียบัตร หลักสูตรระยะสั้น และ หลักสูตรมาสเตอร์คลาส
บริษัท การบินไทย จำกัด ช่วงโควิดทำให้กิจกรรมการบินหยุดชะงัก แต่ปัจจุบันบริษัทได้กลับมาให้บริการและเพิ่มจำนวนเครื่องบินและเที่ยวบินเพื่อรองรับการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งจะเปิดเส้นทางบินสู่ประเทศอิตาลี ในวันที่ 1 กรกฎาคม โดยกำหนดเปิดจองเที่ยวบิน วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 66
บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ได้ให้ข้อมูลสิงห์ปาร์ค หรือไร่บุญรอด ซึ่งเป็นฟาร์มและแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของบุญรอดบริวเวอรี่ เป็นการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของกลุ่มบุญรอดและเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม มีวิสัยทัศน์คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวเชียงรายและสร้างผลประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชนใกล้เคียง โดยกลุ่มบุญรอดมีความพร้อมที่จะร่วมมือกับองค์กรด้านการเกษตรหรือซัพพลายเออร์จากอิตาลีในการร่วมกันพัฒนาสินค้าและพืชผลเมืองหนาวแก่เกษตรกรเพื่อเพิ่มมูลค่า
จากความสำเร็จของการประชุม "อิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม" ที่ได้ดำเนินมาถึงครั้งที่ 8 สะท้อนให้เห็นถึงการมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศในการพัฒนาการค้าทางธุรกิจร่วมกันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ โดยอิตาลีถือเป็นคู่ค้าอันดับ 24 ของประเทศไทย โดยจากข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระหว่างมกราคม-พฤศจิกายน 2565 ไทยและอิตาลีมีมูลค่าการค้ารวม 4,515.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 13.09% แบ่งเป็น มูลค่าการส่งออกประมาณ 1,887.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการนำเข้าประมาณ 2,627.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องทางการค้าของอิตาลีและไทย รวมถึงโอกาสเพิ่มเติมในการเติบโตอย่างยั่งยืน" นางสาวบุษบา จิราธิวัฒน์ ประธานร่วมอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม กล่าว
สำหรับการประชุมอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่มในครั้งนี้ คณะกรรมการฝ่ายอิตาลีที่ได้เข้าร่วม ได้แก่ อิตาโมบิลิอาเร (Italmobiliare), ซีไอเอส ซิซิลี (CIS Sicily & Unicitrus), คาวันญ่า กรุ๊ป เอเชีย (Cavagna Group Asia), ซีเอ็นเอช (CNH), ดาเนียลี (Danieli), ดูคาติ (Ducati), เฟอเรโร่ (Ferrero), อินเตซา ซานเปาโล (Intesa Sanpaolo), พีเรลรี (Pirelli), ไซเปม (SAIPEM), สถาบันประกันสินเชื่อเพื่อการค้าและการส่งออกของอิตาลี (SACE), และ วิตตอเรีย (Vittoria) ส่วนผู้เข้าร่วมจากประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มเซ็นทรัล, ธนาคารกรุงเทพ, โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่, อีโนเว รับเบอร์, เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์, สิงห์คอร์เปอเรชั่น, ไทยซัมมิท, เบทาโกร, ปตท, เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์, การบินไทย, ไทยวิวัฒน์ประกันภัย, แอลไลด์ เม็ททัลส์, กราฟีน ครีเอชั่นส์ โดยการประชุม อิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม ถือเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ของไทยต่อประเทศอิตาลี ในการร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน