นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่เขตลาดกระบังว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.และสำนักงานเขตลาดกระบัง ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานครได้ลงพื้นที่สอบสวนและควบคุมโรคภายใน 24 ชั่วโมง หลังทราบผลการตรวจยืนยันโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่เขตลาดกระบัง จากการลงพื้นที่ร่วมกันในวันที่ 17 ม.ค.66 ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 197 ตัว จับสุนัขที่สัมผัสโรคมากักดูอาการ 7 ตัว วันที่ 19 ม.ค.66 ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 22 ตัว และจับสุนัขที่สัมผัสโรคมากักดูอาการ 4 ตัว รวมทั้งวางแผนออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเชิงรุกให้ครอบคลุมพื้นที่ให้มากที่สุด ทั้งนี้ จากข้อมูล ณ วันที่ 19 ม.ค.66 พบสุนัขเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 4 ตัว เป็นสุนัขจากแขวงทับยาว 3 ตัว (ยืนยันผลตรวจจากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ วันที่ 16 และ 19 ม.ค.66) และแขวงลำปลาทิว 1 ตัว (ยืนยันผลตรวจจากสถานเสาวภา สภากาชาดไทย วันที่ 18 ม.ค.66)
สำหรับสถานการณ์สัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2565 พบสุนัขเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 2 ตัวในพื้นที่เขตหนองจอก และปี 2566 พบสุนัขเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 4 ตัวในพื้นที่เขตลาดกระบัง (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ม.ค.66) ที่ผ่านมา สนอ.ได้เฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ ออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเชิงรุกในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยพื้นที่ที่พบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในเขตหนองจอกได้ออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ฯ และประสานคณะสัตวแพทยศาสตร์ เทคโนโลยีมหานคร ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 1,355 ตัว (ต.ค. - ธ.ค.65) เขตลาดกระบังออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ฯ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 417 ตัว ทำหมัน 197 ตัว (ต.ค.65 - 19 ม.ค.66) อีกทั้งยังมีแผนออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น สนอ.ยังได้ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เช่น สำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนมินทราธิราช และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเชิงรุก รวมถึงประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า โดยให้นำสัตว์เลี้ยงมารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามกำหนดเป็นประจำทุกปี พร้อมแนะนำการเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบและไม่ปล่อยทิ้งสัตว์ในพื้นที่สาธารณะ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ผ่านแผ่นพับ ป้ายไวนิล เฟซบุ๊กกลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า เฟซบุ๊กศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และสำนักงานเขต 50 เขต ซึ่งเป็นเครือข่ายการสื่อสารการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงศูนย์สุขภาพชุมชนที่มีอาสาสมัครสาธารณสุขประชาสัมพันธ์เสียงตามสายในชุมชน เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างทั่วถึง เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสสุนัขและแมวที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนฯ ตลอดจนดำเนินโครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง โดยสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และสำนักงานเขต 50 เขต ออกหน่วยให้บริการฉีดวัคซีนฯ ในเดือนมีนาคมและกันยายนครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ