แม้เงินเฟ้อทำให้กำลังซื้อในฝั่งผู้บริโภคลดลง แต่การใช้จ่ายไอทีในองค์กรยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
การ์ทเนอร์ อิงค์ เผยคาดการณ์มูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีทั่วโลกในปี 2566 จะเติบโตเพิ่ม 2.4% จากปี 2565 คิดเป็นมูลค่ารวม 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจาก 5.1% เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ของไตรมาสที่แล้ว ขณะที่เงินเฟ้อยังตัดกำลังซื้อของผู้บริโภคและส่งผลให้การใช้จ่ายด้านอุปกรณ์ไอทีเติบโตลดลง แต่คาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายไอทีขององค์กรในภาพรวมจะยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
จอห์น-เดวิด เลิฟล็อค รองประธานฝ่ายวิจัย บริษัท การ์ทเนอร์ กล่าวว่า "ทั้งผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจกำลังเผชิญกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างมาก ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อกำลังส่งผลร้ายแรงต่อตลาดผู้บริโภค และมีส่วนทำให้ธุรกิจแบบ B2C จำนวนมากเลิกจ้างพนักงาน ขณะที่ภาคองค์กรจะมียอดการใช้จ่ายด้านไอทีเพิ่มขึ้นกับโครงการดิจิทัลต่าง ๆ แม้เศรษฐกิจโลกจะอยู่ในช่วงชะลอตัวก็ตาม"
"เศรษฐกิจที่ผันผวนได้เปลี่ยนบริบทการตัดสินใจของธุรกิจและยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้บริหารไอทีเกิดความลังเลมากขึ้นและตัดสินใจล่าช้า หรือต้องจัดลำดับความสำคัญของงานกันใหม่ ซึ่งเราได้เห็นธุรกิจแบบ B2B ได้ดำเนินการทำนองนี้ไปแล้ว โดยเฉพาะบริษัทที่เน้นลงทุนเกินตัวไปกับการสร้างการเติบโต อย่างไรก็ตามงบประมาณด้านไอทีไม่ใช่ปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และการใช้จ่ายด้านไอทียังไม่ได้อยู่ในช่วงภาวะถดถอย"
การ์ทเนอร์คาดว่าในปีนี้ (2566) กลุ่มซอฟต์แวร์ (Software) และบริการไอที (IT Services) จะเติบโตสูงสุดที่ 9.3% และ 5.5% ตามลำดับ โดยกลุ่มอุปกรณ์ไอที (Devices) คาดว่าจะเติบโตลดลงถึง 5.1% เนื่องจากทั้งผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจขยายรอบอายุการจัดซื้ออุปกรณ์ใหม่ ๆ ออกไป (ดูตารางที่ 1)
ตารางที่ 1. คาดการณ์มูลค่าการใช้จ่ายไอทีทั่วโลก (หน่วย: ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
มูลค่าการใช้จ่าย ปี 2565 | มูลค่าการเติบโต ปี 2565 (%) | มูลค่าการใช้จ่าย ปี 2566 | มูลค่าการเติบโต ปี 2566 (%) | |
Data Center Systems | 212,376 | 12.0 | 213,853 | 0.7 |
Software | 783,462 | 7.1 | 856,029 | 9.3 |
Devices | 722,181 | -10.6 | 685,633 | -5.1 |
IT Services | 1,244,746 | 3.0 | 1,312,588 | 5.5 |
Communications Services | 1,422,506 | -2.4 | 1,423,367 | 0.1 |
Overall IT | 4,385,270 | -0.2 | 4,491,471 | 2.4 |
ที่มา: การ์ทเนอร์ (มกราคม 2566)
"ช่วงการระบาดใหญ่ พนักงานและผู้บริโภคต่างเปลี่ยนอุปกรณ์เทคโนโลยีใหม่เพื่อให้ตอบโจทย์การทำงานและการศึกษาแบบรีโมทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแท็บเล็ต แล็ปท็อป และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งหากไม่มีเหตุผลอันจำเป็นในการอัปเกรด ผู้บริโภคจะยังใช้อุปกรณ์เดิมต่อไปเป็นระยะเวลานานขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดสินค้าและอุปกรณ์ไอที" เลิฟล็อค กล่าวเสริม
สำหรับยอดการใช้จ่ายด้านไอทีของประเทศไทยในปี 2566 คาดว่าจะสูงแตะ 934.9 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 4.2% จากปี 2565 โดยในกลุ่มซอฟต์แวร์และกลุ่มบริการด้านไอทีจะเติบโตระดับเลขสองหลัก เนื่องจากองค์กรต่าง ๆ เพิ่มการใช้จ่ายกับโครงการดิจิทัล (ดูตารางที่ 2)
ตารางที่ 2. คาดการณ์มูลค่าการใช้จ่ายไอทีในประเทศไทย (หน่วย: ล้านบาท)
มูลค่าการใช้จ่าย ปี 2565 | มูลค่าการเติบโต ปี 2565 (%) | มูลค่าการใช้จ่าย ปี 2566 | มูลค่าการเติบโต ปี 2566 (%) | |
Data Center Systems | 26,023 | 20.68 | 27,461 | 5.5 |
Software | 69,813 | 15.1 | 80,193 | 14.9 |
Devices | 205,386 | -4.1 | 195,687 | -4.7 |
IT Services | 98,974 | 9.9 | 109,306 | 10.4 |
Communications Services | 496,761 | 5.0 | 522,239 | 5.1 |
Overall IT | 896,958 | 4.4 | 934,886 | 4.2 |
ที่มา: การ์ทเนอร์ (มกราคม 2566)
"ภาวะเงินเฟ้อ การขาดแคลนทักษะ และปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ยังส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศไทย ทำให้ผู้บริหารด้านไอทีเกิดการลังเล ชะลอการตัดสินใจ และต้องจัดลำดับความสำคัญใหม่ แม้จะมีความท้าทายทางเศรษฐกิจเหล่านี้เกิดขึ้น แต่เรายังเห็นองค์กรท้องถิ่นมียอดการใช้จ่ายในโครงการดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น" เลิฟล็อค กล่าวถึงตลาดไทย
ตลาดแรงงานที่ตึงตัวส่งผลกระทบต่อยอดใช้จ่ายบริการทางด้านไอที
ตำแหน่งงานว่างมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกไตรมาส และในหลายประเทศมีอัตราตำแหน่งงานที่เปิดรับต่ออัตราการว่างงานต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยภาวะการแข่งขันแย่งชิงบุคลากรที่มีความสามารถจะเป็นสิ่งที่ท้าทายการทำงานของผู้บริหารไอที สำหรับการว่าจ้างพนักงานไอทีที่มีทักษะ และยังจำกัดการเติบโตของบริษัทที่พยายามขยายขนาดโดยปราศจากทีมงานที่มีทักษะที่จำเป็น
การใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ยังเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับตลาดบริการด้านไอที เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ต้องการดึงพนักงานที่มีทักษะด้านไอทีจากภายนอกเพื่องานวางระบบและสนับสนุนการทำงานในองค์กร ตัวอย่างเช่น มูลค่าใช้จ่ายด้านบริการให้คำปรึกษาคาดว่าจะสูงแตะระดับ 264.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 6.7% จากปี 2565
"ผู้บริหารไอทีกำลังประสบความล้มเหลวในด้านการแข่งขันชิงตัวพนักงานที่มีทักษะ โดยยอดการใช้จ่ายบริการทางด้านไอทีนั้นกำลังเติบโตเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าบริการภายในอื่น ๆ ขององค์กรในทุกอุตสาหกรรม พนักงานไอทีระดับหัวกะทิกำลังโยกย้ายจากการเป็นผู้บริหารไอทีขององค์กรไปสู่การเป็นผู้ให้บริการทางด้านเทคโนโลยี (Technology and Service Providers หรือ TSPs) พร้อมมีความต้องการค่าจ้างเพิ่มขึ้น ขณะที่ก็มองหาโอกาสในการทำงานและพัฒนาทักษะใหม่ ๆ" เลิฟล็อค กล่าวสรุป
การคาดการณ์แนวโน้มการใช้จ่ายด้านไอทีของการ์ทเนอร์ ใช้การวิเคราะห์อย่างเข้มข้นของยอดขายจากผู้ค้าและให้บริการหลายพันราย ครอบคลุมผลิตภัณฑ์และบริการด้านไอทีทั้งหมด การ์ทเนอร์ใช้เทคนิคการวิจัยปฐมภูมิ เสริมด้วยแหล่งข้อมูลทุติยภูมิที่เชื่อถือได้ในการสร้างฐานข้อมูลที่ครอบคลุมตามขนาดข้อมูลของตลาดสำหรับเป็นฐานการคาดการณ์
การคาดการณ์มูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีของการ์ทเนอร์รายไตรมาสนำเสนอมุมมองที่แตกต่างครอบคลุมทั้งกลุ่มฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ บริการทางด้านไอทีและกลุ่มการสื่อสารโทรคมนาคม โดยรายงานเหล่านี้ช่วยให้องค์กรธุรกิจตระหนักถึงโอกาสและความท้าทายในตลาด โดยลูกค้าของการ์ทเนอร์สามารถคลิกอ่านรายงานการคาดการณ์มูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีฉบับล่าสุดได้ที่ "Gartner Market Databook, 4Q22 Update"
เกี่ยวกับ Gartner for High Tech
Gartner for High Tech นำเสนอแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดตามขอบเขตความรับผิดชอบให้แก่ผู้นำเทคโนโลยีและทีมงานไอที รวมถึงข้อมูลเชิงลึกในอุตสาหกรรม มุมมองกลยุทธ์แนวโน้มเกิดใหม่และการเปลี่ยนแปลงในตลาด เพื่อให้สามารถจัดลำดับความสำคัญของภารกิจและสร้างความสำเร็จให้แก่องค์กรในอนาคต อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.gartner.com/en/industries/high-tech
ติดตามข่าวสารและข้อมูลอัปเดตจาก Gartner for High Tech ได้ทาง Twitter และ LinkedIn หรือเยี่ยมชม IT Newsroom สำหรับข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติม
เกี่ยวกับการ์ทเนอร์
บริษัท การ์ทเนอร์ (Gartner, Inc.) (NYSE: IT) คือบริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาชั้นนำของโลก มอบข้อมูลเชิงลึก คำแนะนำ และเครื่องมือต่าง ๆ แก่ผู้บริหารองค์กรธุรกิจ เพื่อรองรับการดำเนินภารกิจสำคัญที่มีอยู่ในปัจจุบันและสร้างองค์กรให้ประสบความสำเร็จในอนาคต ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางของการ์ทเนอร์ในการช่วยให้ผู้บริหารตัดสินใจอย่างถูกต้องเพื่อขับเคลื่อนอนาคตของธุรกิจได้ที่ gartner.com