เนคเทค ค้นเด็ก ไฮ-เทคโนโลยี สร้างผลงานจริง ใช้จริง ตอบโจทย์ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ

ข่าวเทคโนโลยี Friday April 11, 2008 09:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--เนคเทค
หากพูดถึงบรรดาผลิตภัณฑ์ไฮ-เทคโนโลยีทั้งหลายแล้ว หลายคนคงนึกถึงแค่เครื่องใช้ไฟฟ้าอำนวยความสะดวกที่ใกล้กับชีวิตประจำวันของตนเอง แต่ถ้าหากเรามองในมุมกว้างแล้วละก็จะพบว่ามีผลิตภัณฑ์ ไฮ-เทคโนโลยีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่อยู่แวดล้อมตัวเรา และมันก็มีคุณค่ามากกว่าการเพิ่มความสะดวกของเราเพราะมันยังช่วยให้เกิดการบริหารจัดการธุรกิจ อุตสาหกรรม ให้มีประสิทธิภาพและประหยัดทรัพยากรโลก
เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว โครงการแข่งขันสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยระบบสมองกลฝังตัวและ อาร์เอฟไอดีแห่งประเทศไทย (Embedded System and RFID Innovation Camp and Contest 2008) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค/สวทช.) จึงเกิดขึ้น โครงการนี้ต้องการพัฒนาและค้นหาเด็กด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอุตสาหกรรมให้สามารถนำไปผลิตใช้จริงและตอบสนองความต้องการผู้บริโภค ผู้ประกอบการได้อย่างแท้จริง
ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค/สวทช.) กล่าวว่า “เนคเทคได้เน้นบูรณาการเรียนรู้ของนักศึกษาในด้านวิศวกรรมศาสตร์ การบริหารจัดการด้านการตลาดและการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการนอกจากจะได้รับความรู้ แนวคิดใหม่ๆ ได้รับประสบการณ์การทำงานเป็นทีม มองเห็นช่องทางการเติบโตของวิชาชีพในตลาดแรงงานแล้ว ยังได้รับโอกาสในการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรหรือสิทธิบัตรจากผลิตภัณฑ์ที่คิดขึ้นมาอีกด้วย”
โจทย์ในการแข่งขันครั้งนี้ประมวลจากหลากหลายปัจจัย ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุที่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกเครื่องปรับอากาศอันดับ 2 ของโลก เหล่านี้นำไปสู่การกำหนด 3 หัวข้อในการแข่งขันซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องปรับอากาศ ระบบ Refrigeration Heating Ventilation and Air Conditioning (RHVAC) 2.ผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทางการเกษตร (Agritronics) ที่เกี่ยวข้องกับการดูแล วัดคุมในการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ การปศุสัตว์ และ 3. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี RFID ในกระบวนการโลจิสติกส์และ โซ่อุปทาน
ขณะนี้ การแข่งขันได้ดำเนินมาถึงรอบคัดเลือกข้อเสนอโครงการแล้ว ซึ่งมีผู้ที่ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 109 คน จาก 24 ทีม ทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น สาขาการตลาด 13 คน สาขาวิศวกรรมศาสตร์ 80 คน และสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ 16 คน รอบนี้นับเป็นช่วงเวลาที่มีค่ายิ่งเพราะทุกคนจะได้ร่วมกิจกรรมเข้าค่าย work shop ณ ศูนย์ฝึกอบรมบางปะกง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นระยะเวลา 8 วัน เพื่อเรียนรู้ทักษะวิชาการในด้านการแข่งขัน ทั้งยังเก็บได้เกี่ยวความรู้และประสบการณ์ จากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ โดยแต่ละทีมที่ผ่านเข้ารอบมีความโดดเด่นและความคิดสรรค์ในการนำเสนอโครงการที่นาสนใจแตกต่างกันออกไป ตามแต่ละประเภท อาทิ ประเภท ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องปรับอากาศฯ อย่างทีมจากมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ที่ จิรายุ ศรีวิชัย หัวหน้าทีม เล่าว่า จุดเริ่มต้นเกิดจากต้องการให้ ฮีทปั้ม (Heat Pump) ที่มีใช้กันอยู่ในอุตสาหกรรม และธุรกิจโรงแรม เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดการสูญเสียงพลังงาน โดยได้ออกแบบให้ ฮีทปั้ม สามารถตั้งค่าควบคุมการทำงานได้โดยอัตโนมัติ(ไม่ต้องใช้คนคอยคุม) และมีระบบบันทึกข้อมูลเพื่อใช้ในการตรวจสอบย้อนหลัง
ประเภท ผลิตภัณฑ์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทางการเกษตรฯ อนิรุทธิ์ ทองกลิ่น จากทีม ผมเป็นจรเข้ทำไม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล่าว่าผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มตัวเองคิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยลดการตายของจระเข้ในบ่ออนุบาลที่ขณะนี้มีมากถึง ร้อยละ 30 โดยจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวัดค่า ควบคุม จัดการสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้กับจระเข้ในบ่ออนุบาลของฟาร์มต่างๆ อนิรุทธิ์ บอกอย่างมั่นใจว่า “ผลงานของกลุ่มผมยังมีโอกาสทางการตลาดอีกมาก เพราะเมืองไทยมีผู้ประกอบการฟาร์มจระเข้เยอะ และจระเข้ในเมืองไทยก็เป็นสายพันธุ์ที่มีเกล็ดที่สวยที่สุดในโลกอีกด้วย”
และประเภท การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี RFID ในกระบวนการ โลจิสติกส์และโซ่อุปทาน จากทีมอินโนโวล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณัฐรัฐ ชื่นสุข หัวหน้าทีม เล่าว่า แนวคิดการเข้าร่วมแข่งขันเกิดจากความคิดที่ว่าทำอย่างไรผลิตภัณฑ์ และอุตสาหกรรมขนาดกลางจะเกิดกระบวนการขนส่งระหว่างการผลิต ส่งออกการกระจายสินค้า ที่มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพราะถึงแม้ขณะนี้จะมีระบบโลจิสติกส์อยู่ในตลาดก็ตาม แต่เป็นระบบที่ต้องนำเข้าจากบริษัทต่างประเทศ ทำให้เมืองไทยสูญเสียเงินออกนอกประเทศ
อย่างไรก็ตาม หลังเข้าค่าย work shop ในครั้งนี้แล้ว เนคเทคจะคัดเลือกผู้เข้าร่วมแข่งขันเหลือ 12 ทีม เพื่อรับทุนทีมละ 50,000 บาท พร้อมสนับสนุนการจัดทำต้นแบบมูลค่า 150,000 บาท เพื่อนำไปพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการเป็นระยะเวลาประมาณ 4 เดือน ก่อนจะประกาศผลทีมชนะเลิศพร้อมจัดแสดงผลงานในเดือนสิงหาคมนี้
คงต้องอดใจรอชมผลงานของเด็กๆ ที่จะขนกันมาให้ชมในเดือนสิงหาคมนี้ และไม่ว่าทีมใดจะชนะหรือแพ้ สิ่งที่สำคัญที่ได้มากกว่าแข่งขันก็คือ ประสบการณ์ในการได้คิด ได้ทำจริง เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ต่อไปเขาเหล่านั้นก็ต้องออกมาสู่โลกกว้างอย่างแน่แท้
รายละเอียดเพิ่มเติม :
เบญจรัตน์ สินสงวน (จอย) โทร.089-448-9582

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ