อลิอันซ์ โกลบอล อินเวสเตอร์ เผยการปฏิรูประบบเงินบำนาญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกส่งผลให้สินทรัพย์เติบโตอย่างมาก

ข่าวทั่วไป Friday April 11, 2008 10:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์
อลิอันซ์ โกลบอล อินเวสเตอร์ เผยการปฏิรูประบบเงินบำนาญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกส่งผลให้สินทรัพย์เติบโตอย่างมาก ชี้ความสำเร็จของกองทุนสำรองซึ่งมีการกำหนดเงินสมทบ (Defined Contribution) จำเป็นต่อการแก้ปัญหาด้านประชากร
อลิอันซ์ โกลบอล อินเวสเตอร์ (Allianz Global Investors - AGI) หนึ่งในบริษัทจัดการสินทรัพย์รายใหญ่ที่สุดในโลก จัดพิมพ์เผยแพร่รายงาน Asia-Pacific Pensions 2007: Systems and Markets ที่ได้จากการศึกษาวิจัยตลาดบริหารกองทุนบำนาญสำหรับผู้เกษียณอายุ ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศเศรษฐกิจกำลังเติบโตรวม 9 ประเทศ มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
อัตราส่วนพึ่งพิงวัยชรา (Old-age Dependency Ratio) ในตลาดส่วนใหญ่ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปี ค.ศ. 2050 เนื่องจากอัตราการมีบุตรลดลง ขณะที่คนมีอายุยืนขึ้น ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลของหลายประเทศเริ่มใช้กองทุนสำรองซึ่งมีการกำหนดเงินสมทบ (Defined Contribution: DC) แล้ว และอีกหลายประเทศกำลังจะเริ่มใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ โดยแผนดังกล่าวในหลายกรณีถูกกำหนดให้เป็นการออมภาคบังคับ
สินทรัพย์ที่เกิดจากกองทุนบำนาญ (Pension Assets) ของทั้งภูมิภาคจะมีอัตราการเติบโตรวมโดยเฉลี่ยต่อปี (Compound Annual Growth Rate: CAGR) เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 ทำให้มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการเพิ่มขึ้นเป็น 3,116 พันล้านยูโร หรือ 157,789.56 พันล้านบาท ภายในปี 2015 จาก 1,407.5 พันล้านยูโร หรือ 71,273.68 พันล้านบาท ในปี 2006 และในตลาดเกิดใหม่จะมีการเติบโตสูงสุดถึงร้อยละ 17.2
จากการศึกษาในครั้งนี้ พบว่าภายในปี 2015 ประเทศออสเตรเลียจะมีอัตราการเติบโตของสินทรัพย์ที่เกิดจากกองทุนบำนาญเพิ่มขึ้นสูงสุดจาก 606.7 พันล้านยูโร หรือ 30,722.37 พันล้านบาท เป็น 1,466.4 พันล้านยูโร หรือ 74, 256.29 พันล้านบาท ส่วนไต้หวันจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 28.9 จีนเติบโตร้อยละ 23.1 และเกาหลีใต้เติบโตที่ร้อยละ 22.9 ตามลำดับ
แนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็วของกองทุนสำรองซึ่งมีการกำหนดเงินสมทบ (DC) ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับสถาบันการเงินทั้งในและจากต่างประเทศที่มีเครือข่ายในภูมิภาคนี้อย่างมาก ส่งผลให้หน่วยงานจากภายนอกในส่วนของการบริหารสินทรัพย์ที่เกิดจากกองทุนบำนาญมีอัตราการเติบโตสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นด้วยว่าผู้จัดการกองทุนมืออาชีพจะต้องมีความละเอียดรอบคอบในการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับบรรดาผู้ออมชาวเอเชียในอนาคต
ด้วยอัตราการเติบโตที่เร็วมากของแผนกำหนดเงินสมทบสำหรับผู้เกษียณอายุทั่วภูมิภาค ทำให้นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากเข้ามาลงทุนในตลาดเงินโดยตรงและมีหลายรายที่เป็นการเข้ามาลงทุนเป็นครั้งแรก จึงเป็นความรับผิดชอบของภาครัฐและสถาบันการเงินในการปรับปรุงด้านธรรมาภิบาลและการให้ความรู้ด้านการเงิน เพื่อที่นักลงทุนรายย่อยจะสามารถตัดสินใจลงทุนภายในกรอบกติกาที่ปลอดภัย และนับจากนี้ต่อไปกองทุนที่มีอยู่แล้ว (Default Fund) และ กองทุนครอบคลุมตลอดชีวิต (Life Cycle Fund) จะมีบทบาทสำคัญในแผนกำหนดเงินสมทบสำหรับนักลงทุนรายย่อยที่ไม่สามารถตัดสินใจลงทุนได้ด้วยตัวเอง
ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไม่ได้แตกต่างจากภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกที่จำนวนประชากรผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรผู้สูงอายุเร็วที่สุดในโลก ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนประชากรวัยทำงานของญี่ปุ่นที่มีอายุระหว่าง 15-64 ปี มีแนวโน้มลดลงประมาณร้อยละ 15 จากปี 2005 ถึง 2025 ส่วนฮ่องกงมีอัตราการมีบุตรต่ำสุดในภูมิภาค ขณะที่ประเทศจีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกและมีมูลค่าการค้าสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก กำลังเผชิญกับสัดส่วนประชากรวัยสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียงหนึ่ง ชั่วอายุคน
นอกจากอัตราการมีบุตร ที่ลดลงและประชากรมีอายุยืนขึ้นแล้ว วิถีชีวิตของผู้คนในตลาดที่กำลังเติบโตอย่างประเทศจีนและอินเดียกำลังเปลี่ยนไปเป็นวิถีชีวิตแบบชาวเมืองมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม พร้อมกับการลดบทบาทของสถาบันครอบครัว ซึ่งในอดีตเคยเป็นสถาบันที่ให้ความมั่นคงทางการเงินแก่ผู้สูงอายุ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลในประเทศดังกล่าวจึงได้หาหนทางในการให้ความคุ้มครองผู้เกษียณอายุอย่างเป็นระบบ ตลอดจนขยายขอบเขตของกองทุนบำนาญโดยผ่านแผนปฏิรูปต่างๆ ของภาครัฐ รวมถึงแผนใหม่ๆ ของภาคเอกชน
การเติบโตของแผนกำหนดเงินสมทบมีความสำคัญทั้งต่อตลาดที่กำลังเติบโตและตลาดที่กำลังพัฒนา
Asia-Pacific Pensions 2007: Systems and Markets ได้ทำการวิเคราะห์แนวโน้มตลาดบริหารกองทุนบำนาญใน 9 ประเทศ พบว่า กระบวนการปฏิรูปมีความแตกต่างกันมาก ระหว่างตลาดที่มีระบบเงินบำนาญที่พัฒนาแล้วซึ่งมีความมั่งคั่งกว่า อย่างในประเทศออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ เปรียบเทียบกับตลาดในประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศจีน อินเดีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน และประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่เห็นได้ชัดในทั่วภูมิภาค คือ การเติบโตของแผนกำหนดเงินสมทบ โดยตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ฮ่องกง อินเดีย และไต้หวัน เริ่มใช้แผนกำหนดเงินสมทบในลักษณะที่เป็นการออมภาคบังคับกับกลุ่มเป้าหมายหลากหลาย ส่วนประเทศไทยจะเริ่มใช้แผนการออมดังกล่าว ในปี 2008 ในขณะที่จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เริ่มใช้แผนกำหนดเงินสมทบแบบสมัครใจไปแล้ว ส่วนออสเตรเลียและสิงคโปร์ใช้แผนกำหนดเงินสมทบในลักษณะที่เป็นการออมภาคบังคับมานานแล้ว
โจคิม ฟาเบอร์ กรรมการบอร์ดบริหารของอลิอันซ์ เอสอี (Allianz SE) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอลิอันซ์ โกลบอล อินเวสเตอร์ (AGI) เปิดเผยว่า “ในภูมิภาคนี้ ยังมีโอกาสอีกมากมายสำหรับสถาบันการเงินที่สามารถนำเสนอบริการที่หลากหลาย เช่น บริการด้านการประกันชีวิตและประกันสุขภาพ ด้านบริหารสินทรัพย์ ด้านการเงินการธนาคาร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินเหล่านั้นต้องไม่ลืมว่าโอกาสย่อมมาพร้อมกับความรับผิดชอบเสมอ ซึ่งรัฐบาลและนายจ้างจะต้องรู้จักเลือกผู้ให้บริการอย่างชาญฉลาด ปัจจัยสำคัญที่จะต้องพิจารณา ได้แก่ ความแข็งแกร่งทางด้านการเงินของสถาบันนั้นๆ ซึ่งสามารถดูได้จากอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) รวมถึงความสามารถในการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการของรัฐ ในขณะที่ความเชี่ยวชาญระดับโลกก็มีความจำเป็น หากว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องการจะพัฒนากลยุทธ์การบริหารระบบเงินบำนาญให้เกิดประสิทธิภาพในทุกระดับ ตั้งแต่แผนการจัดการกองทุนระดับชาติ ลงไปจนถึงแผนการจัดการกองทุนระดับบริษัทและรายบุคคล”
“สถาบันการเงินจำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญในการให้การสนับสนุนโครงการของรัฐบาลเพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้เห็นถึงความจำเป็นในการออมเงินเพื่อชีวิตหลังเกษียณให้มากขึ้น และพัฒนาความรู้ด้านการเงิน เพื่อให้นักลงทุนรายย่อยสามารถตัดสินใจได้ด้วยข้อมูลที่มากพอ” โจคิม ฟาเบอร์ กล่าวย้ำ
“การเปลี่ยนมาใช้แผนกำหนดเงินสมทบกลายเป็นภาระอันหนักอึ้งของนักลงทุนรายย่อยที่เข้ามาลงทุนโดยตรงในตลาดการเงิน ผู้ซึ่งต้องพึ่งพาสถาบันการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายด้านความมั่นคงทางการเงินในระหว่างทำงานไปจนถึงวัยเกษียณหรือเข้าสู่วัยสูงอายุ”
“ทางเลือกในการส่งเงินสมทบที่เหมาะกับแต่ละบุคคลกำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในออสเตรเลีย ฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ กองทุนประเภทที่มีอยู่แล้ว และ กองทุนครอบคลุมตลอดชีวิต มีความจำเป็นต่อนักลงทุนรายย่อยที่ไม่สามารถตัดสินใจลงทุนด้วยตัวเองได้” โจคิม กล่าว
ออสเตรเลียและฮ่องกงติดอันดับผู้นำด้านระบบเงินบำนาญ
รายงานฉบับดังกล่าวยังได้แสดงผลการศึกษาของ AGI ว่าด้วยการปฏิรูประบบเบี้ยบำนาญ หรือ Pension Reform Pressure Gauge ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของระบบเบี้ยบำนาญในการรับมือกับภาวะการเปลี่ยนแปลงของประชากรทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย
บริจิต มิคซา หัวหน้าแผนกบำนาญสากล (International Pensions) ของ AGI AG เปิดเผยว่า “ออสเตรเลียและฮ่องกงเป็นประเทศที่มีการปฏิรูประบบเบี้ยบำนาญแล้ว และสามารถจัดการกับปัญหาประชากรได้ดีที่สุด และเมื่อมองภาพรวมแล้ว อินเดียถือว่าอยู่ภายใต้ความกดดันที่สุดในการที่จะต้องปฏิรูประบบดังกล่าว ในขณะที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ปฏิรูปไปแล้ว แต่ทว่ายังต้องแสวงหาหนทาง สู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนในด้านการจัดการกองทุนเพื่อรองรับประชากรผู้สูงอายุต่อไป”
การจัดตั้งเงินทุนสำรองบำเหน็จบำนาญ (Pension Reserve) ในจีน รวมถึงระบบที่ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากรัฐ หรือกองทุนที่สนับสนุนโดยรัฐส่วนหนึ่ง ในญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และไทย อาจสามารถรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงด้านประชากรได้
บริจิต กล่าวว่า “สินทรัพย์โดยรวมในกองทุนเหล่านี้มีมูลค่าสูงถึง 858 พันล้านยูโร หรือ 43,447.83 พันล้านบาท ในปี 2006 โดยมีกองทุนจัดการเงินลงทุนเพื่อวัยเกษียณของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งถือได้ว่าเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารมูลค่า 560 พันล้านยูโร หรือ 28,357.56 พันล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.1 ล้านล้านยูโร หรือ 55.70 ล้านล้านบาท ในปี 2008 ส่วนกองทุนประกันสังคมของจีนก็อยู่ในระยะของการรวบรวมและมีแนวโน้มที่จะมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 97 พันล้านยูโร หรือ 4,911.93 พันล้านบาทภายใน 2 ทศวรรษข้างหน้า โดยเพิ่มจาก 27.5 พันล้านยูโร หรือ 1,392.55 พันล้านบาท ในปี 2006”
เธอกล่าวย้ำว่า “หากกองทุนสำรองเหล่านี้ต้องการประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องอาศัยการบริหารสินทรัพย์ของมืออาชีพ ซึ่งทำให้มีแนวโน้มว่าจะเกิดการจ้างบริการจากภายนอกขึ้นในจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันเกิดขึ้น รัฐบาลของประเทศต่างๆ มีแนวโน้มจะเข้าลงทุนในตลาดทุน โดยว่าจ้างผู้จัดการกองทุนกันมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่ต้องการ”
ใช้ความเชี่ยวชาญระดับโลกและท้องถิ่นเพื่อตอบสนองความต้องการของภูมิภาค
“หลายพื้นที่ในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงด้านประชากร กำลังอยู่ระหว่างการปฏิรูปในระยะต่างๆ กัน” ดักลาส ยู ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ เอจีไอ ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก กล่าวและว่า “ในแง่ของสถานการณ์ด้านประชากร และการพัฒนาระบบเบี้ยบำนาญ ออสเตรเลียและฮ่องกงได้ทำการปฏิรูปไปแล้ว และสามารถจัดการกับปัญหาด้านประชากรได้ดี”
เขากล่าวต่อว่า “ตลาดอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ยังมีโอกาสเติบโตอีกมากสำหรับการให้บริการบริหารกองทุนบำนาญให้เพียงพอต่อประชากรผู้สูงอายุ ในขณะที่การบริหารสินทรัพย์อย่างมืออาชีพจะสามารถต่อยอดและขยายทางเลือกให้ครอบคลุมความต้องการของตลาดมากขึ้น การผสมผสานระหว่างประสบการณ์ระดับโลกและความเชี่ยวชาญในระดับภูมิภาคจะเป็นทางออกในการแก้ปัญหา ที่ท้าทายในภูมิภาคนี้ได้”
หมายเหตุ : 1 ยูโร เท่ากับ 50.6385
(อัตราแลกเปลี่ยนเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2551)
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
บมจ. อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิต
สายสมร เลิศคชลักษณ์
โทรศัพท์ 0-2305-7408 (สายตรง) บจ. ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์
รัชฎา ปสันตา / พิมพ์ไพลิน ธีระลีลา
โทรศัพท์ 0-2610-2382

แท็ก เอเชีย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ