กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง เช่น บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) บริษัทพนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด บริษัท อีซียู ช็อป 1 จำกัด และบริษัท อีวี คาร์ (ไทยแลนด์) จำกัด และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เป็นต้น สถาบันเทคโนโลยีไทยญี่ปุ่น ศูนย์เชี่ยวชาญยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง อีอีซี และศูนย์วิจัยและพัฒนา มูลนิธิสถาบัน พลังงานทางเลือก แห่งประเทศไทย เป็นต้น ร่วมกับ คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง และระบบกักเก็บพลังงาน และคณะอนุกรรมาธิการการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เรื่องยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง โดรน และชลยานไร้คนขับเพื่อการพัฒนา และคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร จัดนิทรรศการแสดงยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง และจัดการสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็น ครั้งที่ 2 เรื่อง "ข้อเสนอแนวทางการสนับสนุนการสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงของประเทศไทย" เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ณ ห้องประชุมสัมมนา บี 1-2 ชั้นบี 1 อาคารรัฐสภา โดยได้รับเกียรติจากนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเปิดงาน นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ กล่าวรายงาน และนายธนาคาร วงษ์ดีไทย เลขานุการและอนุกรรมาธิการ เป็นผู้นำเสนอประเด็นสาระสำคัญของ (ร่าง) ข้อเสนอแนวทางการสนับสนุนการสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ซึ่งการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้มีผู้ให้ความสนใจจากภาครัฐ ภาคการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย วิทยาลัยและอาชีวศึกษา และหน่วยงานภาคเอกชน เข้าร่วมกว่า 145 หน่วยงาน เป็นจำนวนกว่า 250 คน โดยมีการจัดนิทรรศการแสดงชิ้นส่วนสำคัญ และยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเชิงพาณิชย์ที่พัฒนาโดยคนไทย เช่น รถจักรยานยนต์ รถตุ๊กตุ๊ก รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถแท็กซี่ รถเอสยูวี รถกระบะ รถตู้ รถคลาสสิค รถโฟล์คลิฟท์ และรถบรรทุก 10 ล้อ รวมกว่า 20 คัน
นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ได้กล่าวเปิดการจัดนิทรรศการแสดงยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง โดยชี้ให้เห็นถึงรัฐบาลมีการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงอย่างจริงจังในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยจุดมุ่งหมายสำคัญของงานสัมมนาในครั้งนี้ คือการเปิดรับฟังความเห็น รับฟังปัญหาหรืออุปสรรคของผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง รวมทั้งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนและแก้ไข แม้ว่าปัจจุบันผู้ประกอบการไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้นกว่าเดิมมากแต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนในการยกระดับความสามารถในอีกหลายมิติ และผ่านนโยบายและมาตรการต่างๆ การสัมมนาในครั้งนี้จึงถือเป็นการร่วมระดมความเห็นเพื่อให้การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงสามารถขยายผลไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทั้งผลิตเพื่อใช้งานในประเทศและส่งออกต่างประเทศได้ในอนาคต
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวเปิดงานด้วยการแสดงความยินดีและสนับสนุนคณะกรรมาธิการที่ได้จัดงานสัมมนานี้ขึ้น เนื่องจากเป็นประเด็นสำคัญที่จะนำไปสู่แนวทางสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับการดำเนินการของรัฐสภาที่มุ่งสู่การเป็นรัฐสภาสีเขียว หรือ Green Parliament ถึงแม้ว่าเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า อาจจะถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนทั่วไป แต่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากถ้าได้ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาถ่ายทอดแนวคิดให้ทุกคนได้รับฟัง โดยหลังจากกล่าวเปิดงานแล้ว นายชวน ยังได้เข้าเยี่ยมชมยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงและได้พูดคุยสอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคกับผู้ประกอบการตัวจริงที่มาจากทั้งในกรุงเทพมหานคร และมาต่างจังหวัด เช่น ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง นครราชสีมา ขอนแก่น และเชียงใหม่ เป็นต้น ที่ได้นำผลงานมาร่วมจัดแสดงที่รัฐสภา
นายธนาคาร วงษ์ดีไทย ได้นำเสนอถึงปัญหาอุปสรรคและความท้าทายสำคัญที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงจะเข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหา แบ่งออกเป็น 9 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) วิกฤติค่าพลังงานเชื้อเพลิงราคาสูง หากมีการดัดแปลงรถยนต์เป็นรถไฟฟ้า จะช่วยประหยัดค่าน้ำมันได้ถึง 5 เท่า และประหยัดค่าซ่อมรถ 15 เท่าต่อปี 2) หนี้ครัวเรือน 90% ของจีดีพี รวมถึงกลุ่มประชาชนรากหญ้า แบกภาระซื้อรถไฟฟ้าป้ายแดงไม่ไหว 3) การที่ประเทศไทยตั้งเป้าหมายในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวน 111 ล้านตัน ให้ได้ภายใน 8 ปี โดยมาจากภาคขนส่ง 41 ล้านตัน คิดเป็นรถไฟฟ้ารวม 12 ล้านคัน 4) ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ 80% มาจากภาคขนส่ง รถกระบะดีเซลในกรุงเทพฯ 250,000 คัน ที่รถใหม่แก้ปัญหานี้ไม่ได้ 5) ประเทศไทยมีผู้ประกอบการ Tier 3 จำนวนกว่า 2,000 บริษัทที่ไม่มีเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้า ขาดเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่านเสี่ยงต่อการปิดตัวลง 6) ประเทศไทยมีอู่ 20,000 อู่ที่จดทะเบียน 50,000 อู่ที่ไม่ได้จดทะเบียน ซึ่งอู่เหล่านี้ซ่อมรถไฟฟ้าไม่ได้ ถ้าเปลี่ยนผ่านฉับพลันจะทำให้พวกเขาตกงาน แต่ถ้าเปลี่ยนส่วนประกอบให้เป็นรถไฟฟ้าบางชิ้นอู่จะสามารถซ่อมและเรียนรู้ได้ 7) บุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย 95% มีทักษะด้านเครื่องกล มีเพียง 5% ที่มีทักษะด้านไฟฟ้า รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์ไม่มีการฝึกอบรมให้กับผู้ประกอบการ ยังต้องการเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่าน 8) ความต้องการอะไหล่ที่มีราคาไม่แพงในตลาดหลังการขาย (After market) ของรถไฟฟ้าที่มีอายุ 7 ปี ขึ้นไปมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไทยสามารถทำชิ้นส่วนเหล่านี้ได้ 9) ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงในรูปแบบรถกระบะ ถ้าได้รับการสนับสนุนจะมีราคาเหลือ 300,000 บาทต่อคัน รถกระบะทั่วประเทศมี 7 ล้านคัน อายุ 10 ปีขึ้นไป 4 ล้านคัน ถ้าดึงส่วนนี้มาดัดแปลงแค่ 10% คือ 4 แสนคัน จะทำให้มีเงินหมุนในประเทศกว่า 120,000 ล้านบาท ไปที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนและอู่ในประเทศ
จาก (ร่าง) ผลการศึกษายานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงของกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ สามารถแบ่งข้อเสนอแนะมาตรการสนับสนุนออกเป็น 2 ส่วน คือ มาตรการทางการเงินและมาตรการที่ไม่ใช่การเงิน และให้การสนับสนุนใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ทำการดัดแปลง กลุ่มผู้ใช้งาน และกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีรายละเอียดดังนี้
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้ให้ความเห็นที่หลากหลายและร่วมแลกเปลี่ยนถึงปัญหาอุปสรรค รวมถึงสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนเพิ่มเติม สามารถจัดกลุ่มออกเป็น 7 กลุ่ม และเรียงลำดับความสำคัญ ได้ดังนี้