บมจ.ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ (LEO) เปิดแผนยุทธศาสตร์ปี 66 - "365 Degree Collaboration" ก้าวสู่ความเป็นบริษัท Growth Stock ของธุรกิจผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน ตั้งเป้า Gross Profit Margin เติบโต 15-20% จากปีก่อน ฟากบิ๊กบอส "เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์" ระบุ LEO พร้อมลุยขยายธุรกิจทุกในทุกมิติ ทั้งกลุ่ม Logistics ที่เป็น Freight และ Non- Freight และ Non Logistics เร่งเจรจาปิดดีล JV และ M&A ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงผลักดันธุรกิจการขนส่งทางรถไฟและการเป็นตัวแทนจัดหาสินค้าไปยังประเทศจีนให้เติบโตขึ้นเป็นหนึ่งในรายได้หลักของบริษัทฯ ดันการเติบโตก้าวกระโดด เตรียมจัดตั้งบริษัทขนส่งในรูปแบบ Green Logistics เพื่อสร้าง Value Added และ Value Chain ให้กับการบริการโลจิสติกส์ของ LEO มากขึ้น ปักหมุดใน 3 ปีรายได้ในกลุ่มธุรกิจใหม่ทั้งหมดทะยานแตะ 500 - 600 ล้านบาท พร้อมเตรียมแผนย้ายเข้า SET ภายในปี 2567
นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) (LEO) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปี 2566 ตั้งเป้าเป็นปีแห่งก้าวสู่ความเป็นบริษัท Blue Chip Stock ของผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน โดยวางเป้าการเติบโตของ Gross Profit Margin ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 15-20% จากปีก่อน เน้นการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เป็น Non Freight และมีกำไรขั้นต้นมากกว่า 40-45% เช่น Self Storage,Container Depot, Warehouse & Logistics Center และ Cold Chain Logistics โดยจะร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อพัฒนาโครงการ ใหม่ๆ เช่น การเปิด Self Storage สาขาที่ 3 และพัฒนาโครงการ Warehouse & Logistics Center ร่วมกับ บริษัท เอชเค แอสเซท แมเนจเมนท์ จำกัด ในเครือ บริษัท เสนา ดีเวลอบเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA , การพัฒนาธุรกิจ Cold Chain Logistics กับบริษัท สหไทย เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) หรือ PORT รวมถึงในปี 2566 นี้บริษัทฯ จะมีการเปิดบริการ Self Storage แห่งที่ 4 และลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (Container Depot) แห่งที่ 2 ซึ่งเมื่อรวมรายได้จากบริษัท JV ใหม่ที่เกิดขึ้นและการขยายงานของทางบริษัทเองก็จะทำให้รายได้ของธุรกิจ Non-Freight ของบริษัทฯ มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ทางบริษัทฯ มีความพร้อมในการพัฒนาและทำการตลาดการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างไทย - จีน แบบ End-to-End กับบริษัท เบาไทย อินเด็กซ์ แอสโซซิเอท จำกัด และ บริษัท ศรีตรังโลจิสติกส์ จำกัด ภายใต้ชื่อ บริษัท ล้านช้าง เอ๊กซ์เพรส จำกัด และปัจจุบันกำลังทำการศึกษาที่จะจัดตั้งบริษัท JV อีกหนึ่งบริษัทเพื่อลงทุนในระบบการขนส่งสินค้า Cold Chain ไปยังประเทศจีนทางรถไฟ เพื่อรองรับการส่งออกสินค้าผลไม้จากไทยไปจีนทางบกที่มีปริมาณสูงถึง 420,000 ตันต่อปี และมีมูลค่าส่งออกมากกว่า 3.3 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ทาง LEO มีความพร้อมที่สุดในแง่ของเครือข่าย ระบบ และ โครงสร้างพื้นฐาน ที่จะให้การบริการขนส่งสินค้าทางรถไฟไปยังประเทศจีนสำหรับฤดูกาลส่งออกผลไม้ของปี 2566 ด้วยโครงสร้างราคาที่ดีกว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆ
และบริษัทฯ ก็ยังมีการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ที่เป็น Non Logistics โดยจะทำการต่อยอดธุรกิจกัญชงและกัญชาที่ได้มีการลงนาม MOU กับทางวิสาหกิจชุนชนสุขฤทัย และบริษัท แคนบิซ จำกัด ให้สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นธุรกิจใหม่และสร้างรายได้ให้กับทางบริษัทฯในอนาคตอันใกล้ รวมถึงการพัฒนาธุรกิจการเป็นตัวแทนในการซื้อสินค้าจากประเทศไทยเพื่อส่งให้ E-commerce Platform ของ China Post และ Tengjin ภายใต้ชื่อ บริษัท ลีโอ ซอร์สซิ่ง แอนด์ ซัพพลายเชน จำกัด ที่ปัจจุบันมีคำสั่งซื้อสินค้าที่เป็นทุเรียนและผลไม้อื่นๆเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยบริษัทฯเชื่อว่าธุรกิจ Non Freight และ Non-Logistics ใหม่ทั้งหมดนี้จะสามารถมาช่วยทดแทนรายได้ค่าระวางเรือที่เริ่มปรับตัวลดลงตามแนวโน้มอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี
อีกทั้งบริษัทฯ ยังคงเดินหน้าเรื่องการเจรจาเพื่อซื้อกิจการ (M&A) กับพันธมิตรที่เป็นบริษัทชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศกัมพูชา แคนาดา เบลเยี่ยม สิงคโปร์ และสาธารณรัฐประชาชนจีน อีกหลายโครงการ คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 1-2/2566 และสามารถสรุปได้ภายในไตรมาสที่ 3/2566 ซึ่งการ M&A หลายๆ โครงการนี้ จะสนับสนุนการเติบโตทั้งในด้านธุรกิจและรายได้อย่างก้าวกระโดด โดยบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้ใหม่ๆที่เกิดจากธุรกิจ JV และ M&A ทั้งหมดนี้ จะมีรายได้ประมาณ 500-600 ล้านบาทในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
"การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ด้วยความคิด 365 Degree Collaboration จะช่วยให้ LEO เป็น Growth Stock ที่มีเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด โดยนำจุดแข็งของแต่ละพันธมิตรมาพัฒนาธุรกิจและสร้าง Synergy (การผสานพลัง) ร่วมกัน ด้วยความเชื่อมั่นว่าการสร้าง Synergy ร่วมกันจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่ใช่แค่ 1+1 = 2 แต่จะเป็น 3 หรือ 4 หรือ 5 และช่วยให้ LEO สามารถขยายขอบเขตของธุรกิจและการบริการได้มากขึ้น รวมถึงมีฐานของลูกค้าใหม่ได้หลากหลายมากขึ้น สอดคล้องกับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นไปสู่การเป็น Blue Chip Stock ของผู้ให้บริการโลจิสติกส์อย่างครบวงจร"นายเกตติวิทย์ กล่าว
นอกจากนี้ LEO ในฐานะที่เป็น End-to-End Logistics Services Provider มีแผนร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจที่จะให้บริการในลักษณะของ Green Logistics พัฒนาให้บริการขนส่งและการกระจายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยใช้รถพลังงานไฟฟ้า ลดการใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดมลพิษหรือก่อให้เกิดขยะ มุ่งเน้นการลดมลพิษทางอากาศจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงพัฒนาระบบการให้บริการให้อยู่ในระบบดิจิทัล เพื่อลดการสิ้นเปลืองในการใช้กระดาษ โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้สามารถลดภาวะโลกร้อนและเปลี่ยนให้เป็น Carbon Credit ให้กับลูกค้าของเรา และทำให้ลูกค้าของเราได้รับการยอมรับในการดำเนินธุรกิจในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในทวีปยุโรปที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG และการลด Carbon Footprint เป็นอย่างมาก
"ทางบริษัทฯ สร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดตามคำมั่นสัญญาที่เรามีให้กับนักลงทุนตั้งแต่เราเข้ามาเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 2 ปีที่แล้ว และเรามีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ LEO สามารถย้ายเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ภายในปี 2567 เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายของบริษัทฯที่จะเป็นหนึ่งในหุ้น Blue Chip Stock ของธุรกิจผู้ให้บริการโลจิสติกส์อย่างครบวงจรในประเทศไทยที่มีการเติบโตยั่งยืน สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างสม่ำเสมอ" นายเกตติวิทย์ กล่าวในที่สุด