นับเป็นเวลากว่า 3 ปี ในที่สุดอีเวนต์ต่าง ๆ ก็กลับมาจัดกันอย่างคึกคักอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลดนตรีและคอนเสิร์ตที่ศิลปินทั้งไทยและเทศตบเท้ามาจัดงานในประเทศไทยกันอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับหน้าฟีดโซเชียลมีเดียของหลายคน ที่เริ่มได้เห็นภาพบรรยากาศงานแต่งงานสุดชื่นมื่นของเพื่อน ๆ และคนรู้จักแทบไม่เว้นแต่ละวัน ในขณะที่คนส่วนใหญ่เริ่มกลับมาใช้ชีวิตที่เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว แต่สำหรับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่โควิด-19 ยังคงเป็นอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม ด้วยข้อจำกัดทางสุขภาพที่ร่างกายอาจตอบสนองต่อวัคซีนได้ไม่เพียงพอ มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ตามปกติแบบคนทั่วไป จึงเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับเชื้อและมีอาการรุนแรงจากโควิด-19 มากกว่าที่หลายคนคาดคิด
จึงเป็นที่มาของแคมเปญ "เตรียมภูมิคุ้มกันให้ทุกความพิเศษ" ที่ทางแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ตั้งใจสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสังคม ถึงความสำคัญของการเสริมภูมิคุ้มกันให้กับผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าคนทั่วไป เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจากโรคประจำตัวที่มีอยู่หรือจากยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่ตอบสนองต่อวัคซีนโควิด-19 ไม่ดี (ภูมิต้านทานไม่ขึ้น) รวมถึงผู้ที่ไม่สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้ (มีการแพ้วัคซีนอย่างรุนแรง) หรือแม้กระทั่งผู้สูงอายุ เพราะคนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากกว่าคนทั่วไป ดังนั้นหากพวกเขามีความรู้ความเข้าใจ และได้รับการเสริมภูมิคุ้มกันอย่างทั่วถึง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากอาการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต พร้อมสร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยสามารถออกมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข
แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ได้ถ่ายทอดใจความสำคัญของแคมเปญดังกล่าวผ่านภาพยนตร์สั้น 2 เรื่อง เรื่องแรกเป็นเรื่องราวของ นิค ชายหนุ่มที่เลือกกลับมาแต่งงานกับแฟนหนุ่มชาวต่างชาติที่ประเทศไทย เพราะอยากให้พ่อของเขาได้มาร่วมงานด้วย แต่ผู้เป็นพ่อกลับต้องจำใจปฏิเสธเนื่องจากเป็นผู้ป่วยโรคไต ซึ่งตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าคนทั่วไป การออกไปพบปะผู้คนจำนวนมากจึงอาจมาพร้อมความเสี่ยงในการได้รับเชื้อและเกิดอาการรุนแรงจากโควิด-19 ได้ เขาจึงพยายามหาหนทางช่วยเหลือให้พ่อได้ไปเป็นแขกคนสำคัญในงานแต่งงานของเขาให้ได้
ส่วนอีกเรื่อง บอกเล่าเรื่องราวของหญิงสาวที่ป่วยเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองตั้งแต่เด็ก คือร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เพียงพอต่อการป้องกันโรคหรือมีปัญหาภูมิตกเร็ว ทำให้แม่ต้องอยู่ดูแลเธออย่างใกล้ชิดจึงพลาดโอกาสในการไปดูคอนเสิร์ตของวงโปรด จนวงนี้ได้กลับมาแสดงที่ประเทศไทยอีกครั้ง เธอจึงตั้งใจจะเติมเต็มความฝันของแม่ให้สำเร็จ ด้วยการเตรียมพร้อมร่างกายให้แข็งแรง เพื่อพาแม่ที่รักของเธอไปชมคอนเสิร์ตให้ได้
เนื้อหาในภาพยนตร์สั้นทั้งสองเรื่อง นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงอุปสรรคในการใช้ชีวิตของผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงแล้ว ยังสะท้อนถึงมุมมองของผู้ดูแลผู้ป่วย (Caregiver) รวมถึงสมาชิกในครอบครัว ที่ต่างได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน จากบทบาทของผู้เป็นแม่ในเรื่อง 'คอนเสิร์ตนี้? ต้องไปให้ได้' ที่อยากไปดูคอนเสิร์ตของศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ แต่ต้องตัดใจเพรากลัวว่าจะนำเชื้อไวรัสมาสู่ลูกสาวที่เป็นผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือการเล่าเรื่องผ่านมุมมองลูกชายของผู้ป่วยโรคไต จาก 'ทำไมพ่อถึงไม่ไปงานแต่งผม?' ที่สถานการณ์โควิด-19 อาจทำให้เขาต้องเดินเข้าพิธีแต่งงานซึ่งเป็นอีกหนึ่งวันที่สำคัญที่สุดในชีวิตโดยไม่มีพ่ออยู่ตรงนั้น
'ชีวิตที่พิเศษที่สุด คือชีวิตที่ปกติที่สุด' คือข้อความในตอนจบของภาพยนตร์สั้นชุดนี้ เพราะการได้กลับมาใช้ชีวิตปกติสุขอย่างคนทั่วไปที่ฟังดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับหลายคนแล้วกลับมีความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้น การเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือวิธีการอื่นๆ เช่น ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB (Long-acting Antibody) สำหรับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือตอบสนองต่อวัคซีนได้ไม่เพียงพอ คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยปลดล็อคให้พวกเขาสามารถออกไปใช้ชีวิตและได้อยู่ใกล้ชิดกับคนที่รักได้อย่างมั่นใจ
LAAB (Long-acting Antibody) หรือ ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป คือยาแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาวแบบผสม ปัจจุบันได้รับการอนุมัติแบบมีเงื่อนไขในประเทศไทยให้นำมาใช้สำหรับการฉีดป้องกันโควิดในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงและผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเพื่อรักษาโควิด-19 ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยใช้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และมีน้ำหนักตัวอย่างน้อย 40 กิโลกรัม โดย LAAB จะฉีดที่สะโพกเพื่อให้ร่างกายสามารถรับแล้วนำไปใช้ได้เลยภายใน 6 ชั่วโมง จึงช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับผู้ที่ตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าคนทั่วไป หรือผู้ที่ตอบสนองต่อวัคซีนโควิด-19 ไม่ดี (ภูมิต้านทานไม่ขึ้น)
กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแนวทางการใช้ LAAB เพื่อการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อในกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดหรือมะเร็งที่อวัยวะอื่นๆ ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิ รวมไปถึงผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มสุดท้ายเกิน 6 เดือน ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือ ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มสุดท้ายเกิน 6 เดือน เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายในการรับยา LAAB ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข สามารถแจ้งที่แพทย์ผู้ให้การรักษา เพื่อให้แพทย์ได้ประเมินและดำเนินการแจ้งความจำนงขอเข้ารับยาต่อไป
เตรียมภูมิคุ้มกันให้ทุกความพิเศษ #เตรียมความพร้อมให้ทุกความพิเศษ