กรีนพีซเปิดโครงการ “เรารักข้าวไทย” เพื่อสนับสนุนข้าวไทย ให้ปลอดจากภัยจีเอ็มโอ

ข่าวทั่วไป Friday April 11, 2008 15:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--กรีนพีซ
ร้านอาหาร 9 แห่งในกรุงเทพฯ เข้าร่วมโครงการร้านอาหาร “เรารักข้าวไทย” ของกรีนพีซ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจุดประกายความภาคภูมิใจของคนในชาติ เนื่องจากประเทศไทยมีข้าวที่ดีที่สุดในโลก รวมทั้งเพื่อสร้างแนวร่วมปกป้องข้าวไทย หวั่นข้าวจีเอ็มโอฉวยโอกาสทำเกษตรกรรมไทยแย่ลง
ข้าวไทยเป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลก เป็นสิ่งที่คนไทยควรภาคภูมิใจและสนับสนุนภูมิปัญญาของคนในประเทศ ข้าวจีเอ็มโอเป็นสิทธิบัตรของบรรษัทข้ามชาติที่พยายามเข้ายึดครองและควบคุมแหล่งอาหารของเรา” นางสาวณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพันธุวิศวกรรม (จีเอ็มโอ) กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
ประเทศไทย ในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกและเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยข้าวหลากหลายสายพันธุ์ กำลังถูกคุกคามโดยบรรษัทผลิตสารเคมีเกษตรรายใหญ่ที่ผันตัวเองมาพัฒนาเทคโนโลยีจีเอ็มโอ และต้องการแสวงหาผลประโยชน์และควบคุมแหล่งอาหารของโลกด้วยการยัดเยียดจีเอ็มโอให้ ทั้งนี้ มากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ของพืชจีเอ็มโอที่ผลิตขึ้นมาทั้งหมด ล้วนเป็นลิขสิทธิ์ของบรรษัทเคมีเกษตรเพียงไม่ถึง 10 แห่ง อย่างเช่น บริษัทมอนซานโต
รูปแบบของโครงการนี้ คือ การเชิญผู้ประกอบการร้านอาหารที่มุ่งผลิตอาหารที่ปลอดภัยเข้าร่วมในโครงการเพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภคชาวไทยเห็นความสำคัญและตระหนักว่าข้าวไทยเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศ นอกจากนี้ร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการจะต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า จะไม่ซื้อและขายข้าวจีเอ็มโอให้กับผู้บริโภค และจะสนับสนุนข้าวไทยเท่านั้น เพื่อสร้างแรงกดดันให้กับผู้ค้าข้าวว่า ข้าวจีเอ็มโอ ไม่เป็นที่ต้องการ
“ผมยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการเรารักข้าวไทยของกรีนพีซ และได้ร่วมรณรงค์ให้คนไทยตระหนักถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตหากข้าวไทยกลายเป็นเครื่องมือของชาวต่างชาติ ผมคิดว่าคงเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก ถ้าภูมิปัญญาของคนไทยต้องตกเป็นสมบัติของคนอื่น ทั้งๆที่ประเทศไทยมีชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติและมีภูมิปัญญาดั้งเดิมของตน” พล ตัณฑเสถียร เจ้าของร้านอาหาร Spring & Summer กล่าว
“เรามีสิทธิ์เลือกอาหารที่จะทาน ไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นมาบังคับหรือยัดเยียดให้ซื้อเฉพาะสินค้าของพวกเขา บรรษัทที่สนับสนุนจีเอ็มโออย่างมอนซานโตต้องการที่จะควบคุมแหล่งอาหารของโลก รวมทั้งอาหารของไทยด้วย จริงๆแล้วประเทศไทยมีพันธุ์ข้าวหลากหลายสายพันธุ์ที่เราควรอนุรักษ์เพื่อให้เป็นสมบัติของชาติสืบไป” พวงรัตน์ รัตนภูมิ ผู้จัดการร้านครัวคุณย่า กล่าว
“ไม่มีข้าวใดในโลกที่หอม นุ่ม และอร่อยเท่ากับข้าวไทยของเราอีกแล้ว ดังนั้นคนไทยจึงโชคดีและควรภาคภูมิใจในข้าวไทยของเรา เพราะข้าวจีเอ็มโอผิดธรรมชาติและจะเข้ามาสร้างปัญหาจนทำให้ความสมดุลของธรรมชาติเสียไปหมด” อาจารย์ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฏาวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนธุรกิจการอาหารไทยและนานาชาติ และแนวร่วมโครงการ “เรารักข้าวไทย” กล่าว
สามารถดูรายชื่อร้านอาหารในโครงการ “เรารักข้าวไทย” ได้ที่เว็บไซต์ www.truefood.org และร้านอาหารที่สนใจร่วมโครงการสามารถติดต่อเพื่อขอเข้าร่วมโครงการได้ผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน
รายงานของกรีนพีซ (1) ระบุว่ารัฐบาล เกษตรกร ตลอดจนผู้บริโภคทั่วโลกยอมรับแล้วว่า พืชจีเอ็มโอไม่น่าไว้วางใจ ไม่สามารถอยู่รอดได้ และเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น แถลงการณ์ของบริษัทผู้ค้าข้าวรายใหญ่ของโลก 41 บริษัท รวมตัวกันปฏิเสธการซื้อข้าวที่ปนเปื้อนจีเอ็มโอ ต่อเนื่องด้วยการที่ ประเทศไทยและเวียดนามในฐานะประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกได้ออกมาแสดงจุดยืนร่วมกันทันที ด้วยการลงนามไม่ค้าข้าวจีเอ็มโอ การเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นเพื่อตอบโต้ผู้ที่ละเลยต่อปัญหาการปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอที่กระจายไปตามที่ต่างๆ ทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน สหภาพยุโรป และฟิลิปปินส์ ซึ่งนับเป็นภัยคุกคามห่วงโซ่อาหารของโลก
กรีนพีซรณรงค์เพื่อต่อต้านพืชจีเอ็มโอรวมทั้งผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของพืชจีเอ็มโอทั้งหมด ซึ่งเป็นกลไกสำคัญบนหลักการของความยั่งยืน ทั้งนี้เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าและปลอดภัย การตัดต่อพันธุกรรมเป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัยและไม่เป็นที่ต้องการของสังคมโลกอีกทั้งยังทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างความเสี่ยงให้กับผู้บริโภค
หมายเหตุ
[1
] รายงาน “สถานการณ์โลกเกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอ” ชี้ให้เห็นหลักฐานที่หนักแน่นว่าการต่อต้านพืชจีเอ็มโอยังคงขยายวงกว้างในกลุ่มเกษตรกร ผู้บริโภค และรัฐบาลของนานาประเทศhttp://www.greenpeace.org/international/press/reports/global-status-of-gene
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ
ณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพันธุวิศวกรรม (จีเอ็มโอ) โทร. 085 843 7300
วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร.089 487 0678, 02 357 1921 ต่อ 115

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ