กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--IANDI COMUNICATION
“มีเด็กหลายคนที่เคยวาดฝันว่าอนาคตอยากเป็นนักบินอวกาศ แต่จะมีเด็กสักกี่คนที่ก้าวไปถึงความฝันนั้น” หากแต่ว่าเมื่อเร็วๆนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)และสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ได้สนับสนุนให้คณะยุววิจัยดาราศาสตร์ จากศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์(LESA) ได้มีโอกาสเดินทางเข้าเยี่ยมชมการทำงานขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency - JAXA) หน่วยงานวิจัยและพัฒนางานด้านอวกาศ หนึ่งในสมาชิกของโครงการความร่วมมือการสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) ซึ่งล่าสุดได้มีการนำห้องแล็บอวกาศสัญชาติญี่ปุ่นที่ชื่อ “คิโบ” ขึ้นไปต่อเติมบนสถานีอวกาศนานาชาติได้สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยภารกิจตามรอยนักบินอวกาศครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.มาโกโต โยชิกาวา นักวิจัยองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น เป็นผู้บรรยายพิเศษถึงความสำเร็จใน “การนำยานอวกาศลงสำรวจบนพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยเป็นครั้งแรก” และเรื่องราว “ชีวิตนักบินอวกาศ” พร้อมทั้งนำชมพิพิธภัณฑ์การพัฒนาด้านอวกาศของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งภายในมีการจัดแสดงวิวัฒนาการของจรวดที่พัฒนาขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ประวัติของนักบินอวกาศ การส่งดาวเทียมเพื่อการสื่อสารและการสำรวจดวงจันทร์ รวมถึงโมเดลจำลองห้องแล็บอวกาศคิโบขนาดเทียบเท่าของจริงซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ห้องเก็บเครื่องมือและอุปกรณ์ทั้งหมดสำหรับทำการทดลอง, ห้องปฏิบัติการทดลองรูปทรงกระบอก (Pressurized Module) ขนาดยาว 11.2 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 4.4 เมตร น้ำหนัก 9.2 ตัน สำหรับการทำวิจัย และส่วนที่คล้ายกับเป็นระเบียงที่เปิดออกสู่อวกาศโดยตรง(Exposed Facility)ซึ่งยึดติดไว้ด้วยแขนกล สำหรับทำการทดลองในสภาวะของห้วงอวกาศ เช่น สภาวะสุญญากาศ, สภาวะไร้น้ำหนักและการทดลองที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหรือรังสีจากดวงอาทิตย์ นอกจากนี้เด็กๆยังได้รับโอกาสพิเศษชมห้องปฎิบัติการที่ใช้สร้างห้องแล็บอวกาศคิโบ และศูนย์ฝึกนักบินอวกาศ ซึ่งประกอบด้วยห้องจำลองสถานีอวกาศ ห้องออกกำลังกายในอวกาศ ชุดนักบินอวกาศ และสระน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับฝึกสภาวะการเคลื่อนที่ในอวกาศ ตลอดจนห้องควบคุมที่ใช้การฝึกนักบินอวกาศด้วย
“ ผมไม่คิดมาก่อนเลยว่าชีวิตนักบินอวกาศต้องผ่านการคัดเลือกและการฝึกฝนที่สุดแสนทรหดมากทีเดียว” นาย รวีวัฒน์ ถวัลย์เถลิงฤทธิ์ หรือ “น้องนัท” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดสุทธิวราราม บอกถึงความประทับใจในความมุมานะฝึกฝน พัฒนาของนักบินอวกาศภายหลังการเยี่ยมชมองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น
“กว่าจะเป็นนักบินอวกาศต้องผ่านการคัดเลือกจากคนที่มีความรู้หลายพันคนเหลือเพียง 8 คน จากนั้นให้ทั้ง 8 คน ทดลองอยู่ในห้องจำลองสภาวะเสมือนสถานีอวกาศซึ่งแคบมาก ภายในมีการปรับความดันให้เบาบาง ซึ่งผู้ที่ถูกคัดเลือกต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นเวลานานหลายสัปดาห์โดยสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ และมีการให้คิดโจทย์เลขหรือแก้ปัญหาที่ยากๆ เพื่อคัดเลือกนักบินอวกาศ 1 คน ที่อารมณ์ดีและแก้ปัญหาได้ดีที่สุดเข้ามาฝึกอบรมอยู่ในองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นเป็นเวลา 1 ปีครึ่ง ซึ่งจะมีการฝึกการเคลื่อนไหวในน้ำขณะที่ใส่ชุดอวกาศ และต้องถูกส่งไปฝึกอบรมในประเทศรัสเซียและอเมริกาต่ออีก 5 ปี โดยนักบินอวกาศจะต้องสามารถพูดภาษาอังกฤษและรัสเซียได้เป็นอย่างดี ซึ่งในทุกขั้นตอนการอบรมจะอยู่ในสภาวะที่เครียดและกดดันมาก ทั้งนี้เพื่อเตรียมพร้อมนักบินอวกาศให้รับมือกับทุกสภาวะได้ การได้มีโอกาสมาสัมผัสชีวิตของนักบินอวกาศ ได้เห็นห้องฝึก ห้องทำงาน จึงทำให้ผมมีแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองต่อไป”
ด้าน “น้องมิกซ์” หรือ ด.ช. กฤติธี เจษฎาชัย นักเรียนชั้น ประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กล่าวว่า ชื่นชอบชุดนักบินอวกาศที่มีการออกแบบเพื่อการใช้งานเป็นอย่างดี หากเป็นไปได้ก็อยากลองสวมชุดนักบินอวกาศสักครั้ง
“ ชุดนักบินอวกาศมีน้ำหนักถึง 120 กิโลกรัม เป็นชุดที่มีการออกแบบเพื่อป้องกันนักบินอวกาศเป็นอย่างดีในช่วงเวลาที่ออกมาสำรวจนอกอวกาศ โดยตัวชุดมีความหนาทั้งหมด 14 ชั้น ซึ่งชั้นนอกสุดจะทำจากวัสดุกันกระสุนเพื่อป้องกันกันอุกาบาตเล็กๆที่อาจวิ่งเข้ามาชนได้ ส่วนด้านในจะเป็นตัวกันความร้อนจากแสงอาทิตย์ ทั้งนี้ในอวกาศจะร้อนมากดังนั้นภายในชุดจึงมีการวางท่อสำหรับกระจายสารทำความเย็นและปั๊มน้ำจากกระเป๋าด้านหลังมาหมุนเวียนรอบชุดเพื่อให้เกิดความเย็นซึ่งท่อดังกล่าวมีความยาวถึง 90 เมตร ทั้งนี้ปริมาณการปั๊มน้ำนักบินอวกาศจะสามารถปรับค่าได้โดยใช้กระจกที่ข้อมือส่องหน้าปัดตัวเลขซึ่งอยู่บริเวณหน้าอก นอกจากนี้บริเวณช่วงตายังมีหน้ากากสีทองไว้สำหรับป้องกันแสงและรังสีจากพระอาทิตย์ เนื่องจากเวลาที่สถานีอวกาศโคจรรอบโลกใช้เวลา 90 นาที โดย 45 นาทีแรกจะโคจรโลกด้านกลางคืน ส่วนอีก 45 นาทีหลังจะโคจรรอบโลกด้านกลางวัน ดังนั้นในช่วงเวลากลางคืนนักบินอวกาศจะสามารถเปิดหน้ากากสีทองออกเพื่อเหลือส่วนที่เป็นหน้ากากใสธรรมดาได้”
ขณะที่ “น้องทราย” หรือ นางสาว กีรติกา สุขสีทอง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงราย เผยความในใจว่า รู้สึกดีใจที่ได้มาเห็นจรวดจริงๆ ได้สัมผัสกระบวนการในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพบว่าการสร้างแบบจำลอง หรือยานอวกาศที่จะต้องส่งไปนอกอวกาศนั้นเป็นเรื่องที่ยาก มีรายละเอียดขั้นตอนที่เยอะมาก ต้องใช้ความรู้หลายด้านมาก แม้กระทั่งอาหารที่กินในอวกาศ เช่น ราเมงทะเล ยังต้องมีการคำนวณปริมาตรน้ำร้อนที่ใส่ลงไป ว่าปริมาณเท่าไรเส้นบะหมี่จึงจะดูดน้ำเข้าไปแล้วทำให้สุกพอดี งานวิจัยและการสร้างสถานีอวกาศก็นับเป็นความท้าทายและน่าทึ่งของมนุษย์มากในการเอาชนะแรงดึงดูดและแรงโน้มถ่วงของโลก เพื่อขึ้นไปลอยอยู่ในอวกาศดังเช่นดาวดวงหนึ่งที่อยู่ในท้องฟ้า ที่สำคัญการบรรยายพิเศษของ ดร.มาโกโต โยชิกาวา นักวิจัยผู้คำนวณวิถีการโคจรของยานอวกาศสำรวจดาวเคราะห์น้อย พบว่ากว่าจะนำยานอวกาศลงจอดบนดาวเคราะห์น้อยได้ต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนอยู่หลายครั้ง ทำให้ได้เรียนรู้ว่าการเป็นนักดาราศาสตร์ต้องเป็นผู้ที่มีไหวพริบ ปฏิภาณในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะหลายสิ่งไม่เป็นอย่างที่เราคิดและคาดการณ์ไว้เสมอไป
อย่างไรก็ น.อ. ฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โลกและดาราศาสตร์(LESA) กล่าวว่า การได้มาเรียนรู้ในองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นครั้งนี้ นับเป็นพลังสำคัญสำคัญทีจะต่อเติมความหวัง สร้างแรงบันดาลให้เด็กๆได้ฝึกฝนและพัฒนาความรู้ ความสามารถของตนเองให้เป็นนักดาราศาสตร์ที่ดีต่อไปในอนาคต โอกาสเล็กๆที่จะเป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยมีนักบินอวกาศในไม่ช้า..
ติดต่อขอข้อมูลและภาพเพิ่มเติมได้ที่ 02-2701350-4 ต่อ 103 หรือ โหลดได้ที่
e-mail : lesa.astronomy@gmail.com password 028830495
หมายเหตุ: สามารถนำรูปในไฟล์นี้ไปใช้งานได้ ด้วยการ save as เป็นแบบ web page