จากหนึ่งในเป้าหมายของ มจธ. ที่ต้องการทำให้นักศึกษาทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่าง เท่าเทียม เป็นที่มาของการเปิด "หน่วยบริการสนับสนุนนักศึกษาพิการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี" (Disability Support Services Unit, King Mongkut's University of Technology Thonburi) หรือ DSSU@KMUTT) เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา
รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาทาง มจธ. มีการดำเนินการตามเป้าหมายเพื่อให้คนพิการและคนทุกกลุ่มสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างสะดวก ปลอดภัยและเท่าเทียมมาอย่างต่อเนื่อง โดยจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการในพื้นที่สาธารณะ เช่น ทางเดิน ทางลาด ราวจับ ลิฟต์ ป้ายสัญลักษณ์ ที่จอดรถ และห้องน้ำสำหรับคนพิการ ซึ่งเป็นไปตาม พรบ.จัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.2551 ที่กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยจัดให้มีบริการสนับสนุนการศึกษาที่ช่วยให้นักศึกษาพิการสามารถเข้าถึงระบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยได้อย่างมีคุณภาพและเท่าเทียมกับนักศึกษาทั่วไป ดังนั้นการจัดตั้งหน่วยงานโดยเฉพาะจะช่วยให้การดำเนินการมีความต่อเนื่องและเห็นผล ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
"หน้าที่หลักของหน่วย DSSU@KMUTT คือ ให้ความช่วยเหลือ คำแนะนำ ประสานงานและติดตาม เพื่ออำนวยความสะดวกกับนักศึกษาพิการ ในรูปแบบ One Stop Service เพื่อให้นักศึกษาของเราสามารถเข้าถึงระบบการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ และบรรลุเป้าหมายทางการศึกษาของตนเอง"
นอกจากนี้ DSSU@KMUTT จะประชาสัมพันธ์ทุนการศึกษาและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้กับนักศึกษาพิการ ติดตามดูแลนักศึกษา และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างนิเวศแวดล้อม (Ecosystem) ของการเรียนและการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ ทั้งด้านนโยบาย สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก
"ปัจจุบัน มจธ.มีนักศึกษาพิการที่กำลังศึกษาจำนวน 18 คน จำแนกเป็น ระดับ ป.ตรี 13 คน ป.โท 3 คน และป.เอก 2 คน หน่วย DSSU จะมีเจ้าหน้าที่ประจำเพื่อให้บริการต่างๆ กับนักศึกษาพิการ และการบริหารจัดการข้อเสนอและข้อร้องเรียนที่มีกลไกการหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการ พร้อมทั้งมีระบบการติดตามและแจ้งผลการดำเนินการให้นักศึกษาได้รับทราบ ดังนั้นการดูแล ประสานงาน สนับสนุนความช่วยเหลือแก่นักศึกษาพิการให้ได้เข้าถึงระบบการศึกษาและทรัพยากรทางการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมมาไว้ ณ จุดเดียวเช่นนี้ จะทำให้นักศึกษาของเราได้รับอำนวยความสะดวกมากยิ่งขึ้น"
ด้านนายภัทรดนัย อิ่มอ่อง (น้องปอม) นศ.ชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ประยุกต์-มัลติมีเดีย คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี กล่าวว่า สถานการณ์โควิดที่ต้องเรียนออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผม มีโอกาสเข้ามาเรียนในห้องกับเพื่อนได้ไม่นานนัก แต่ก็ได้เห็นความใส่ใจของมหาวิทยาลัยกับการดูแลนักศึกษาพิการ
"ผมมีความประทับใจเพื่อนๆ และอาจารย์ที่สนับสนุนในการเรียนให้ผมได้เรียนเหมือนปกติกับเพื่อนนักศึกษา ผมใช้วีลแชร์ในชีวิตประจำวัน พื้นที่มหาวิทยาลัยมีทางลาดเชื่อมต่อระหว่างอาคารต่างๆ ทำให้เราไปในที่ต่างๆ ได้สะดวก ลิฟต์ที่คนพิการนั่งวีลแชร์หรือคนพิการตาบอดสามารถใช้ได้จริง ซึ่งสิ่งที่ผมสัมผัสได้นี้ ทำให้ผมมีเชื่อมั่นว่าหน่วย DSSU@KMUTT จะช่วยให้การดำเนินการด้านสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อคนพิการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พวกเราสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนทั่วไปได้อย่างมีคุณภาพยิ่งขึ้น"
รศ.ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า บทบาทสำคัญของหน่วยบริการสนับสนุนนักศึกษาพิการ (DSSU@KMUTT) คือ การทำให้นักศึกษาพิการมจธ. ได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนให้เข้าถึงระบบบริการทางการศึกษาและทรัพยากรในมหาวิทยาลัยอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ ใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข
"นอกจากโครงการเงินอุดหนุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาพิการระดับปริญญาตรีจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แล้ว มจธ. มีทุนการการศึกษาอื่นอีกหลายประเภท ทั้งทุนให้เปล่า, ทุนประเภท Active Recruitment, ทุนช่วยเหลือนักศึกษาที่มีความเดือดร้อนทางการเงิน, ทุนผู้ประสบอุบัติภัย และทุนจ้างงาน เป็นต้น ขณะเดียวกัน มจธ. ยังมีโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการ ที่เป็นการอบรมฝึกอาชีพเพื่อเพิ่มโอกาสในการมีงานทำให้สำหรับคนพิการที่เป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่นักศึกษา มจธ. ซึ่งสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์การศึกษาต่อเนื่อง หรือ ศศต. มจธ."
รักษาการแทนอธิการบดี มจธ. กล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าคนปกติหรือคนพิการ ก็สามารถเป็นได้ทั้งผู้ให้และผู้รับ สามารถเรียนรู้และช่วยเหลือซึ่งกันได้ตามบริบทวิถีทางของตนเอง ดังนั้นนักศึกษาปกติและนักศึกษาพิการของ มจธ. จึงมีศักยภาพและความสามารถที่จะเป็นผู้นำที่สร้างการเปลี่ยนแปลง หรือ Social Change Agent ได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการให้เกียรติและเห็นคุณค่ากันและกันอย่างเท่าเทียม จับมือและก้าวไปพร้อมกัน (Better Together)