สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เร่งเป้าหมายดันไทยสู่ 30 อันดับแรกชาตินวัตกรรมชั้นนำของโลก พร้อมปลุกกระแสการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ ผ่านกลยุทธ์หลากรูปแบบ เช่น การอำนวยความสะดวกทางนวัตกรรมให้กับนักลงทุน - ธุรกิจนวัตกรรมจากต่างประเทศ การจัดทำโครงการ Smart Visa ร่วมกับ BOI การจัดตั้งศูนย์กลางสตาร์ทอัพระดับโลก (Global Hub) เป็นต้น พร้อมเผยถึง 4 ปัจจัยหลักที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจนวัตกรรม ได้แก่ การมีพื้นที่ที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ ความเป็นเมืองที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยและการดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพ การเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพเหมาะสม และไลฟ์สไตล์ของคนไทยที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการสานความสัมพันธ์กับประเทศชั้นนำ เช่น ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เพื่อเสริมทัพความแข็งแกร่งให้กับระบบนวัตกรรมไทย
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า NIA มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่ "ประเทศแห่งนวัตกรรม" และติดอันดับ 1 ใน 30 ของประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมของโลกภายในปี 2573 ดังนั้น NIA จึงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมทั้งในสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี พร้อมทั้งเร่งสร้างขีดความสามารถและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมผ่านการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ เงินทุน เครือข่าย โครงการสมาร์ทวีซ่าซึ่งเป็นวีซ่าประเภทพิเศษร่วมกับ BOI เพื่อดึงดูดต่างชาติให้มาทำธุรกิจหรือลงทุนในประเทศไทย รวมถึงการจัดตั้งศูนย์กลางสตาร์ทอัพระดับโลกขึ้นในพื้นที่กรุงเทพ เชียงใหม่ และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับให้สตาร์ทอัพหรือนักลุงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยได้ทำกิจกรรมและรับบริการในหลากหลายด้านร่วมกัน เช่น การให้คำปรึกษาด้านการทำธุรกิจ การตลาด กฎหมายและทรัพย์สินทางปัญญา การสร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพและนักลงทุน รวมถึงเป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นธุรกิจนวัตกรรม และเป็นเวทีที่จะทำให้นักลงทุนและสตาร์ทอัพได้เจรจาต่อยอดธุรกิจได้อีกด้วย
"นักลงทุนและสตาร์ทอัพต่างชาติเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม ซึ่งในปี 2566 NIA ได้วางแนวทางการดึงดูดสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการ และองค์กรจากต่างชาติให้มาลงทุนทำธุรกิจนวัตกรรมในไทย ด้วยการนำเสนอจุดเด่นของประเทศไทย รวมถึงการมีองค์กรธุรกิจที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีอาหารและสินค้าเกษตรรายใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอยู่ที่ประเทศไทย เช่น บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลชั้นนำของโลก และบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 3 ของโลกอย่างกลุ่มมิตรผล ซึ่งองค์กรเหล่านี้มีทรัพยากรบุคคลที่พร้อมขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านอาหารด้วยเทคโนโลยีเชิงลึกจำนวนมาก ส่งผลให้มีสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารทั้งชาวไทยและต่างชาติมีโอกาสได้รับการสนับสนุนเงินทุนไปแล้วถึงร้อยละ 60 ในไตรมาสที่ 3 สะท้อนให้เห็นว่าภาคเอกชนขนาดใหญ่ของไทยมีศักยภาพและความพร้อมที่จะเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจด้วยการพัฒนานวัตกรรม"
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าวแล้ว ยังมีปัจจัยที่เอื้อต่อการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมของไทยอีกหลายประการ เช่น 1) การมีพื้นที่ที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจมากกว่า 3 - 4 ล้านตารางเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ทั้งในส่วนกลางอย่างกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล กลุ่มย่านนวัตกรรมที่มีอยู่กว่า 10 ย่านทั่วประเทศ ตลอดจนพื้นที่ตามภูมิภาคที่ปัจจุบันหลายภาคส่วนเริ่มให้ความสนใจในการนำนนวัตกรรมมาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจ รวมถึงการจัดตั้งธุรกิจนวัตกรรมโมเดลใหม่เพิ่มอย่างต่อเนื่อง 2) ความเป็นเมืองที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยและการดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพ สอดรับกับไลฟ์สไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่ที่สามารถทำงานได้ทุกที่ สะดวก รวดเร็ว ความอิสระในการใช้อินเทอร์เน็ต ความบันเทิงจากกิจกรรมหรือเทศกาลที่เกิดขึ้นตลอดปี และมีช่องว่างจากวิถีชีวิตของคนไทยที่เอื้อให้ธุรกิจนวัตกรรมสร้างสรรค์โซลูชันที่คิดค้นหรือพัฒนาเข้าไปสอดแทรกได้ 3) ค่าครองชีพที่เหมาะสม เมื่อเทียบกับรายได้ของกลุ่มสตาร์ทอัพ - ธุรกิจนวัตกรรมที่เข้ามาดำเนินงานในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหารการกิน ค่าที่อยู่อาศัย ฯลฯ และ 4) ไลฟ์สไตล์ของคนไทย ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวในแต่ละพื้นที่อย่างเห็นได้ชัด และสามารถนำมาสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีความโดดเด่นได้อย่างลงตัว
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า NIA ปรับเปลี่ยนบทบาทจาก "สะพานเชื่อม (System Integrator)" สู่ "ผู้อำนวยความสะดวกทางนวัตกรรม (Focal Facilitator)" เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มความเข้มแข็งของพื้นที่ รวมถึงพัฒนาศักยภาพและการเติบโตของสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการไทยให้ก้าวสู่เวทีโลกอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยให้มีความเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์โลก ผ่านภารกิจหลักในด้านของการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจและลงทุน การส่งเสริมให้สตาร์ทอัพไทยเติบโตในตลาดโลก การสร้างแบรนด์นวัตกรรมของไทยให้เป็นที่รู้จักในสายตาต่างชาติ และการผลักดันให้เกิดการลงทุนจากนานาชาติสูงขึ้น ทั้งนี้ NIA ตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 5 ปี (2566 - 2570) จะสามารถสร้างมูลค่าลงทุนธุรกิจนวัตกรรมในไทยได้ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเน้นรูปแบบการร่วมลงทุน ซึ่งมีตัวอย่างจากสตาร์ทอัพไทยที่เคยได้รับการลงทุนจากอิสราเอล โดยหน้าที่หลักของ NIA ก็คือสนับสนุนและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยไปร่วมทำโครงการกับบริษัทที่ได้รับเงินลงทุนจากสำนักงานนวัตกรรมอิสราเอล เพราะฉะนั้นจะไม่ใช่การส่งเสริมแบบเชิญมาตั้งโรงงาน แต่จะเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดการลงทุนมากกว่า
นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับอีกหลายประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่นมีความสนใจที่จะนำสตาร์ทอัพมาร่วมลงทุนด้านนวัตกรรมกับประเทศไทย โดยในวาระครบรอบ 50 ปี ญี่ปุ่น - อาเซียน NIA จะไปเยือนญี่ปุ่นเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของสตาร์ทอัพและองค์กรให้มากขึ้น สำหรับสาธารณรัฐฝรั่งเศสจะมีการจัดงาน Start Up and Innovation Week ที่กรุงปารีส ซึ่งจะมีบริษัทขนาดใหญ่ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจากหลายประเทศเข้าร่วมแสดงผลงาน โดยประเทศไทยจะนำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอาหาร เทคโนโลยีอวกาศ และงานศิลปะ เป็นไฮไลท์เข้าร่วมโชว์ภายใต้กรอบความร่วมมือไทย - ฝรั่งเศส ทั้งนี้ NIA หวังว่าจะช่วยให้กลุ่มสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการ และนักลงทุนที่มีความเข้มแข็งเข้ามาทำงานภายใต้ระบบนิเวศนวัตกรรมของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ดร.พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้าย