บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาว และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของโครงการหุ้นกู้ระยะกลาง (Medium-Term Note Program) มูลค่ารวมหนึ่งแสนล้านบาทของบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด หรือ SCGC ที่ 'A+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตยังคงเป็นลบ
อันดับเครดิตของ SCGC เท่ากับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ คือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ('A+(tha)',แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ) ที่มีสถานะทางเครดิตที่แข็งแกร่งกว่า ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทย่อย (Parent and Subsidiary Rating Linkage Criteria) แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบของ SCGC เป็นไปตามแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบของ SCC ซึ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงที่มีต่อความสามารถในการลดอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า
ฟิทช์พิจารณาให้สถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ SCGC อยู่ที่ 'a-(tha)' ซึ่งสะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ จะอยู่ในระดับสูง จากแผนการใช้จ่ายการลงทุนขนาดใหญ่และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ค่อนข้างต่ำในปี 2566-2567 โดยปัจจัยดังกล่าวได้ถูกชดเชยด้วยสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในฐานะหนึ่งในผู้นำในธุรกิจปิโตรเคมีในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งมีฐานลูกค้าอยู่ในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
การลดลงของอัตราส่วนหนี้สินที่ยังคงท้าทายของ SCC - ฟิทช์คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (หลังรวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วมและหักเงินปันผลจ่ายแก่ผู้ถือหุ้นส่วนน้อย) หรือ EBITDA net leverage ของ SCC จะคงอยู่ที่ระดับ 4.5-5.0 เท่า ในปี 2565-2566 (ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 4.7 เท่า) เนื่องจากผลประกอบการของธุรกิจเคมิคอลส์ที่อ่อนแอ การเริ่มดำเนินงานของโครงการ Long Son Petrochemicals (LSP) ในประเทศเวียดนาม ในกลางปี 2566 และส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2567 น่าจะทำให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ การฟื้นตัวของธุรกิจหรือผลประกอบการของโครงการ LSP ที่ต่ำกว่าที่คาด รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่สูงกว่าประมาณการโดยที่ไม่มีการเพิ่มทุนมาชดเชย อาจส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตได้
แรงจูงใจในการสนับสนุนในเชิงกฎหมายในระดับปานกลาง - ฟิทช์พิจารณาแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนจากความสัมพันธ์เชิงกฎหมายจาก SCC ต่อ SCGC อยู่ในระดับปานกลาง เนื่องจาก SCC ได้ให้การค้ำประกันในลักษณะไม่มีเงื่อนไข และไม่สามารถยกเลิกได้ แก่วงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินจำนวน 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีในโครงการ LSP ซึ่งฟิทช์คาดว่าจำนวนหนี้ที่ได้รับการค้ำประกันดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นตามการเบิกใช้วงเงินตามความคืบหน้าของการก่อสร้างโรงงานจนถึงปี 2566 ที่เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ โดยคาดว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50 ของหนี้ทั้งหมดของ SCGC และลดลงตามการผ่อนชำระมาอยู่ในระดับร้อยละ 20-50 ในปีต่อๆ ไป
แรงจูงใจในการสนับสนุนในเชิงกลยุทธ์ในระดับสูง - ฟิทช์พิจารณาแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนจากความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์จาก SCC ต่อ SCGC อยู่ในระดับสูง เนื่องจากสัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ SCGC ต่อ EBITDA รวมของ SCC อยู่ในระดับที่สูง ประมาณร้อยละ 40-50 กลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์เป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้าง EBITDA มากที่สุดในสามกลุ่มธุรกิจหลักของกลุ่ม โดยกลุ่มธุรกิจอื่นของกลุ่มได้แก่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง (ร้อยละ 25-35 ของ EBITDA ของ SCC) และธุรกิจแพคเกจจิ้ง (ร้อยละ 20-30 ของ EBITDA ของ SCC) นอกจากนี้ ในปัจจุบัน สินทรัพย์ถาวรของ SCGC ยังมีสัดส่วนสูงที่สุดในสินทรัพย์ถาวรรวมของกลุ่ม และสัดส่วนดังกล่าวน่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการลงทุนในโครงการ LSP
แรงจูงใจในการสนับสนุนในเชิงการดำเนินงานในระดับปานกลาง - ฟิทช์พิจารณาว่าแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนจากโครงสร้างการบริหารและการใช้แบรนด์สินค้าร่วมกัน (Management and Brand Overlap) จาก SCC ต่อ SCGC อยู่ในระดับสูง โดย SCC มีบทบาทในการกำหนดและประสานการบริหารในบริษัทย่อยหลักๆ รวมถึง SCGC ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับกลุ่ม และมีการใช้แบรนด์ของกลุ่มร่วมกันในนาม "SCG" ในทุกกลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง, เคมิคอลส์, และธุรกิจแพคเกจจิ้ง อย่างไรก็ตาม ฟิทช์พิจารณาว่าความสัมพันธ์ด้านการดำเนินงาน (Operational Synergies) ระหว่าง SCC และ SCGC อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากธุรกิจหลักในกลุ่มของ SCC เป็นธุรกิจที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ประโยชน์ในด้านการลดต้นทุนการดำเนินงานที่บริษัทแม่ได้รับจากบริษัทย่อย มีไม่มากนัก ซึ่งเป็นปัจจัยลดทอนความสัมพันธ์ด้านการดำเนินงานโดยรวม
แผนการ IPO ไม่มีผลต่อความสัมพันธ์กับบริษัทแม่ - SCC ได้มีการยื่นคำขอเพิ่มทุนผ่านการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ของ SCGC ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อเดือนเมษายน 2565 และได้รับอนุญาตในเดือนตุลาคม 2565 แต่ SCC ยังไม่ได้มีการดำเนินการเสนอขายหุ้นดังกล่าว เนื่องจากสภาพตลาดหลักทรัพย์ยังไม่เอื้ออำนวย ฟิทช์ไม่คาดว่าความสัมพันธ์ระหว่าง SCC และ SCGC ในเชิงกฎหมายและเชิงกลยุทธ์ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ หากการ IPO ดำเนินการแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม เงินที่จะได้รับจากการ IPO อาจเป็นปัจจัยบวกต่อสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGC และสถานะทางการเงินของ SCC หากมีการนำเงินดังกล่าวไปใช้สำหรับชำระคืนหนี้ และทำให้อัตราส่วนหนี้สินของ SCGC ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ไม่ได้รวมเงินที่อาจจะได้รับจากการการเพิ่มทุนเข้ามาในประมาณการ เนื่องจากการดำเนินการตามแผนดังกล่าวยังขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดทุนที่มีความไม่แน่นอน
อัตราส่วนหนี้สินที่สูงกดดันสถานะเครดิตโดยลำพัง - ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วน EBITDA net leverage ของ SCGC จะอยู่ที่ระดับประมาณ 10 เท่าในปี 2566-2567 เนื่องจากส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตลอดช่วงวัฏจักร ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นไปที่ประมาณ 11.5 เท่า ณ สิ้นปี 2565 (ณ สิ้นเดือนกันยายน ปี 2565 อยู่ที่ 5.1 เท่า, ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 3.8 เท่า) จากค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่สูง และส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา ฟิทช์คาดว่าบริษัทฯ จะมีค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในโครงการ LSP คงเหลือประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาทที่จะใช้จ่ายในปี 2566 และคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ จะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 6.0 เท่าในปี 2567 และ 3.0 เท่าในปี 2568 จากธุรกิจปิโตรเคมีที่ปรับตัวดีขึ้น และบริษัทฯ ไม่มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่เพิ่มเติม ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจจะส่งผลในทางลบต่อสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัทฯ ได้
กระแสเงินสดที่ยังคงต่ำอยู่ - ฟิทช์คาดว่า EBITDA ของ SCGC จะลดลงมากอย่างมากในปี 2565 มาอยู่ในระดับ 7.0 พันล้านบาทจาก 3.4 หมื่นล้านบาทในปี 2564 เนื่องจากส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ลดลง จากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ในขณะที่ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์อ่อนตัวลง ฟิทช์คาดว่า EBITDA ของ SCGC จะเพิ่มขึ้นในปี 2566 จากการเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในโครงการ LSP เป็นหลัก สภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงในปี 2566 น่าจะส่งผลกระทบต่อความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี แม้ว่าผลกระทบดังกล่าวอาจจะลดทอนบางส่วนจากการผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์ของประเทศจีน นอกจากนี้ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานน่าจะได้รับผลกระทบจากกำลังการผลิตใหม่ในอุตสาหกรรมซึ่งจะมาจากประเทศในเอเชียเป็นส่วนใหญ่ ที่จะเป็นแรงกดดันต่อส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในปีนี้อีกด้วย
สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง - สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGC ได้รับการสนับสนุนจากสถานะความเป็นผู้นำตลาดทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย SCGC มีกำลังการผลิตใหญ่เป็นอันดับสองในกลุ่มสินค้าโพลีโอเลฟินส์และใหญ่ที่สุดในกลุ่มสินค้าพีวีซี (คำนวณตามสัดส่วนการถือหุ้น) ในประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน ฟิทช์คาดว่าสถานะทางการตลาดของ SCGC จะแข็งแกร่งขึ้นในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า จากโครงการ LSP ซึ่งเป็นโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกและมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศเวียดนาม ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตโพลีโอเลฟินส์ให้กับบริษัทฯ ประมาณร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตในปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลให้ SCGC มีสถานะเป็นผู้ผลิตโพลีโอเลฟินส์รายใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนเมื่อโครงการแล้วเสร็จตามคาดในปี 2566
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
SCGC ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวในระดับเดียวกับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ สะท้อนถึงแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนจากบริษัทแม่จากความสัมพันธ์เชิงกฎหมาย (Legal Incentive) ในระดับปานกลาง, ความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Incentive) ในระดับสูง และความสัมพันธ์เชิงการดำเนินงาน (Operational Incentive) ในระดับปานกลาง ในขณะที่สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGC สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในอาเซียนในธุรกิจโพลีโอเลฟินส์และพีวีซี สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGC ถูกจำกัดจากการที่บริษัทอยู่ในช่วงขยายการลงทุน ซึ่งทำให้มีแรงกดดันต่ออัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ในช่วงสองปีข้างหน้า
ฟิทช์พิจารณาเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่าง SCC กับ SCGC อยู่ในระดับสูงกว่าความสัมพันธ์ระหว่าง SCC กับบริษัทย่อยอีกบริษัทหนึ่ง ได้แก่ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (SCGP, 'A+(tha)', แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ, สถานะเครดิตโดยลำพัง a(tha)) เนื่องจาก SCGC มีความสัมพันธ์ในเชิงกฎหมายกับบริษัทแม่อยู่ในระดับสูงกว่า จากการที่บริษัทแม่มีการค้ำประกันหนี้ของ SCGC ประมาณร้อยละ 50 ของหนี้สินทั้งหมดของ SCGC ในขณะที่บริษัทแม่ไม่มีการค้ำประกันหนี้ใดของ SCGP นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ในเชิงกลยุทธ์ของ SCGC ที่มีต่อบริษัทแม่อยู่ในระดับสูงกว่าเช่นกัน จากสัดส่วน EBITDA ของ SCGC ต่อ EBITDA รวมของกลุ่มและสัดส่วนการลงทุนของ SCGC ต่อการลงทุนรวมของกลุ่มที่อยู่ระดับที่สูงกว่าสัดส่วนดังกล่าวของ SCGP เป็นอย่างมาก
สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGC อยู่ในระดับต่ำกว่าสถานะเครดิตโดยลำพังของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC, 'AA(tha)', แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ, สถานะเครดิตโดยลำพัง a+(tha)) ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันที่ครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดย PTTGC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าและมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่มากกว่า รวมทั้งมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า SCGC
สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGC อยู่ในระดับเดียวกันกับสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP, 'A+(tha)', แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ, สถานะเครดิตโดยลำพัง a-(tha)) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีกระบวนการกลั่นน้ำมันที่มีความคอมเพล็กซ์มากที่สุดในประเทศไทย ทั้งสองบริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในระดับเดียวกันในธุรกิจของตนเอง SCGC มีความสามารถในการสร้าง EBITDA ที่สูงกว่า เนื่องจาก TOP ต้องเผชิญกับความผันผวนของธุรกิจโรงกลั่นที่มีอัตรากำไรที่ต่ำกว่า ทั้ง SCGC และ TOP ต่างอยู่ในช่วงที่มีการลงทุนสูง ซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับสูง
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- รายได้เติบโตในอัตราประมาณร้อยละ 17 ในปี 2566 จากการที่โครงการ LSP เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์เป็นหลัก
- EBITDA Margin อยู่ที่ระดับต่ำที่ร้อยละ 3-4 ในปี 2566 เนื่องจากฟิทช์คาดว่าส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังคงอยู่ในระดับต่ำ
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน ประมาณ 3.2 แสนล้านบาท ในช่วงปี 2566-2567
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
- แนวโน้มอันดับเครดิตอาจกลับมามีเสถียรภาพหากแนวโน้มอันดับเครดิตของ SCC กลับมามีเสถียรภาพ โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่าง SCGC และ SCC ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
ปัจจัยลบ: - ความสัมพันธ์ระหว่าง SCGC และ SCC ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับอันดับเครดิตของ SCC ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคตได้แสดงในรายงานอันดับเครดิตของฟิทช์ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ดังนี้
ปัจจัยบวก:
- แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับกลับมาเป็นมีเสถียรภาพได้ หากบริษัทฯ สามารถลด EBITDA net leverage ลงมาอยู่ในระดับประมาณ 3.5 เท่า ได้ภายในปี 2567 และลดลงต่อเนื่องหลักจากนั้น
ปัจจัยลบ: - บริษัทฯ ไม่สามารถทำตามปัจจัยบวกข้างต้นได้
สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่เพียงพอ: SCGC มีหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2566 จำนวน 3.1 หมื่นล้านบาท โดยร้อยละ 91 ของจำนวนนี้เป็นเงินกู้ยืมระยะสั้นและเงินกู้ยืมระหว่างกันจากบริษัทแม่ซึ่งมีลักษณะเป็นวงเงินหมุนเวียน ฟิทช์คาดว่า SCGC จะยังคงมีกระแสเงินสดสุทธิ (Free cash flow) เป็นลบในปี 2566 เนื่องจากแผนค่าใช้จ่ายลงทุนในโครงการ LSP ที่เหลือ ซึ่งได้รับการสนับสนุนวงเงินกู้จากสถาบันการเงินสำหรับโครงการนี้จำนวน 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้สภาพคล่องของ SCGC ยังได้รับการสนับสนุนจากวงเงินหมุนเวียนจากสถาบันการเงินที่สามารถเพิกถอนได้ ที่ยังไม่ได้เบิกใช้จำนวน 4.4 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565
เกี่ยวกับบริษัท
SCGC เป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย SCC และเป็นบริษัทหลักของกลุ่ม SCC ในการดำเนินธุรกิจเคมิคอลส์ ซึ่งกลุ่ม SCC เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย SCGC เป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีขั้นปลายที่ใหญ่ป็นอันดับสองในประเทศไทยและอาเซียน สำหรับกลุ่มสินค้าหลักของบริษัทฯ ได้แก่ โพลีโอเลฟินส์และพีวีซี
อันดับเครดิตที่เกี่ยวโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตของ SCGC เกี่ยวโยงกับอันดับเครดิตของ SCC