นาโนเทค สวทช. จับมือ CKDNET มข. - สปสช. เขต7-สสจ. เดินหน้าความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนา ขยายผลใช้นวัตกรรมชุดตรวจทางการแพทย์ในหน่วยงาน สธ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข่าวทั่วไป Friday February 3, 2023 14:45 —ThaiPR.net

นาโนเทค สวทช. จับมือ CKDNET มข. - สปสช. เขต7-สสจ. เดินหน้าความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนา ขยายผลใช้นวัตกรรมชุดตรวจทางการแพทย์ในหน่วยงาน สธ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ร่วมกับโครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (CKDNET) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น และสำนักงานสาธารณสุข 4 จังหวัด (ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์) เดินหน้าความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อขยายผลการใช้ประโยชน์นวัตกรรมชุดตรวจทางการแพทย์ในหน่วยงานสาธารณสุขในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำร่องทดสอบมาตรฐานและขยายผลการใช้งานชุดตรวจทางการแพทย์ สำหรับการคัดกรองโรคติดเชื้อทางเดินหายใจและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ลดการนำเข้า-เพิ่มการใช้นวัตกรรมทางการแพทย์ไทยภายในประเทศ รับลูกนโยบายขับเคลื่อนไทยสู่ Medical Hub อย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.ธนากร โอสถจันทร์ รักษาการรองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ เป็นการเดินหน้าความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อขยายผลการใช้ประโยชน์นวัตกรรมชุดตรวจทางการแพทย์ในหน่วยงานสาธารณสุขในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากความร่วมมือระหว่างนาโนเทค สวทช. และ CKDNET คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยอาศัยความเชี่ยวชาญและความสามารถจากเทคโนโลยีชุดตรวจทั้งชุดตรวจสุขภาพและชุดตรวจคุณภาพสิ่งแวดล้อม

การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เพื่อเริ่มดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในโครงการต่อยอดแพลตฟอร์มชุดตรวจแบบรวดเร็วสู่เชิงพาณิชย์ เป็นโครงการภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ประจำปีงบประมาณ 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีชุดตรวจทางการแพทย์ พัฒนาขีดความสามารถด้านนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ และสร้างความยั่งยืนให้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทย โดยเป็นการต่อยอดและขยายผลการใช้ประโยชน์นวัตกรรมชุดตรวจทางการแพทย์สำหรับหน่วยงานสาธารณสุขในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแพลตฟอร์มชุดตรวจแบบรวดเร็ว โดยเน้น 2 กลุ่มโรคสำคัญ คือ แพลตฟอร์มชุดตรวจแบบรวดเร็วสำหรับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคติดเชื้อ COVID-19 โรคติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และโรคติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B และแพลตฟอร์มชุดตรวจแบบรวดเร็วสำหรับโรคเบาหวานและโรคไต

"สำหรับการประชุมด้านความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อขยายผลการใช้ประโยชน์นวัตกรรมชุดตรวจทางการแพทย์ในหน่วยงานสาธารณสุขในภาคตะวันออกเฉียงเหนือระหว่างสี่หน่วยงานในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานร่วมกัน ภายใต้ขอบเขตการดำเนินงาน 3 ด้าน คือ ร่วมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาชุดตรวจทางการแพทย์สำหรับการคัดกรองโรคติดเชื้อทางเดินหายใจและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง, ร่วมดำเนินการทดสอบมาตรฐานการใช้งานชุดตรวจทางการแพทย์ และร่วมหาแนวทางการในการขยายผลการนำนวัตกรรมชุดตรวจไปใช้ประโยชน์ในระบบสาธารณสุข" ผศ.ดร.ธนากรกล่าว

ผู้บริหารนาโนเทคชี้ว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ จะนำไปสู่การร่วมด้วยช่วยกันขยายผลการใช้ชุดตรวจทางการแพทย์ที่พัฒนาโดยนักวิจัยไทยสำหรับการคัดกรองโรคติดเชื้อทางเดินหายใจและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังไปสู่การใช้ประโยชน์ในระบบสาธารณสุขของไทย ลดการนำเข้าชุดตรวจจากต่างประเทศ นำสู่การพัฒนาด้านนวัตกรรมการแพทย์ไทยเติบโตอย่างยั่งยืน รับนโยบายขับเคลื่อนไทยสู่ Medical Hub

นายแพทย์ดุสิต ขำชัยภูมิ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ขอนแก่น กล่าวว่า  สปสช. เป็นหน่วยงานที่เกิดขึ้นตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ทำหน้าที่บริหารจัดการงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพ ในการดูแลสุขภาพผู้มีสิทธิการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีจำนวนกว่า 49 ล้านคน ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนของโรคเรื้อรังไม่ติดต่อซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคไตวายเรื้อรัง เช่นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจ นับเป็นปัญหาสำคัญ เมื่อเกิดการเจ็บป่วยต้องพึ่งพายารักษา อุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยอย่างจริงจัง นับเป็นโรคที่ต้องใช้ค่ารักษาพยาบาลที่สูงและทำให้ต้องจ่ายค่ารักษาอย่างต่อเนื่อง การป้องกันและลดโรคไตเรื้อรัง โดยเน้นการคัดกรองโรคไตตั้งแต่ระยะแรก เข้าสู่การชะลอไตเสื่อมและการรักษาที่เป็นไปตามมาตรฐานอย่างรวดเร็ว ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลลง

โรคเรื้อรังที่กล่าวมานั้นมีสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครอบคลุมการดูแลตั้งแต่การคัดกรอง รักษา และฟื้นฟูสภาพหลังการเจ็บป่วย เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งรายใหม่และผู้ป่วยสะสมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้การบริหารจัดการงบประมาณต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ ทั้งยังต้องได้รับการสนับสนุน จากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานภาควิชาการ องค์กรวิชาชีพ ตลอดจนภาคีเครือข่ายในระบบหลักประกันสุขภาพ ในทุกกระบวนการในการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ และแนวทางการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพ

สำหรับ "นวัตกรรมชุดตรวจทางการแพทย์" ผลงานนักวิจัยไทยนั้น ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่นเผยว่า ภายหลังการลงนามความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ จะมีการผลักดันให้มีบทบาทในการเป็นเครื่องมือคัดกรองภาวะสุขภาพของคนไทย ทำให้คนไทยเข้าถึงการคัดกรองโรคได้ง่าย  ทำให้เข้าสู่กระบวนการรักษาในระยะแรกของโรค ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลสุขภาพของประชาชนได้เป็นอย่างดี ด้วยหลังว่า การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมโดยนักวิจัยไทย จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคเรื้อรังและช่วยให้การบริหารจัดการงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่าต่อไป

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น โครงการ CKDNET โดยมีรองศาสตราจารย์ศิริรัตน์ อนุตระกูลชัย คณะแพทยศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการกับ สวทช. (ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือนาโนเทค) ในปี 2563 โครงการฯ มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมที่คัดกรองโรคไตตั้งแต่ระยะแรกที่ต้นทุนต่ำ ใช้สะดวกและได้ผลคุ้มค่า โดยเป็นการนำนวัตกรรมไปใช้ในชุมชนและเปรียบเทียบผลลัพธ์ทางคลินิก รวมถึงศึกษาวิจัยโรคไตเรื้อรังชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุซึ่งสันนิษฐานว่ามีความเกี่ยวข้องกับมลภาวะสิ่งแวดล้อมในดิน แหล่งน้ำและอากาศ

สำหรับการประชุมเดินหน้าความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อขยายผลการใช้ประโยชน์นวัตกรรมชุดตรวจทางการแพทย์ในหน่วยงานสาธารณสุข ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างสามหน่วยงานในวันนี้ รศ.นพ.ชาญชัยกล่าวว่า จะขับเคลื่อนและขยายผลการใช้ประโยชน์นวัตกรรมชุดตรวจทางการแพทย์สำหรับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ "ร้อยแก่นสารสินธุ์" ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดกาฬสินธุ์ และ จังหวัดร้อยเอ็ด โดย CKDNET จะดำเนินการนำชุดตรวจจำนวน 4 ชุด ได้แก่ ชุดตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 "Nano COVID-19 Antigen Rapid Test" กับชุดตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ "NanoFlu Rapid Test" รวม 60,000 ชิ้น และชุดตรวจคัดกรองโรคไต "GO-sensor"กับ AL strip รวม 3,500 ชิ้น ส่งมอบชุดตรวจทดสอบใช้ในพื้นที่เป้าหมายพร้อมทั้งอบรมวิธีการใช้งาน และจะมีการประเมินผลลัพธ์ของโครงการฯ จากแบบประเมินความพึงพอใจต่อการใช้ผลิตภัณฑ์ของผู้ใช้งาน และบุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาล และประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในการลดค่าใช้จ่ายการนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์จากต่างประเทศ

ดร.เดือนเพ็ญ จาปรุง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน นาโนเทค สวทช. กล่าวว่า นาโนเทคทำงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญจึงได้พัฒนาชุดตรวจต่างๆ ไม่เฉพาะชุดตรวจทางการแพทย์ แต่มีทั้งชุดตรวจสารปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ดิน พืชสมุนไพร รวมถึงแพลตฟอร์มที่ใช้โครงสร้างระดับนาโนในการตรวจวัดและนำส่ง เช่น ไมโครนีดเดิล และนาโนพอร์ เป็นต้น ซึ่งในโครงการนี้จะเป็นการวิจัยพัฒนาและผลิตสินค้านวัตกรรมชุดตรวจแบบรวดเร็วทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานและตอบโจทย์ความต้องการด้านสาธารณสุขของประเทศ

4 ชุดตรวจ (Rapid Test) ที่จำเพาะต่อโรคที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของไทยที่นาโนเทค สวทช. พัฒนา ได้แก่ ชุดตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 "Nano COVID-19 Antigen Rapid Test" โดยการตรวจหาแอนติเจนที่จำเพาะกับเชื้อโควิด-19 แบบ Professional use ผ่านการประเมินประสิทธิภาพและประเมินเทคโนโลยีจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), ชุดตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ "NanoFlu Rapid Test" ใช้การตรวจหาโมเลกุลของนิวคลีโอโปรตีนจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั้งชนิดเอ และชนิดบี โดยใช้หลักการทางวิทยาภูมิคุ้มกันในการตรวจจับโมเลกุลเป้าหมายด้วยความจำเพาะ รวมถึง ชุดตรวจคัดกรองโรคไต "GO-sensor"และ AL strip ใช้ตรวจวัดปริมาณอัลบูมินในปัสสาวะ ซึ่งได้รับอนุญาตจาก อย.(สผ.) ให้เป็นสถานที่ผลิต และมีการประเมินผลทางคลินิกแล้วระดับหนึ่ง

"ความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงานในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จที่จะปูทางสู่การสร้างระบบนิเวศการวิจัยและแพลตฟอร์มการถ่ายทอดเทคโนโลยีชุดตรวจแบบรวดเร็วทางการแพทย์ให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนทำวิจัยและการต่อยอดสู่ภาคธุรกิจ ด้วยการบูรณาการความร่วมมือและเชื่อมโยงหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ โดยใช้เทคโนโลยีที่สามารถพัฒนาขึ้นได้ในประเทศ สร้างรากฐานการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และบริการการแพทย์ครบวงจร" ดร.เดือนเพ็ญชี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ