เอเจนท์รายใหญ่โควต้าต่างชาติ "แองเจิล เรียลเอสเตทฯ" มองสัญญาณบวกตลาดคอนโดฯ ฟื้นตัว เผยช่วงโควิด-19 กลุ่มคนมีฐานะ ไล่ช้อปซื้อเพนท์เฮ้าส์ บ้านขนาดใหญ่ ระบุจีนเปิดประเทศ กลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยตลาดหลัก กลุ่มนักลงทุนรอจังหวะกลับมา ชี้พฤติกรรมคนซื้อชาวจีน เลือกห้องชุดขนาด 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ เน้นพื้นที่ใช้ประโยชน์สูงสุด ไม่นิยมคอนโดแบบลอฟท์ สูงวัยขึ้นลงลำบาก ตั้งเป้าโกยยอดขายสูงสุด 25,000 ล้านบาท มองตลาด RTM ตอบโจทย์ลูกค้าจีน คาดโอนกรรมสิทธิ์ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ชูจุดแข็งแบรนด์แองเจิลฯ พารอดพ้นวิกฤต
นายไซม่อน ลี (Simon Lee) ประธานกรรมการ บริษัท แองเจิล เรียลเอสเตท คอนซัลแทนซี่ จำกัด (Angel Real Estate Consultancy Co.,Ltd.หรือ ARE) บริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาดและขายของประเทศไทย โดยเฉพาะโควต้าต่างประเทศ (Foreign Quota) โบรกเกอร์รายใหญ่ที่ทำตลาดในภูมิภาคเอเชีย เปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจที่จะต้องดำเนินการในปีพ.ศ.2566ว่า ทางแองเจิลฯจะกลับมารุกธุรกิจเอเจนท์ หลังจากในช่วงที่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทางบริษัทฯได้ปรับแนวทางดำเนินธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะตลาดที่หดตัวอย่างรุนแรง เนื่องจากในช่วงปีพ.ศ.2563-2565 (3 ปีที่ผ่านมา) ที่มีการระบาดไปทั่วโลก หลายประเทศจำกัดการเดินทาง (ล็อกดาวน์) ส่งผลให้ยอดขายและรายได้ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก แต่ด้วยความโชคดีในช่วงปีพ.ศ.2562 แองเจิลฯได้มีการลดต้นทุนลง เนื่องจากในตอนนั้น บริษัทอสังหาฯยอดขายขายโครงการดี แต่ราคาคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพมหานครสูงเกินไป (Over Priced) และราคาใกล้เคียงกับประเทศอังกฤษ และ สิงคโปร์ เป็นต้น
"ตอนนั้น ราคาคอนโดมิเนียมน่าจะ Over Priced แล้ว ทำให้เราต้องลดต้นทุนในการดำเนินงาน ลดพอร์ตที่ต้องบริหารจัดการลง ซึ่งการปรับขนาดองค์กร เพื่อให้สอดรับกับราคาคอนโดมิเนียมที่แพงขึ้น ทำให้ แองเจิลฯ ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก" นายไซม่อน กล่าว
นอกจากนี้ กลยุทธ์ในเรื่องการดูแลและบริหารสินค้า ช่วงที่เกิดโควิด-19 กลุ่มที่มีฐานะการเงินที่ดี ได้มองหาที่อยู่อาศัยนอกประเทศของตนเอง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับตนเองและครอบครัว ต้องการห้องเพนท์เฮ้าส์ หรือ บ้านขนาดใหญ่ ที่มีพื้นที่ค่อนข้างมาก ทำให้ต้องหาสินค้าที่สอดรับกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป เน้นทำตลาดระดับราคาแพง จากเดิมพอร์ตหลักราคาจะอยู่ที่ 5-15 ล้านบาทต่อยูนิต ปรับมาเจาะกลุ่มราคา 30 ล้านบาทขึ้นไปต่อยูนิต จนไปถึงระดับ 150 ล้านบาทต่อยูนิต
จีนเปิดบ้าน กระตุ้นตลาดบ้านหลังที่2ในไทย
สำหรับเรื่องที่จีนเปิดประเทศนั้น นายไซม่อน มองว่า ที่ผ่านมาก่อนการระบาดโควิด-19 จะมีทั้งกลุ่มนักลงทุนและผู้ที่ต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัย โดยแยกเป็น กลุ่มนักลงทุนจะมีสัดส่วนประมาณ 60% กลุ่มนี้ยังเติบโต และพอใจกับการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย เนื่องจากผู้ลงทุนจะมองในเรื่อง 1.ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน(ยิลด์)ระดับ 6% และ 2.อัตราส่วนต่างของกำไรที่ได้จากการขายต่ออสังหาฯนั้น ๆ (Capital Gains)ประมาณ 7% และส่วนอีก 40% จะซื้อเพื่ออยู่อาศัย ซึ่งเป็นภาพที่เราเห็นก่อนเกิดโควิด-19 แต่ช่วงระหว่างโควิด-19 ตลาดนักลงทุนหายไปหมด คงเหลือแต่กลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง เนื่องจาก 1. นักลงทุนไม่ได้รับผลตอบแทนจากยิลด์ที่ต้องการ ซึ่งลดหายไปเหลือกว่า 2-3% และกำไรจาก Capital Gains ยังลดลงอีก
" การที่จีนเปิดประเทศ ไม่ได้ทำให้ตลาดคอนโดมิเนียมกลับบูม ไม่หวือหวาเหมือนภาพปีพ.ศ.2560-2562 แต่จะค่อยๆ โต เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่นักลงทุนมอง แต่กระนั้น คนจีนหลายๆคน อยากจะออกมาเพื่อต้องการมีบ้านหลังที่สอง โดยหากเป็นชาวจีนที่มีฐานะดี จะไปซื้ออสังหาริมทรัพย์แพงๆที่ประเทศสิงคโปร์ และ ญี่ปุ่น ส่วนที่มีฐานะกลางๆ เลือกมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ระดับราคา 5-7.5 ล้านบาท (หรือประมาณ 1-1.5 ล้านหยวน) ซึ่งในปัจจุบัน ซัพพลายอสังหาฯที่อยู่ในตลาดประมาณร้อยละ 5-10 จะเป็นระดับลักชัวรี่ ที่เหลือร้อยละ 90 จะเป็นสินค้าระดับราคา 3-10 ล้านบาท สินค้ากลุ่มนี้ ตอบโจทย์ลูกค้าจีนอยู่แล้ว ดังนั้น ให้วิเคราะห์คงต้องใช้เวลาประมาณ 7-8 เดือนข้างหน้า หลังจีนเปิดประเทศจะส่งผลดีต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย"
คนจีนไม่ชอบคอนโดฯแบบลอฟท์-เลือก 2 ห้องนอน
นายไซม่อน กล่าวถึงทำเลศักยภาพ ที่คนจีนยังมีความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมว่า หลักๆยังเป็นทำเลเดิมที่คุ้นเคย ได้แก่ โซนสุขุมวิท ,สาทร ,สีลม ,รัชดาภิเษก ,พระราม9 ,รามคำแหง และเส้นศรีนครินทร์ (ที่อยู่ใกล้เมือง) จะขายดี แต่ก็ยังมีบางทำเล ที่คนจีนและคนต่างชาติอาจจะไม่คุ้นเคยเช่น แนวรถไฟฟ้าสายสีแดง ,สีชมพู หรือทำเลนนทบุรี เป็นต้น
ทั้งนี้ พฤติกรรมการซื้อของคนจีนตอนนี้เปลี่ยนแน่นอน ที่เห็นชัดเจนคือ จะเป็นกลุ่มที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง ซึ่งจะใส่ใจในเรื่องขนาดของห้องพักขึ้น โดยจะอยู่กับเรื่องโลเคชั่น เช่น ถ้าโครงการอยู่ไกลออกไปจะได้ห้องที่ใหญ่ขึ้น ,ฮวงจุ้ย หรือ ทิศทางที่เป็นมงคลและไม่ส่งผลต่อชีวิต ,สิ่งอำนวยความสะดวกที่สมบูรณ์ ,พัฒนาคุณภาพโครงการให้ดีต่อเนื่อง ,ลูกค้าเริ่มมองหาห้องชุดแบบ 2 ห้องนอน ต้องมี 2 ห้องน้ำ หรือมีขนาดเกินกว่า 50 ตารางเมตรขึ้นไป ,รูปแบบของห้องชุดต้องคำนึงถึงการใช้ประโยชน์สูงสุด และไม่ต้องการห้องชุดที่เป็นแบบห้อง 2 ชั้นเพดานสูง (Loft) เนื่องจากผู้สูงอายุจะขึ้นและลงลำบาก
"สิ่งที่ผมอยากเตือนผู้ซื้อที่เป็นชาวต่างชาติ ให้ระมัดระวังโครงการที่ยังไม่สร้าง (ขายกระดาษ) แต่ควรให้เอเจนท์เข้ามาช่วยศึกษาในการเลือกซื้อโครงการกับผู้ประกอบ การ ตรวจสอบเรื่องโฉนด มีการจ้างทนายที่ไว้ใจได้ ช่วยตรวจเช็กสัญญาจะซื้อจะขาย ขณะที่บัญชีผู้ซื้อควรมีความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง และต้องเตรียมพร้อมเรื่องหนังสือเดินทางเข้าประเทศไทยด้วย"
เป้าขายสูงสุด 2.5หมื่นลบ.- คาดยอดโอน RTM โต
นายไซม่อน กล่าวถึงเป้าหมายธุรกิจปีพ.ศ.2566 ว่า หลังจากปรับองค์กรมาและดำเนินกลยุทธ์ตามแนวทางให้สอดรับกับภาวะตลาด ทำให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีกำไรบ้าง โดยปัจจุบันมีพอร์ตที่บริหารอยู่ประมาณ 5 - 6 พอร์ตๆละกว่า 80 -100 ยูนิต และจะเพิ่มพอร์ตรวมเป็น 20 พอร์ต โดยวางเป้ายอดขายปีนี้ประมาณ 7,000 ล้านบาท จนไปสูงสุดที่ 25,000 ล้านบาท คาดจะสามารถทำยอดโอนกรรมสิทธิ์ได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท เติบโตมากกว่า 10% ขึ้นอยู่ว่าจะเน้นการขายห้องชุดพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ (Ready to move in หรือ RTM) หรือขายแบบพรีเซล เป็นต้น
กว่า10ปี แองเจิลฯ ดูแลลูกค้าและให้บริการตลอดมา
"จุดแข็งที่ลูกค้ายังเชื่อมั่นในแบรนด์แองเจิลฯ เพราะเรารับผิดชอบ ซึ่งเป็นแนวทางและนโยบายที่เราทำมาโดยตลอด ไม่ได้พึ่งมาทำวันนี้ ระยะเวลา 5- 10 ปี เราใส่ใจและติดต่อลูกค้าตลอดเวลา เวลาที่ลูกค้ามีปัญหา ทางทีมจะเข้าไปแก้ไขให้กับผู้ซื้อ เรามีระบบบริหารจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management หรือ CRM) และการใส่ใจต่อความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมองค์กร (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) ที่ต่อเนื่อง และสำคัญที่สุดที่ผ่านมา ธุรกิจโบรกเกอร์กว่าร้อยละ 95 ต้องปิดกิจการ เนื่องจากประสบกับวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เอเจนท์ที่แข็งแรงเหลืออยู่ประมาณร้อยละ 5 ซึ่งเราสามารถอ้างอิงลูกค้าเก่า (Reference) ได้ แองเจิลฯไม่ได้หายไปไหน".
.