กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย
รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึง การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2548 นี้ว่า เป็นเสมือนงานนัดหมายประจำปีของคนในแวดวงและผู้ที่สนใจวิทยาศาสตร์โดยทั่วไป และในปีนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มอบหมายให้สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นแกนกลางในการจัดงานดังเช่นทุกปี โดยส่วนกลางจะมีกำหนดจะจัดงานดังกล่าวขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 สิงหาคม 2548 นี้ ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (อพวช.) เทคโนธานี ต. คลองห้า อ.คลองหลวง ปทุมธานี และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2548 ในวันที่ 23 สิงหาคม นี้ ณ อิมแพค เมืองทองธานี
ช่วงงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาตินี้ เป็นช่วงเวลาอันสำคัญของทุก ๆ ปี มีพิธีถวายสักการะและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย เพื่อเป็นการเน้นให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพพระวิสัยทัศน์และพระพิริยะอันสูงส่งของพระองค์ที่ทรงศึกษา ค้นคว้า วิจัยและทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทย อันเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเอื้ออาทรต่อพสกนิกร ภายในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติปีนี้สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ จัดงานภายใต้หัวข้อสำคัญคือ “วิทยาศาสตร์คือความรู้สู่ความสำเร็จ” ภายในงานจะมีการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์โดยฝีมือของเด็กและเยาวชนไทย มีนิทรรศการเทคโนโลยีนาโนและของเล่นวิทยาศาสตร์ที่หลากหลาย เพื่อแสดงถึงศักยภาพของการศึกษาและการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อีกทั้งยังทำให้เกิดความตื่นตัวในการร่วมกันพัฒนาวงการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล นำไปสู่เป้าหมายแห่งการสร้างสรรค์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระตุ้นความสนใจใฝ่รู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ของเด็กและเยาวชนไทย งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีวันที่ 18 สิงหาคม จึงมีความสำคัญเนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงทำนายการเกิดสุริยุปราคาได้อย่างแม่นยำ เป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ชื่นชมของ
บรรดาพสกนิกรและชาวต่างประเทศ จึงได้รับการยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย โดยมีกระทรวงหลักที่ได้สนับสนุนด้านการเงินและบุคลากรคือ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี องค์กรที่ร่วมจัดงานได้แก่ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (อพวช.) องค์กรที่ให้การสนับสนุน ได้แก่ บริษัท ESSO จำกัด บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และขอขอบคุณสำหรับการจัดกิจกรรมเยาวชนและการเอื้อเฟื้อพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการขององค์พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (อพวช.) สำหรับการจัดงานในปีนี้ มีกลุ่มกิจกรรม อันได้แก่ การประกวดและการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ อาทิ การประกวดการพูดทางวิทยาศาสตร์ การประกวดวาดภาพจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ ฯลฯ การประกวดที่สำคัญมากคือ การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นให้เด็กมีความสนใจในแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ ได้ชมบูธนิทรรศการจัดแสดงวิทยาการใหม่ ๆ เกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยี การประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน ฯลฯ โดยเฉพาะเน้นให้รู้จักการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย ค่ายวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลอง) มีค่ายวิทยาศาสตร์ที่จัดขึ้นสำหรับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมทั้งค่ายเยาวชนช้างเผือกของเครือซิเมนต์ไทยด้วย ซึ่งได้ช่วยสนับสนุนการจัดค่ายและการจัดการประกวดแข่งขันทางวิทยาศาสตร์เป็นประจำทุกปี และยังมีกิจกรรมโครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย เป็นการประกวดเพื่อให้ได้ผู้ที่มีความสามารถในเชิงนวัตกรรม
กิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติที่จัดขึ้นตามจุดต่าง ๆ มีมากทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งมีจุดศูนย์รวมการจัดงาน ณ โรงเรียน สถาบันการศึกษาต่าง ๆ และมีการจัดในระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยด้วย การได้สัมผัสและเรียนรู้จะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกประทับใจ จึงเป็นกลไกอันสำคัญยิ่ง กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ได้ดียิ่งกว่าการเรียนในห้องเรียน และได้ผลมากกว่าหลายเท่านัก ขอขอบคุณสื่อมวลชนให้ความร่วมมือมีข่าวเผยแพร่ตลอดการแข่งขันทั้งช่วงก่อนและหลังงาน เพื่อให้คนทั่วไปได้ทราบโดยทั่วกัน โดยเฉพาะเด็ก ๆ และเยาวชนไทยที่ได้เห็นจะติดตามข่าวและรู้สึกตื่นเต้นตาม เสมือนการติดตามการแข่งขันกีฬาที่ต้องคอยลุ้นเหรียญรางวัล ซึ่งจะเป็นการสร้างบรรยากาศการแข่งขันการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ของสังคมไทยได้อย่างดีด้วย
การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติมีผลอย่างมากในการเรียนรู้ของเด็กและในแง่ของการพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก การขาดแคลนกำลังคนในประเทศไทยมีมาอย่างต่อเนื่อง แต่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นตามลำดับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ได้จับประเด็นสำคัญนี้มาหลายสิบปี การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ครั้งแล้วครั้งเล่านั้น มีความหมายมากสำหรับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ในแต่ละปีจะมีเด็กมาชมงานนับแสนคนจากทั่วประเทศเข้ามาสัมผัสและเรียนรู้วิทยาศาสตร สำหรับเด็กเป็นเสมือนการสร้างชีวิตใหม่ สร้างจิตสำนึก สร้างจิตวิญญาณใหม่และปลูกฝังแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ให้กับเด็ก ๆ ทำให้เด็กจำนวนมากเกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ และสร้างผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งแต่วัยเด็กไปจนกระทั่งถึงวัยผู้ใหญ่ จึงเป็นการกระตุ้นความสนใจในการเรียนรู้ของเด็กเพื่อการแข่งขันในระดับนานาชาติด้วย เพราะวิทยาศาสตร์คือความรู้ที่นำไปสู่ความสำเร็จ นอกจากการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์หรือวิทยาการต่าง ๆ รอบตัว แล้วมนุษย์ไม่ควรมองข้ามความเป็นตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง ควรมองกลับเข้าไปภายในจิตใจของตนเอง อาจทำให้มนุษย์ได้สัมผัสกับความรู้สึกของตนเอง ความเจริญทางจิตใจควรจะได้รับการพัฒนาควบคู่กันไปกับการเรียนรู้องค์ความรู้ที่หลากหลาย อันอาจจะนำไปสู่การค้นหาแก่นแท้ของชีวิตซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของมนุษย์
ช่วงงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาตินี้ เป็นช่วงเวลาอันสำคัญของทุก ๆ ปี มีพิธีถวายสักการะและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย เพื่อเป็นการเน้นให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพ พระวิสัยทัศน์และพระพิริยะอันสูงส่งของพระองค์ที่ทรงศึกษา ค้นคว้าวิจัยและทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทย อันเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเอื้ออาทรต่อพสกนิกร ภายในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติปีนี้มีการจัดแสดงบูธนิทรรศการ ณ ศูนย์การแสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยเน้นแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำมันแพงภายใต้สโลแกน“น้ำมันแพงวิทยาศาสตร์มีคำตอบ”
ขณะที่คนไทยทั้งประเทศเดือดร้อนด้วยเรื่องน้ำมันแพง เราต้องเหลียวกลับมามองว่าทรัพยากรเกษตรและสิ่งแวดล้อมรอบกาย ว่าสามารถจะนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตแก๊สโซฮอล์หรือพลังงานทดแทนอื่น ๆ เพื่อช่วยในการประหยัดพลังงานได้ นักวิจัยได้ค้นคว้าทดลองวิจัยกันอย่างขะมักเขม้น และเราก็ได้คำตอบแล้ว ขณะนี้พบพืช 5 ชนิดที่สามารถนำมาผลิตเป็นน้ำมันได้ นั่นคือ อ้อย มันสำปะหลัง สบู่ดำ น้ำมันปาล์มและข้าวฟ่างหวาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กำลังทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน เพื่อหาทางผลิตน้ำมันจากพืช 5 ชนิดแล้วนำมาทดแทนน้ำมันที่นำเข้า โดยเฉพาะไบโอดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันสบู่ดำที่สามารถใช้น้ำมันสบู่ดำ 100 เปอร์เซ็นต์กับเครื่องยนต์เกษตร โดยไม่มีกำมะถันในควันที่เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และชุดชาร์จแบตเตอรี่มือถือที่พัฒนาจากเซลล์แสงอาทิตย์ ฝีมือนักวิจัยไทยจากสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์พร้อมกันนี้ จะมีการเผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณาชุด “น้ำมันแพง วิทยาศาสตร์มีคำตอบ” ส่วนสัญลักษณ์ประจำงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ปีนี้คือ “มิสเตอร์ไบรท์แมน” ซึ่งเป็นคนที่ศีรษะเป็นรูปหลอดไฟและเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถาม และมีนายอนุชิต สพันธ์พงษ์หรือโอและนางสาวอคัมย์สิริ สุวรรณศุข หรือจั๊กจั่นนักแสดงจากค่ายเอ็กแซ็กมาประชาสัมพันธ์งานด้วย นักแสดงต่างรู้สึกยินดีกับการเป็นพรีเซนเตอร์งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ เนื่องจากตนเป็นคนที่ชอบวิทยาศาสตร์อยู่แล้วและอยากให้คนมาชมงานมากๆโดยบรรยากาศขณะแถลงข่าวการจัดงานนั้นมีศิลปินจากค่ายเอ็กแซ็กมาร่วมกิจกรรมหลายคน มีการจัดบูธเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ด้วยการจัดแสดงพระราชประวัติและผลงานด้านวิทยาศาสตร์ของทั้งสามพระองค์ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนระดับ ม.1-6 เข้าร่วมแข่งขันประกอบหุ่นยนต์จากวัสดุเหลือใช้ โดยเปิดรับสมัครเป็นทีม ๆ ละ 4 คน เข้าร่วมแข่งระหว่างวันที่ 24-28 ส.ค. 2548 นี้ ตั้งแต่เวลา 10.00-16.00 น. ณ บูธโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร ฮอลล์ 3 อิมแพค ซึ่งทีมชนะเลิศจะได้รับโล่เกียรติยศ จากผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) สนใจติดต่อ นางสาวอุไรวรรณ เทิดบารมี โทร. 0-2714-7212 แฟกซ์ 0-2714-7217 หรือดาวน์โหลดใบสมัครที่www.nstda.or.th/jstpจนถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2548 นี้ และยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีก อาทิ ห้องจำลองการเกิดแผ่นดินไหวและการเกิดคลื่นสึนามิ ภาพล่าสุดของปฏิบัติดีพอิมแพ็ค (Deep Impact) หุ่นยนต์แมวน้ำ “PARO” จากญี่ปุ่นที่ช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยและพูดได้ถึง 7 ภาษา รวมไปถึงนิทรรศการเพื่อร่วมฉลองปีฟิสิกส์โลก โดยจะได้ฟังเสียงจริงของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ลายมือและภาพถ่ายหายากของไอน์สไตน์มีการจัดแสดง ชุมชนวิทยาศาสตร์ตัวอย่างใน 3 ภาคของประเทศ โดยจะนำผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการส่งเสริมทางวิทยาศาสตร์มาจัดแสดง การจัดค่ายวิทยาศาสตร์จำลอง การขุดค้นพบฟอสซิล โชว์การเลี้ยงปลาน้ำจืดและปลาน้ำเค็มในตู้เดียวกัน การทดลองปลูกเห็ดยักษ์หายาก พร้อมการทำนายโรคร้ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ด้วยเทคโนโลยีดีเอ็นเอ เป็นต้น วิทยาศาสตร์จะมีคำตอบให้กับน้ำมันแพงหรือไม่ ไปพิสูจน์กันที่อิมแพ็คเมืองทองธานี23-28 สิงหาคม 2548 นี้--จบ--