นายระพีภัทร์ จันทร์ศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ภาคเหนือ ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการปลูกและพัฒนากาแฟทั้งระบบ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เชื่อมโยงตลาดนำการผลิต นำการวิจัย โดยบรูณาการร่วมกับหลายหน่วยงาน อาทิเช่น สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด โครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ฯลฯ พร้อมกับติดตามแปลงปลูกกาแฟอะราบิกาของเกษตรกร นายอานนท์ พวงแสน ณ บ้านปางบง ต.เทพเสด็จ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเกษตรกรได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 กาแฟอะราบิกา กระบวนการแปรรูปโดยวิธีกึ่งแห้งในกาแฟประกวดสุดยอดกาแฟไทยที่จัดขึ้นโดยกรมวิชาการการเกษตร ในปี 2565 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังติดตามแปลงกาแฟอะราบิกาอินทรีย์ และกระบวนการแปรรูปกาแฟอะราบิกาอินทรีย์ ณ The First Valley Coffee Academy บ้านแม่ตอนหลวง ต.เทพเสด็จ จ.เชียงใหม่ ของ นายเอก สุวรรณโณ กรรมการการประกวดสุดยอดกาแฟไทย ปี 2565 และผู้เชี่ยวชาญการแปรรูปกาแฟ ที่ใช้หลักตลาดนำการผลิต จนได้รับรองมาตรฐาน USDA Organic ผลผลิตไม่พอต้องความต้องการของตลาด
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทส่งเสริมองค์ความรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตกาแฟอะราบิกาคุณภาพ เช่น การปลูกและการดูแลรักษา การจัดการปุ๋ยและน้ำ การขยายเชื้อราบิวเวอร์เรียสายพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตร (DOA-B18) เพื่อป้องกันกำจัดมอดเจาะผลกาแฟอัตรา 400 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ของ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ร่วมกับการตัดแต่งกิ่ง การทำความสะอาดแปลง ทั้งนี้อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้แจก เชื้อราบิวเวอร์เรียและอุปกรณ์ ให้เกษตรกร นายก อบต. และกลุ่มสหกรณ์ด้วย
พร้อมกันนี้ กรมวิชาการเกษตรยังสนับสนุนต้นกล้ากาแฟอะราบิกา พันธุ์เชียงใหม่ 80 ซึ่งมีลักษณะต้นเตี้ย ข้อสั้น ให้ผลผลิตต่อไร่สูง คุณภาพดี กลิ่นหอม และ กาแฟอะราบิกาพันธุ์เชียงราย 1 และ 2 ที่มีลักษณะเด่นคือ ต้านทานต่อโรคราสนิมสูงทนทานต่อโรค และแมลงมากขึ้น ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรในพื้นที่ เกษตรกรได้รับความรู้ สร้างอาชีพ มีรายได้ และสามารถต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้รับจากกรมวิชาการเกษตร พัฒนากาแฟให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรยังเน้นย้ำ นโยบาย นางสาว มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สั่งด่านตรวจพืชของกรมวิชาการเกษตร ยกระดับการนำเข้าพืชและผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลักลอบการนำเข้าเมล็ดกาแฟที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกรภายในประเทศ
นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร ยังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรม การประกวดสุดยอดกาแฟไทยในปี 2566 (Thai Coffee Excellent 2023) ภายใต้แนวคิด "การผลิตอย่างยั่งยืน (Sustainable Coffee Production) กาแฟดูแลป่า รักษาต้นน้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพ" เพื่อประชาสัมพันธ์กาแฟไทย สร้างการรับรู้ จุดเด่นกาแฟไทย ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในระดับประเทศและระดับสากล และพัฒนาองค์ความรู้ เพิ่มทักษะผู้ประกอบการกาแฟ ในการยกระดับมาตรฐานคุณภาพ และเพิ่มมูลค่าของกาแฟไทย รวมทั้งยังเพิ่มการบริโภคและสร้างมูลค่ากาแฟที่ปลูกในประเทศไทยด้วย โดยผู้ที่สนใจส่งเมล็ดกาแฟเข้าร่วมประกวดสามารถสอบถามรายละเอียดการสมัครประกวดสุดยอดกาแฟไทย ปี 2566 เพิ่มเติมได้ที่ http://www.doa.go.th หรือ Facebook: ThaiCoffeeExcellence สถาบันวิจัยพืชสวน โทรศัพท์ 0-2940-5484 ต่อ 117 และศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ โทรศัพท์ 0-5311-4133 ต่อ 131" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว