นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานครตระหนักและให้ความสำคัญกับการลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งการกวดขันวินัยจราจร และการแก้ไขปรับปรุงด้วยหลักวิศวกรรมจราจร ผ่านการดำเนินการของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.กทม.) และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับเขต (ศปถ.เขต) โดย สจส.ได้พิจารณาข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากแหล่งต่าง ๆ อาทิ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ThaiRSC) ศูนย์ข้อมูลอัฉริยะไทย (iTIC) ศูนย์เอราวัณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งเรื่องร้องเรียนผ่านระบบ Traffy Fondue แล้วนำข้อมูลมาจัดลำดับความรุนแรงของอุบัติเหตุ เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุและพิจารณากำหนดแนวทางแก้ไขจุดเสี่ยงบริเวณต่าง ๆ โดยในปี 2566 สจส.มีเป้าหมายการแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงไม่น้อยกว่า 115 จุด เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปสร้างนวัตกรรมความปลอดภัยและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้จุดเสี่ยง เพื่อระมัดระวังในการขับขี่ต่อไป
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวว่า สนย.ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภค อาทิ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การประปานครหลวง (กปน.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (NT) เป็นประจำ ขณะเดียวกันได้กำชับผู้รับจ้างและผู้ควบคุมงานของหน่วยงานสาธารณูปโภคที่ขออนุญาตก่อสร้างในพื้นที่ผิวจราจรที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม.ให้เข้มงวดตรวจสอบงานก่อสร้าง โดยทุกโครงการจะต้องจัดให้มีไฟฟ้าส่องสว่างในพื้นที่และบริเวณโดยรอบให้เพียงพอ รวมถึงติดตั้งสัญญาณแจ้งเตือนให้ผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน กั้นรั้วแนวเขตก่อสร้างให้มิดชิด ติดตั้งป้าย - เครื่องหมายจราจรให้ชัดเจนและเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด นอกจากนั้น ยังได้มีหนังสือแจ้งผู้รับจ้างทุกโครงการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจจะส่งผลกระทบระหว่างการก่อสร้าง เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม มลภาวะ และไม่ปลอดภัยในชีวิตประจำวันของประชาชน พร้อมทั้งมอบหมายเจ้าหน้าที่ควบคุมงานกำกับติดตามและตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแก้ไขปรับปรุงเป็นระยะ ทั้งนี้ ได้กำชับผู้ควบคุมงานและผู้รับจ้างทุกโครงการให้ตรวจสอบโดยละเอียด หากพบปัญหาให้เร่งแก้ไขทันที เพื่อลดผลกระทบและป้องกันไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน