กรมธุรกิจพลังงานย้ำ NGV ปลอดภัยเกิน 100% ตอกย้ำพลังงานทางเลือกหมายเลข 1

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 16, 2008 09:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--กรมธุรกิจพลังงาน
กรณีการระเบิดของก๊าซธรรมชาติ NGV ที่เกิดขึ้นเป็นข่าว และกลายเป็นทอล์ก ออฟเดอะทาวน์ ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้สร้างความสับสนและความไม่มั่นใจให้เกิดขึ้นกับประชาชน และผู้บริโภค ที่เริ่มหันมาใช้ก๊าซ NGV เป็นพลังงานทางเลือกกันมากขึ้นในปัจจุบัน ที่ราคาน้ำมัน ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เกี่ยวกับความสับสนและความมั่นใจของผู้บริโภคในเรื่องของความปลอดภัยจากการใช้ก๊าซ NGV คงไม่มีใครตอบได้ดีกว่ากระทรวงพลังงาน ซึ่งมีกรมธุรกิจพลังงานเป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชน
นายเมตตา บันเทิงสุข อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า “กรณีที่เกิดขึ้น รถคันดังกล่าวใช้ถังเอ็นจีวีที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยซื้อถังเก่าไม่ได้มาตรฐานและนำมาติดตั้ง โดยพบว่าเป็นถังชนิดที่ 2 ซึ่งหากเป็นถังที่สมบูรณ์จะทำด้วยโลหะหุ้มด้วยไฟเบอร์กล๊าสอีกชั้น แต่ถังกล่าวถูกดัดแปลงโดยถอดไฟเบอร์กล๊าสออกและพ่นสี ทำให้ขณะเติมก๊าซ NGVไม่สามารถรองรับแรงดันใช้งานตามปกติได้ ซึ่งถังเอ็นจีวีจะต้องเป็นถังรองรับแรงดันสูงและยังพบว่ารถคันดังกล่าวไม่ผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ส่วนการระเบิดที่เกิดขึ้นนั้น ก็ไม่ใช่เป็นการระเบิดแบบติดไฟ เป็นเพียงการระเบิดจากแรงดันซึ่งไม่เกิดความเสียหายจากประกายไฟ เนื่องจากตามธรรมชาติของก๊าซ NGV แล้ว ไม่ใช่ก๊าซที่ติดไฟได้เร็วเหมือนก๊าซ LPG (ก๊าซหุงต้ม)
“กรณีระเบิดที่เกิดขึ้น กลายเป็นความเข้าใจผิดว่าก๊าซ NGVมีอันตรายร้ายแรง เพราะคำว่าระเบิดคือคำที่แสดงผลออกมาค่อนข้างร้ายแรง และคนฟังมักจะมองในเชิงลบเกี่ยวกับประกายไฟ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การระเบิดของก๊าซ NGV นั้นเป็นเพียงการระเบิดของแรงดัน และเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้ และได้ผล 100 % หากใช้อุปกรณ์ NGV ที่ได้มาตรฐาน และมีการติดตั้งจากอู่ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งรับรองได้ว่าจะมีความปลอดภัยสูงสุด”นายเมตตากล่าว
อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ได้อธิบายถึงการติดตั้งอุปกรณ์เอ็นจีวีอย่างคร่าวๆ ว่าการติดตั้งมีสองระบบ คือระบบหัวฉีดกับระบบดูดก๊าซต้องเลือกให้เหมาะสมกับรถยนต์ของคุณถ้าเลือกไม่ถูกต้องก็มีปัญหาตามตำราบอกว่าถ้ารถคุณมีท่อร่วมไอดีเป็นพลาสติก นั่นหมายถึงเป็นรถยนต์รุ่นใหม่ควรติดระบบหัวฉีด แต่ถ้าท่อร่วมไอดีเป็นโลหะก็แปลว่าเป็นรถรุ่นเก่า ต้องใช้ระบบดูดก๊าซ ซึ่งสำหรับรถยนต์ที่ใช้ดีเซลจะต้องติดตั้งในระบบดูดก๊าซ ซึ่งดีเซลและเอ็นจีวีจะทำงานควบคู่กันไป
วิธีง่ายๆ เพื่อติดตั้ง NGV ให้มั่นใจและปลอดภัย
สิ่งที่จะช่วยตอกย้ำถึงความปลอดภัยในการใช้ NGV กลายเป็นคำถามที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในมาตรฐานของอุปกรณ์ และความมั่นใจเกี่ยวกับการติดตั้ง NGV ซึ่งประชาชนสามารถสังเกตได้จาก
1. อู่ติดตั้งเอ็นจีวีจะต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก
2. ช่างที่ติดตั้งเครื่องยนต์เอ็นจีวีจะต้องมีใบประกาศนียบัตรจากกรมธุรกิจพลังงาน
3. หลังจากติดตั้งแล้วจะต้องผ่านการรับรองจากผู้ตรวจรับรองระบบหรือวิศวกร
เหล่านี้เราสามารถขอดูได้จากอู่ที่เข้าไปติดตั้ง ซึ่งจะต้องแสดงหลักฐานให้ดู ดังนั้นหากไม่มีหลักฐานดังกล่าว ไม่ควรหลงเชื่อ ด้วยค่าติดตั้งราคาถูก หากต้องแลกกับชีวิต รวมถึงคนรอบข้างที่จะต้องรับผลกระทบ
นอกจากอู่ติดตั้ง NGV ที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบกแล้ว ยังมีการให้การรับรองอู่ติดตั้งมาตรฐานดีเยี่ยม สำหรับรถยนต์ขนาดเล็ก รถยนต์ขนาดใหญ่ และอู่สาขาของอู่มาตรฐานสำหรับรถยนต์ขนาดเล็กจากคณะกรรมการรับรองมาตรฐานสถานประกอบการติดตั้งอุปกรณ์ NGV ถือเป็นความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน คือ กรมธุรกิจพลังงาน กรมการขนส่งทางบก และ ปตท. เพื่อให้การรับรองมาตรฐานอู่ติดตั้งอุปกรณ์ NGV ที่ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินด้วยมาตรฐานในเรื่องสถานที่ เครื่องมือและอุปกรณ์ บุคลากร การจัดการ และการบริการของอู่ ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวน 22 แห่ง ประกอบด้วยกรุงเทพฯและปริมณฑล 19 แห่งและต่างจังหวัดจำนวน 3 แห่ง ที่ได้รับมอบป้ายรับรองมาตรฐานดีเยี่ยมจากคณะกรรมการฯ ติดตั้งไว้หน้าสถานประกอบการฯ
ทั้งนี้ รถยนต์ที่ติดตั้งอุปกรณ์ NGV นอกจากจะต้องดำเนินการตรวจสภาพในปีแรกหลังการติดตั้งแล้ว เมื่อใช้งานครบ 1 ปี ต้องเข้ารับการตรวจและทดสอบเครื่องอุปกรณ์กับผู้ตรวจและทดสอบที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบกและเมื่อครบอายุการใช้งานทุกๆ 5 ปี ต้องนำรถไปตรวจและทดสอบถังก๊าซเพื่อความปลอดภัยในระยะยาว
โดยวิธีการตรวจสอบข้อมูลจากใบรับรองการตรวจและทดสอบ และเอกสารที่เกี่ยวข้องจากผู้ตรวจและทดสอบจะมีการระบุรายละเอียด ดังนี้ หมายเลขถังก๊าซ ชนิดถังก๊าซ ความดันใช้งานสูงสุด ความจุ วันเดือนปีที่ผลิต วันเดือนปีที่ผ่านการทดสอบครั้งสุดท้าย และมาตรฐานที่ใช้ในการผลิต หรือสามารถดูจากมาตรฐานสากลที่ระบุบนตัวถังว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดหรือไม่ หรือตรวจสอบหมายเลขถังบนตัวถังกับฐานข้อมูลถังที่ใช้บรรจุก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในยานพาหนะของกรมการขนส่งทางบก
ดูถังยังไงให้ปลอดภัย
ถังบรรจุก๊าซ NGV ถือเป็นเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากสำหรับการใช้ก๊าซธรรมชาติอัด เพราะต้องเป็นตัวบรรจุก๊าซซึ่งมีความดันสูงถึง 3,000-3,600 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว
ปัจจุบันมีการผลิตถังก๊าซอยู่ 4 ประเภท ได้แก่
ประเภทที่ 1 ถังที่ทำด้วยเหล็ก หรือ อลูมิเนียม
ประเภทที่ 2 ถังที่ทำด้วยเหล็ก หรือ อลูมิเนียม และหุ้มด้วยวัสดุใยแก้ว หรือ เส้นใยคาร์บอน
ประเภทที่ 3 ถังที่ทำด้วยแผ่นอลูมิเนียมที่บางกว่าชนิดที่ 2 และหุ้มด้วยวัสดุใยแก้วหรือเส้นใยคาร์บอนตลอดตัวถัง
ประเภทที่ 4 ถังที่ทำด้วยแผ่นพลาสติกและหุ้มด้วยวัสดุใยแก้วและเส้นใยคาร์บอนผสมกันวัสดุใยแก้ว (Fiberglass)
การทดสอบถัง NGV
จากการทดสอบ ถัง NGV ซึ่งเป็นถังเหล็กขนาด 70 ลิตรน้ำ ทั้ง 4 วิธี คือ
1.ทดสอบการยิงด้วยปืนกลหัวกระสุนขนาด 7.62 มม. โดยการยิงทะลุถัง NGV ซึ่งไม่เกิดการระเบิด ซึ่ง การทดสอบนี้เพื่อ ให้แน่ใจว่าถึง แม้จะมีอุบัติเหตุ ทำให้ถังถูกเจาะทะลุก็ไม่เกิดการระเบิดขึ้น
2.การทดสอบว่าด้วยเรื่องความดันที่ทำให้ถังแตก โดยการอัดน้ำเข้าไปในถัง NGV เปล่า ซึ่งความดัน น้ำจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถังแตก แต่ ความดันน้ำ จะไม่ต่ำ กว่า 450 บาร์ ซึ่งในวันนี้สามารถใช้ความดันน้ำ ถึง 600 บาร์ หรือแรงดันเป็น 3 เท่าของความดันปกติ
3.ทดสอบไฟไหม้ถัง NGV โดยการบรรจุก๊าซในถังให้มีความดันเท่ากับความดันใช้งานเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีการ ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกัน ไม่ให้ เปลวไฟ สามารถไหม้ ตัวถังโดยตรง คือ เมื่อไฟไหม้หัวถังก็จะมีวาล์วอัตโนมัติ จะระบาย ก๊าซออกมาจนหมด โดยไม่เกิดความเสียหายกับเนื้อถัง ซึ่ง การ ทดสอบนี้แน่ใจ ได้ว่าระบบป้องกัน ความ ปลอดภัย บริเวณหัวถังจะมีวาล์วพอัตโนมัติ สามารถระบายก๊าซ ที่บรรจุในถังได้โดยไม่เกิดการระเบิด โดยวาล์วนี้เมื่อความร้อนเผา ที่วาล์วหัว ถังโดยตรง จนเกินจุดที่ตั้งไว้จากผู้ผลิตวาล์ว จะปล่อยก๊าซออกมา ก่อนที่ถังจะระเบิดเอง
4.ทดสอบการชนของรถที่ติดตั้งถัง NGV ด้วยความเร็ว 30 g (30 เท่าของแรงดึงดูดของโลก)ซึ่งเป็นความแรงที่ สามารถทำให้ถังหลุดจากตัวรถ ได้ โดยทดลองนี้ เป็นการจำลองในกรณีที่รถมีน้ำหนักรวมไม่เกิน 3.5 ตัน ซึ่ง มีการ ติดตั้งถัง NGV ทั้งตามยาว และตามขวาง ซึ่งหากถังหลุด ออก มาตกกระแทกพื้น แต่ก็ไม่เกิดการระเบิด หรือ ลุกไหม้แต่อย่างใด
การทดสอบข้อที่ 1-3 เป็นการทดสอบตามมาตรฐาน ISO 11439 และการทดสอบข้อที่ 4เป็นการทดสอบ มาตรฐาน ISO 15501-1 ซึ่งการ ทดสอบ ในครั้งสามารถ แสดงให้เห็นว่าถัง NGV ที่ได้มาตรฐานมีความปลอดภัยสูง และก๊าซ NGV เป็นก๊าซสำหรับยานยนต์ที่มีความปลอดภัยสูง
ข้อดีข้อเสีย NGV กับ LPG
ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ( LPG ) หรือ “ก๊าซหุงต้ม” จึงเป็นก๊าซที่หนักกว่าอากาศ โดยตัว LPG เองไม่มีสี ไม่มีกลิ่นเช่นเดียวกับก๊าซธรรมชาติ แต่เนื่องจากเป็นก๊าซที่หนักกว่าอากาศจึงมีการสะสมและลุกไหม้ได้ง่าย จึงมีข้อกำหนดให้เติมสารมีกลิ่น เพื่อเป็นการเตือนภัยหากเกิดการรั่วไหล LPG ส่วนใหญ่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือนและกิจการอุตสาหกรรม โดยบรรจุเป็นของเหลวใส่ถังที่ทนความดันเพื่อให้ขนถ่ายง่าย นอกจากนี้ยังนิยมใช้แทนน้ำมันเบนซินในรถยนต์
เนื่องจากราคาถูกกว่า และมีค่าออกเทนสูงถึง 105 RON LPG เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแยกน้ำมันดิบในโรงกลั่นน้ำมัน หรือการแยกก๊าซธรรมชาติในโรงแยกก๊าซ มีสถานะเป็นของเหลว ต้องทำให้เป็นก๊าซก่อนนำไปใช้งาน ส่วน NGV มีสถานะเป็นก๊าซเพียงผ่านความดันก็นำไปใช้ได้เลย
อย่างไรก็ตาม แม้ก๊าซทั้งสองประเภทจะมีความแตกต่างกัน แต่ก็มีคุณสมบัติเป็นเชื้อเพลิงที่ติดไฟ เพราะฉะนั้นผู้ใช้ต้องใส่ใจปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
NGV ราคาถูก คืนทุนไว ปี 51 ผุดปั๊ม NGV 330 แห่ง
ทั้งนี้ การใช้ก๊าซ NGV จะช่วยให้ผู้บริโภคทั้งหลายที่หันมาใส่ใจเรื่องของความปลอดภัยระยะยาวแล้วยังประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องของน้ำมันได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก NGV เป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาจำหน่ายถูกที่สุด โดยปัจจุบันราคา NGV จำหน่ายที่ 8.5 บาทต่อกิโลกรัม จากส่วนต่างราคาเชื้อเพลิงดังกล่าว จะทำให้ผู้ที่สนใจจะลงทุนใช้ NGV สามารถคืนทุนค่าติดตั้งอุปกรณ์ NGV ได้ในเวลาไม่นานหรือขึ้นอยู่กับระยะทางที่ใช้งาน
การสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้ NGV นอกจากในเรื่องของความปลอดภัยแล้ว ในแง่ของการรณรงค์เพื่อให้เกิดการใช้ที่แพร่หลายมากขึ้นก็เป็นอีกภาระหน้าที่หนึ่งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง “กรมธุรกิจพลังงาน” ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีบทบาทในด้านการสร้างความมั่นใจเพื่อให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานทดแทนก๊าซ NGV มากขึ้น พร้อมทั้งยืนยันในบรรดาพลังงานทางเลือกทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะนี้ ก๊าซ NGV เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ทั้งในเรื่องของความปลอดภัย ความประหยัด และประสิทธิภาพสำหรับยานยนต์ และเพื่อให้เกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้น ทางภาครัฐและเอกชนได้มีการก่อสร้างสถานีแม่ เพื่อเป็นสถานีหลักในการจัดส่งก๊าซ NGV ให้ครอบคลุมตามหัวเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งภายในปี 2551 ประเทศไทยจะมีสถานีเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 180 สถานี เป็น 330 สถานี
ภาพของการใช้พลังงานในปัจจุบัน คือ พลังงานหลักมีราคาที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและยังมีแนวโน้มของราคาเป็นขาขึ้น พลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกที่มีประสิทธิภาพที่สุดในขณะนี้ ยังคงต้องเป็นพลังงานธรรมชาติจากก๊าซ NGV ที่มีข้อดีในแง่ของการรักษาสิ่งแวดล้อม ความประหยัดคุ้มค่า และความปลอดภัย ซึ่งในด้านความปลอดภัยนั้น หากการติดตั้งมีมาตรฐานผ่านการตรวจสอบแล้ว ต้องถือได้ว่าก๊าซ NGV มีความปลอดภัยสูงกว่าพลังงานชนิดอื่นๆ
คำถามต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับ NGV บางครั้งจึงเป็นเพียงการบอกเล่ากันปากต่อปาก หากแต่ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องสำหรับ NGV นั้น เมื่อทำความเข้าใจและได้รับข้อมูลที่ถูกต้องแล้ว คงต้องยอมรับว่า NGV สมกับที่เป็นพลังงานทางเลือกเบอร์หนึ่งในปัจจุบัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ