๑๔ เม.ย.๕๑ เสียชีวิต ๔๙ ราย สะสม ๔ วัน ๒๒๙ ราย ลดลง ๗ ราย

ข่าวทั่วไป Wednesday April 16, 2008 09:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--ปภ.
ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี ๒๕๕๑ แถลงสถิติอุบัติเหตุทางถนนในวันที่ ๑๔ เม.ย. ๕๑ มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ๗๑๑ ครั้ง ผู้เสียชีวิต ๔๙ ราย ผู้บาดเจ็บ ๘๐๑ ราย รวมอุบัติเหตุสะสม ๔ วัน (๑๑ — ๑๔ เม.ย. ๕๑) มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น รวม ๒,๙๔๙ ครั้ง ผู้เสียชีวิต ๒๒๙ ราย ผู้บาดเจ็บ ๓,๓๑๕ ราย โดยจังหวัดยโสธรไม่เกิดอุบัติเหตุ ยอดอุบัติเหตุสะสมมีแนวโน้มลดลง ประชาชนเริ่มทยอยเดินกลับแล้ว ศปถ.ประสานตำรวจทางหลวงเปิดช่องทางเดินรถพิเศษ เพื่อรองรับการเดินทางกลับที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเข้มงวดตรวจจับ ผู้ขับขี่ยานพาหนะที่กระทำผิดกฎหมาย ทั้งรถกระบะที่บรรทุกผู้โดยสารจำนวนมาก รถโดยสารไม่ประจำทาง และการจอดรถซื้อของฝากริมทาง เป็นพิเศษ หากประสบอุบัติเหตุ สามารถติดต่อหน่วยกู้ชีพฉุกเฉิน ๑๖๖๙ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง
นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน คนที่ ๔ ประธานแถลงข่าวสถิติผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ จากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี ๒๕๕๑ ประจำวันที่ ๑๔ เม.ย. ๕๑ ซึ่งรวบรวมโดยศูนย์อำนวยการป้องกันและ ลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี ๒๕๕๑ ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ๗๑๑ ครั้ง น้อยกว่าปี ๒๕๕๐ (๗๘๙ ครั้ง) จำนวน ๗๘ ครั้ง ร้อยละ ๙.๘๙ ผู้เสียชีวิต ๔๙ ราย น้อยกว่าปี ๒๕๕๐ (๖๗ ราย) จำนวน ๑๘ ราย ร้อยละ ๒๖.๘๗ ผู้บาดเจ็บ ๘๐๑ ราย น้อยกว่า ปี ๒๕๕๐ (๘๘๖ ราย) จำนวน ๘๕ ราย ร้อยละ ๙.๕๙ สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดเกิดจากเมาสุรา ร้อยละ ๔๔.๗๓ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ ๘๑.๒๖ อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ ๓๘.๑๒ รองลงมา ได้แก่ ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ ๓๑.๙๓ จุดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ทางตรง ร้อยละ ๖๐.๙๐ สำหรับช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงพลบค่ำ เวลา ๑๖.๐๑ — ๒๐.๐๐ น. ร้อยละ ๓๖.๕๗ ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บมีอายุระหว่าง ๑๕ — ๑๙ ปี คิดเป็นร้อยละ ๑๗.๙๕ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เพชรบูรณ์ ๕๓ ครั้ง จังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ มี ๑ จังหวัด ได้แก่ ยโสธร จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เพชรบูรณ์ ระยอง สุพรรณบุรี จังหวัดละ ๔ ราย รองลงมา ได้แก่ ขอนแก่น น่าน จังหวัดละ ๓ ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต รวม ๔๒ จังหวัด จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บมากที่สุด ได้แก่ เพชรบูรณ์ ๕๔ ราย รองลงมา ได้แก่ สุพรรณบุรี ๓๒ ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บ มี ๑ จังหวัด ได้แก่ ยโสธร ทั้งนี้ ทั่วประเทศมีการจัดตั้งจุดตรวจ รวม ๓,๐๓๗ จุด มีผู้ปฏิบัติงาน รวม ๘๙,๙๔๔ คน และได้เรียกตรวจยานพาหนะ ๗๗๐,๕๔๗ คัน พบผู้กระทำผิด รวม ๕๑,๔๓๖ คน ส่วนใหญ่ถูกดำเนินคดีเนื่องจาก ไม่สวมหมวกนิรภัยมากที่สุด ๑๘,๑๒๓ คน รองลงมา ได้แก่ ไม่มีใบขับขี่ ๑๗,๘๕๘ คน นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสมาชิก อปพร. ในพื้นที่ จัดตั้งจุดตรวจภายในชุมชน ได้แก่ จุดสกัดกั้น ๑๐,๘๗๕ จุด จุดบริการ ๓,๓๐๒ จุด เพื่อปรามผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงมิให้ออกไปสร้างความเดือดร้อนหรือเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุทางถนน
อุบัติเหตุทางถนนสะสม ๔ วัน (วันที่ ๑๑ — ๑๔ เม.ย. ๕๑) มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น รวม ๒,๙๔๙ ครั้ง มากกว่าปี ๒๕๕๐ (๒,๘๒๑ ครั้ง) จำนวน ๑๒๘ ครั้ง ร้อยละ ๔.๕๔ ผู้เสียชีวิต รวม ๒๒๙ ราย น้อยกว่าปี ๒๕๕๐ ( ๒๓๖ ราย) จำนวน ๗ ราย ร้อยละ ๒.๙๗ ผู้บาดเจ็บ รวม ๓,๓๑๕ ราย มากกว่า ปี ๒๕๕๐ (๓,๑๘๒ ราย) จำนวน ๑๓๓ ราย ร้อยละ ๔.๑๘ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย ๑๓๑ ครั้ง รองลงมา ได้แก่ เพชรบูรณ์ ๑๒๙ ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เพชรบูรณ์ ๑๑ ราย รองลงมา ได้แก่ พิษณุโลก ๑๐ ราย จังหวัดที่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต รวม ๑๒ จังหวัด จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย ๑๓๖ ราย รองลงมา ได้แก่ เพชรบูรณ์ ๑๓๔ ราย
นายไชยา กล่าวต่อไปว่า ในช่วงเย็นวันนี้คาดว่าถนนหลายสายที่มุ่งเข้าสู่กรุงเทพฯ เริ่มมีปริมาณรถหนาแน่น เนื่องจากประชาชนเริ่มทยอยเดินทางกลับบ้างแล้ว ทำให้ต้องใช้เวลาในการเดินทางนานกว่าปกติ ประกอบกับการเดินทางติดต่อกันหลายวัน อาจทำให้ผู้ขับรถมีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ศปถ. จึงได้ประสานให้จุดตรวจตามจังหวัดที่มีเส้นทางสายหลักเข้าสู่กรุงเทพฯ เข้มงวดกวดขันการตรวจจับ เพื่อชะลอความเร็ว และตรวจสอบสภาพความพร้อมของผู้ขับรถ โดยเฉพาะการง่วงและเมาแล้วขับ รวมทั้งขอให้ตำรวจทางหลวง ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดช่องทางเดินรถพิเศษ เพื่อรองรับปริมาณการเดินทางที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนเข้มงวดตรวจจับผู้ขับขี่ยานพาหนะที่กระทำผิดกฎหมาย ทั้งรถกระบะที่บรรทุกผู้โดยสารจำนวนมาก รถโดยสารไม่ประจำทาง ซึ่งผู้ขับขี่ไม่มีความชำนาญเส้นทาง และต้องขับรถในระยะไกลเป็นเวลานาน อาจทำให้มีอาการง่วงนอน และอ่อนเพลีย ส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ นอกจากนี้ หากผู้ประสบเหตุอุบัติเหตุทางถนน ต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อหน่วยกู้ชีพฉุกเฉิน ได้ทางสายด่วน ๑๖๖๙ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมหน่วยปฏิบัติการระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ จำนวน ๕,๗๙๑ หน่วย ทำให้สามารถให้การช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ภายใน ระยะเวลา ๑๐ — ๑๕ นาที
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง ๔ วันที่ผ่านมา จำนวนผู้บาดเจ็บ เพิ่มสูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักจากการเมาสุราแล้ว ขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย บนถนนสายรองในตำบล หมู่บ้าน จึงได้ประสานจังหวัดให้กำชับด่านตรวจเฝ้าระวังผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกนิรภัยเป็นพิเศษ และก่อนเดินทางกลับ ขอให้นำรถไปตรวจสอบสภาพ ยาง เบรก และเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน จากจุดบริการของหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งตั้งอยู่ตามเส้นทางสายหลักทั่วประเทศ เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จำนวน 52 จุด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา 311 แห่ง อีกทั้งการขับรถทางไกลเป็นระยะเวลานาน และการเดินทางติดต่อกันหลายวัน อาจทำให้ผู้ขับขี่มีอาการง่วงนอน และอ่อนเพลียในขณะขับรถ ขอให้จอดแวะพักตามจุดบริการ จุดพักรถ หรือสถานีบริการน้ำมัน เพื่อพักผ่อนจนร่างกายมีความพร้อม ค่อยขับรถต่อไป นอกจากนี้ ขอให้เพิ่มความระมัดระวังในการจอดรถบนไหล่ทาง เพื่อแวะพักซื้อของที่ระลึก หรือของฝากตามริมทาง ซึ่งนอกจากจะมีความผิดทางกฎหมาย แล้ว ยังทำให้การจราจรติดขัด และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ