นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวกรณีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศแจ้งเตือนสภาพอากาศแปรปรวน ระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกถึงวันที่ 17 ก.พ.นี้ว่า
กรุงเทพมหานคร โดย สนน.ได้เร่งลดระดับน้ำตามคูคลองต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับต่ำ ขณะเดียวกันได้สำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชนและพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมในถนนซอย ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง เปิดทางน้ำไหล จัดเก็บขยะวัชพืช รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เก็บขยะตะแกรงท่อระบายน้ำ ขยะหน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำ และบ่อสูบน้ำในขณะที่มีฝนตก เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลเข้าระบบได้สะดวกรวดเร็ว รวมทั้งตรวจสอบประสิทธิภาพและความพร้อมการใช้งานของอุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง สถานีสูบน้ำ 190 แห่ง ประตูระบายน้ำ 243 แห่ง บ่อสูบน้ำ 329 แห่ง จัดเตรียมสำรองเครื่องสูบน้ำชนิดดีเซล ชนิดไฟฟ้ากรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เตรียมเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่ (โมบายยูนิต) พร้อมรถเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง สำรวจติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำตามคลองต่าง ๆ จัดเจ้าหน้าที่หน่วยเร่งด่วน (BEST) พร้อมเครื่องมืออุปกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหา รวมถึงการเข้าพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที พร้อมทั้งประสานการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กรณีไฟฟ้าดับ หรือเหตุฉุกเฉิน และประสานหน่วยงานที่มีโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ยังไม่แล้วเสร็จให้เร่งดำเนินการ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบระบายน้ำของ กทม. เช่น กรมทางหลวง โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ (รฟม.)
นอกจากนั้น ยังได้ประกาศแจ้งเตือนอากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบนที่จะมีผลกระทบถึงวันที่ 17 ก.พ.66 ผ่านเว็บไซต์สำนักการระบายน้ำ http://dds.bangkok.go.th/ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ติดตาม และแจ้งสถานการณ์ฝนให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้าแบบเรียลไทม์ เพื่อวางแผนการเดินทาง หรือหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีน้ำท่วมขังผ่าน http://dds.bangkok.go.th/ www.prbangkok.com Facebook:@BKK.BEST สำนักงานประชาสัมพันธ์ Twitter:@BKK_BEST สำนักงานประชาสัมพันธ์ รวมถึงรับแจ้งเหตุปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ที่สายด่วน 1555 ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร.02 248 5115 หรือแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่อไป
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กล่าวว่า สปภ.ได้แจ้งสำนักงานเขตให้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยของต้นไม้ขนาดใหญ่ในพื้นที่สาธารณะและถนนสายต่าง ๆ ตลอดจนเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์กรณีเกิดเหตุต้นไม้ฉีกหัก หรือโค่นล้มจากพายุฝนและลมกระโชก โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลักและพื้นที่ชุมชนที่อาจส่งผลกระทบต่อการสัญจรและความปลอดภัยของประชาชน ส่วนกรณีต้นไม้ที่ปลูกในพื้นที่เอกชนให้ประสานเจ้าของพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินการให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย เร่งรัดตรวจตราอาคารสถานที่ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งก่อสร้างที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อตรวจสอบซ่อมแซมให้มั่นคงแข็งแรงตามอำนาจหน้าที่ หากมีเหตุพายุฝนและลมกระโชกแรงเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อสาธารณชนและก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐ อันเป็นสาธารณภัยตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ขอให้ผู้อำนวยการเขต ในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานคร สำรวจความเสียหายต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ประสบภัยและทรัพย์สินที่เสียหายและออกหนังสือรับรองให้ผู้ประสบภัยไว้เป็นหลักฐาน เพื่อขอรับการสงเคราะห์และฟื้นฟูจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบเหตุสาธารณภัย ซึ่งเกิดขึ้นจากพายุ ฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง สามารถขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 199 ตลอด 24 ชั่วโมง
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม. กล่าวว่า สนท.ได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ ตรวจตราบริเวณถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชน พื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมขัง พื้นที่ที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า และพื้นที่เขตรอยต่อกรุงเทพฯ เพื่อตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้ายโฆษณา ป้ายหาเสียงผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พร้อมทั้งประสานเจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไข หรือปรับปรุงให้มีความมั่นคงและแข็งแรง
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวว่า ได้ประสานสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต กำชับเจ้าของป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ให้ตรวจสอบการใช้งานและความมั่นคงแข็งแรงของป้าย หากเป็นป้ายที่ถูกกฎหมายแต่มีสภาพเก่า ชำรุด อันอาจก่อให้เกิดภยันตราย ต้องมีคำสั่งให้เจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไข หรือให้รื้อถอนและดำเนินคดีกับเจ้าของป้ายที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเร่งรัดการรื้อถอน รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอยู่ห่างจากป้ายโฆษณาที่อาจล้ม หรือหักโค่นในขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง