กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์
หากวันนี้ใครมีโอกาสผ่านไปมาบริเวณถนนเก่าแก่สามย่าน และอังรีดูนังต์ คงได้เห็นความยิ่งใหญ่ของโครงการจัตุรัส จามจุรี (Chamchuri Square) แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารเมทัลลิกสูงเด่นตระหง่านที่สามารถปรับภูมิทัศน์ถนนดั้งเดิม สู่การผสมผสานของย่านธุรกิจทันสมัยอันหลากหลาย พร้อมด้วยความปลอดภัยจากการใช้วัสดุประกอบอาคารกันไฟ
เบื้องหลังความสมบูรณ์แบบของโครงการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้คือ คุณชุติมา อรรถวรรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวเรือใหญ่ในการจัดสรรพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งหมด ซึ่งเริ่มดำเนินการปรับปรุงเต็มรูปแบบ หลังจากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวในปี 2547 โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายอยู่ในระดับบน เพื่อสร้างศูนย์กลางความรู้คู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเลือกกิจกรรมที่อยู่ในความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย และสามารถคืนประโยชน์ให้กับสังคมได้ ภายใต้พื้นที่ใช้สอยกว่า 100,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยอาคารสำนักงาน 40 ชั้น โซนพลาซ่า 4 ชั้น และโซนอาคารพักอาศัย 23 ชั้น จากคอนเซ็ปต์ Edutainment Center จึงพรั่งพร้อมทั้งศูนย์หนังสือชั้นนำ ห้องสมุด กทม. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรักการอ่าน ศูนย์ไอทีทันสมัย พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมนานาชาติ และสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจรตามแบบคอมเพล็กซ์ชั้นนำ กอปรกับพื้นที่พักผ่อนสำหรับนิสิต นักศึกษา ซึ่งทุกมุมล้วนสะท้อนภาพลักษณ์ของคนเมืองที่มุ่งแสวงหาความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังเป็นอาคารแห่งแรก และแห่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่มีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเชื่อมสู่คอมเพล็กซ์โดยตรง
คุณชุติมา กล่าวต่อไปว่า การปฏิบัติภารกิจแต่ละโครงการ เหนือสิ่งอื่นใดจะต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์อันดีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และความปลอดภัยของผู้ใช้อาคาร สำหรับโครงการอาคารจัตุรัส จามจุรีก็เช่นกัน ทีมงานร่วมกันวางแผนการดำเนินงานให้อยู่ในระบบบริหารจัดการที่ดี ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ และให้ความสำคัญอย่างสูงสุดเรื่องความปลอดภัยของตัวอาคาร
สำหรับปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะช่วยสร้างความปลอดภัยให้แก่อาคาร คือการเลือกใช้วัสดุตกแต่งอาคารที่มีคุณภาพ ซึ่งได้ผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์มาเป็นที่ปรึกษาด้านความปลอดภัย และการสร้างความโดดเด่นด้านรูปลักษณ์ภายนอก ทั้งยังใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะตอบโจทย์ดังกล่าว โครงการจตุรัส จามจุรี จึงใช้แผ่นอลูมิเนียม คอมโพสิท ไส้กลางกันไฟ ที่มีความสวยงาม ทนทาน และช่วยสะท้อนรังสีความร้อน ทำให้ประหยัดพลังงานได้มาก และมีความปลอดภัยสูงแม้เกิดเพลิงไหม้ เพราะฉะนั้นกว่าจะมาเป็นอาคารโดดเด่นประจักษ์แก่สายตาผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาทุกวันนี้ แนวคิดอันทันสมัยของผู้บริหาร ที่ต้องการอาคารมีลักษณะเบา โปร่ง และดูทันสมัย มีการกำหนดมุมธรรมชาติแบบเปิดโล่ง เพื่อให้ผู้ใช้บริการรู้สึกเสมือนอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่น่ารื่นรมย์ แม้ว่าโครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ที่ต้องทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจและมันสมอง แต่โชคดีที่ได้วัสดุตกแต่งอาคารที่ได้มาตรฐาน ผ่านการทดสอบมาแล้วทั่วโลก มาช่วยสร้างความมั่นใจและทำให้เกิดความลงตัวระหว่างความงดงามทางสถาปัตยกรรมและความปลอดภัยของอาคารจัตุรัส จามจุรีแห่งนี้
คุณชุติมากล่าวเสริมว่า ความเจริญรุ่งเรืองของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่งผลให้อาคารต่างๆ ผุดขึ้นเบียดเสียด ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเล็งเห็นปัญหานี้ เมื่อจะสร้างอาคารสูง จึงต้องสร้างให้ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเช่นกัน เพื่อรักษาชื่อเสียงของสถาบันการศึกษาเก่าแก่แห่งนี้ไว้ และให้จตุรัส จามจุรีนี้ เป็นอาณาจักรแห่งความรู้...ตั้งอยู่บนความปลอดภัย อย่างแท้จริง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อเจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์
คุณวิลาสินี โฆษจันทร และคุณภัทรภร ตันตรงภักดิ์
โทร. 081-734-2756,หรือ 0-2204-8550, 086-668-1415