กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--ปภ.
นายพงศ์โพยม วาศภูติ ปลัดกระทรวงมหาดไทย แถลงสถิติอุบัติเหตุทางถนนของการเดินทางในวันแรกของช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2551 (วันที่ 11 เมษายน 2551) มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 477 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 45 ราย บาดเจ็บ 557 ราย สาเหตุหลักเกิดจากเมาสุราและขับรถเร็วเกินกำหนด ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ และส่วนใหญ่อุบัติเหตุเกิดขึ้นบนถนนกรมทางหลวง ในบริเวณทางตรงมากที่สุด พร้อมสั่งกำชับจังหวัดปรับจุดตรวจจากถนนสายหลักลงสู่ถนนสายรอง โดยให้เข้มงวดกวดขันรถโดยสารไม่ประจำทางเป็นพิเศษ รวมทั้งให้จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันประสานการจัดตั้งด่านตรวจ โดยเฉพาะในพื้นที่รอยต่อของจังหวัด เพื่อมิให้ผู้ใช้รถใช้ถนนหลบเลี่ยงการตรวจจับ
นายพงศ์โพยม วาศภูติ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ประธานแถลงข่าวสถิติผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ จากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2551 ประจำวันที่ 11 เมษายน 2551(วันแรกของการเดินทางในช่วง 7 วันระวังอันตราย) ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 477 ครั้ง มากกว่าปี 2550 (435 ครั้ง) จำนวน 42 ครั้ง ร้อยละ 9.65 มีผู้เสียชีวิต 45 ราย มากกว่าปี 2550 (41 ราย) จำนวน 4 คน ร้อยละ 9.76 บาดเจ็บ 557 ราย มากกว่าปี 2550 (514 ราย) ร้อยละ 8.37 สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดเกิดจากเมาสุรา ร้อยละ 35.64 รองลงมาคือ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 20.96 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 14.88 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80.41 อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดบนถนน กรมทางหลวง ร้อยละ 39.41 รองลงมา ได้แก่ ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ28.51 และจุดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ทางตรง ร้อยละ 50.52 รองลงมา ได้แก่ บริเวณทางโค้ง ร้อยละ 18.03 สำหรับช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลากลางคืน ร้อยละ 65.20 โดยเฉพาะช่วงพลบค่ำ เวลา 16.01 — 20.00 น. ร้อยละ 25.97 ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ อายุระหว่าง 15 — 19 ปี ร้อยละ 19.27 รองลงมา อายุระหว่าง 30 — 39 ปี คิดเป็นร้อยละ 16.45 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 28 ครั้ง รองลงมา ได้แก่ เชียงใหม่ 23 ครั้ง จังหวัดที่ยังไม่เกิดอุบัติเหตุ รวม 5 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ปัตตานี ยโสธร ระนอง สิงห์บุรี จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ 5 ราย รองลงมา ได้แก่ นครสวรรค์, พะเยา, พิษณุโลก (3 ราย) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต รวม 47 จังหวัด สำหรับจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บ มากที่สุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 29 ราย รองลงมา ได้แก่ เชียงราย 28 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บ รวม 5 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ปัตตานี ยโสธร ระนอง และสิงห์บุรี ทั้งนี้ ทั่วประเทศมีการจัดตั้งจุดตรวจเพื่อเข้มงวดการปฏิบัติตามกฎจราจร และมาตรการ 3 ม 2ข 1ร รวม 3,009 จุด มีผู้ปฏิบัติงาน รวม 84,910 คน เฉลี่ยจุดตรวจละ 28 คน ซึ่งได้มีการเรียกตรวจยานพาหนะ 613,621 คัน พบผู้กระทำผิด รวม 35,320 คัน คิดเป็นร้อยละ 5.76 ซึ่งส่วนใหญ่ถูกดำเนินคดีเนื่องจาก ไม่มีใบขับขี่มากที่สุด 13,315 คัน ร้อยละ 37.70 รองลงมา ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย 11,701 คัน ร้อยละ 33.13 ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 4,463 คัน ร้อยละ 12.64
นายพงศ์โพยม กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากการจราจรตามเส้นทางหลักมีปริมาณรถหนาแน่นมาก ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาเดินทางนานกว่าปกติ อาจทำให้คนขับมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้าได้ง่าย ส่งผลให้เกิดอาการหลับใน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ จึงขอให้ผู้ขับขี่แวะพักตามจุดบริการ จุดตรวจ หรือสถานีบริการน้ำมัน เพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย และหายจากอาการเมื่อยล้า แล้วค่อยขับรถต่อไป พร้อมกันนี้ คาดว่าประชาชนส่วนใหญ่เริ่มเดินทางกลับถึงภูมิลำเนากันแล้ว จึงได้สั่งการให้จังหวัดปรับจุดตรวจ ด่านตรวจ จากถนนสายหลักลงไปสู่ถนนสายรอง โดยเฉพาะเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างตำบล หมู่บ้าน และขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประสานความร่วมมือกับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร และสมาชิก อปพร. ในพื้นที่ ร่วมปฏิบัติงานตามจุดตรวจในชุมชน สอดส่องดูแล ควบคุมมิให้ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ออกไปสร้างความเดือดร้อน หรือเป็นต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน รวมทั้งให้จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงประสานการจัดตั้งด่านตรวจ โดยเฉพาะในพื้นที่รอยต่อของแต่ละจังหวัด เพื่อมิให้ผู้ใช้รถใช้ถนนหลบเลี่ยงการตรวจจับ รวมถึงดูแลอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยในการเดินทางให้กับประชาชนตลอดเส้นทาง ที่สำคัญ ได้เน้นย้ำให้ด่านตรวจเข้มงวด กวดขัน รถโดยสารไม่ประจำทางในลักษณะของการเช่าเหมาคันเป็นพิเศษ เพื่อตรวจสอบสภาพความพร้อมของผู้ขับรถ โดยเฉพาะการง่วงและเมาแล้วขับ เพื่อมิให้เป็นต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ประกอบกับ ในวันพรุ่งนี้ (วันที่ 13 เมษายน 2551) เป็นวันมหาสงกรานต์ จึงคาดว่าจะมีประชาชนออกมาเล่นสาดน้ำสงกรานต์จำนวนมาก จึงขอให้ผู้ขับขี่รถยนต์ผ่านบริเวณที่มีการเล่นน้ำ เพิ่มความระมัดระวัง เป็นพิเศษ โดยรักษาระดับความเร็วให้เหมาะสม ไม่ขับรถเร็ว อย่าขับรถแซง เปลี่ยนช่องทางไปมา เพราะอาจชนถูกคนที่กำลังเพลิดเพลินอยู่กับการเล่นน้ำจนลืมระมัดระวังอันตรายจากรถบนท้องถนน ส่วนผู้ที่เล่นน้ำบริเวณริมสองข้างถนน ไม่ควรสาดน้ำใส่ผู้ที่ขี่รถจักรยานยนต์ เพราะผู้ขับขี่รถอาจไม่ทันระวังตัว ทำให้รถเสียหลัก จนเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ อีกทั้งไม่ควรไปวิ่งไล่สาดน้ำใส่รถบนท้องถนน เพราะอาจถูกรถเฉี่ยวชนได้ สุดท้ายนี้ ขอให้ผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกันปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เร็ว เมา ง่วง โทร ไม่ขับอย่างเด็ดขาด เพื่อให้เทศกาลสงกรานต์เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนของประเทศ ....