"การฝากครรภ์" เป็นเรื่องสำคัญมากและเป็นสิ่งที่คุณแม่ควรทำทันทีเมื่อทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์ และควรเข้ารับการตรวจครรภ์ตามที่แพทย์นัดสม่ำเสมอ
เพราะแพทย์จะช่วยดูแลให้สุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์แข็งแรงปลอดภัย คอยติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ รวมถึงให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพและการปฏิบัติตัวต่างๆ อย่างถูกต้องช่วงตั้งครรภ์ การฝากครรภ์ยังช่วยให้แพทย์เห็นความผิดปกติในระหว่างตั้งครรภ์ และสามารถรักษาได้ทันเวลา เช่น โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น
ความถี่ในการฝากครรภ์
- อายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์ นัดตรวจทุก 4 สัปดาห์ สำหรับครรภ์ที่ไม่มีความเสี่ยงสูง
- อายุครรภ์ 28 -36 สัปดาห์ นัดตรวจทุก 2 สัปดาห์
- อายุครรภ์มากกว่า 36 สัปดาห์ นัดตรวจทุกสัปดาห์
** คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะนัดตรวจถี่ขึ้น หรืออาจพิจารณาให้นอนโรงพยาบาล
รู้หรือไม่?
- ในการฝากครรภ์ คุณแม่จะได้รับการตรวจวัดระดับความสูงของยอดมดลูก ซึ่งสัมพันธ์กับอายุครรภ์ ถ้าระดับยอดมดลูกไม่สูงขึ้นอาจเป็นไปได้ว่าน่าจะมีความผิดปกติในการเจริญเติบโตของทารกหรือมีน้ำคร่ำน้อย ถ้าระดับยอดมดลูกสูงกว่าอายุครรภ์ อาจมีสาเหตุมาจากทารกตัวใหญ่ แฝดน้ำ ครรภ์แฝด ครรภ์ไข่ปลาอุก หรือมีเนื้องอกของมดลูกหรือรังไข่
- ครั้งแรกที่มาฝากครรภ์คุณหมอจะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกายคุณแม่อย่างละเอียด โดยผลการตรวจทุกอย่างจะถูกบันทึกลงในสมุดฝากครรภ์ หรือใบฝากครรภ์ ซึ่งคุณแม่ควรนำติดตัวไปด้วยเสมอ เมื่อต้องเดินทางไกลๆ เพราะหากเกิดภาวะฉุกเฉินจนต้องเข้าโรงพยาบาล คุณหมอจะได้ดูแลรักษาคุณแม่ได้ถูกต้อง ตามข้อมูลที่บันทึกไว้ในสมุด แต่ถ้าคุณแม่ไม่มีสมุดฝากครรภ์พกติดตัว คุณหมอก็จะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับคุณแม่ ไม่รู้ว่าคุณแม่มีปัญหาอะไรหรือ รักษามาแบบไหน มีผลเลือดอย่างไร ทำให้ต้องเสียเวลาเจาะเลือดตรวจใหม่ ทำให้ได้รับการรักษาล่าช้า ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้