ในยุคที่เทคโนโลยีไฮเทคเริ่มหลั่งไหลเข้ามา จนเกิดสิ่งประดิษฐ์อัจฉริยะต่างๆ ขึ้นมากมายเพื่อสนองความต้องการของผู้ใช้ (users) ในที่สุดกลายเป็นคำถามว่า นั่นคือสิ่งที่เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของชีวิตหรือไม่ ในเมื่อยิ่งได้เข้าใกล้เทคโนโลยี ดูเหมือนยิ่งห่างไกลความผูกพันเกิดขึ้นจากความวิตกว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่ไออุ่นจากมนุษย์ด้วยกัน
รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงปรากฏการณ์ "Hi tech - Low touch" หรือยิ่งได้เข้าใกล้เทคโนโลยี แต่ยิ่งห่างไกลความผูกพัน เกิดขึ้นจากความวิตกว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่ไออุ่นจากมนุษย์ด้วยกัน
ยิ่งเมื่อโลกเข้าสู่วิกฤติโรคระบาดที่ทำให้ผู้คนต้องอยู่ห่างไกลกัน ทำให้การใช้เทคโนโลยีไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยที่วัดกันด้วยคุณสมบัติทางวัตถุ หากสามารถสื่อสารความเป็นมนุษย์ที่ส่งไออุ่นถึงกันได้เป็นอย่างดี
ก่อนบรรลุหนทางสู่การเป็น "เมตาเนิร์ส" (Meta Nurse) จำเป็นต้องมีการปรับกระบวนทัศน์ให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง(Patient-Centered Care) ทำ "Hi tech" ให้เป็น "Hi touch" ด้วยสัมผัสที่ผูกพัน หากรู้จักใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสม และเป็นประโยชน์ ก็จะยิ่งทำให้พยาบาลสามารถดูแลผู้ป่วยได้กว้างขวางยิ่งขึ้น
พยาบาลเป็นวิชาชีพที่ต้องเสียสละ อดทน และพร้อมที่จะรับฟังผู้ป่วย ในโลกยุคเมตาเวิร์ส หรือโลกเสมือนจริง ยิ่งทำให้พยาบาลสามารถทำหน้าที่รับฟังผู้ป่วย ช่วยเหลือประชาชนได้มากยิ่งขึ้นในทุกมิติ และทุกช่วงวัย
"เราไม่ได้ดูแลเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นกับประชาชน แต่เราดูแลประชาชนที่เจ็บป่วยต่างหาก เราต้องการเห็นคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะเจ็บป่วย หรือแข็งแรงบทบาทของพยาบาล "เมตาเนิร์ส" จึงต้องขยายบทบาทออกไปให้กว้างขวางให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มอย่างไร้ข้อจำกัด จะดีแค่ไหน หากพยาบาลสามารถเข้าถึงความต้องการของผู้ป่วยได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเป็นไปตามความต้องการของผู้ป่วย" รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์กล่าว
ด้วยปณิธาน "พยาบาลแห่งอนาคต" ที่โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ยึดมั่นในการผลิตนักศึกษาพยาบาลคุณภาพ พร้อมปรับตัวให้ก้าวทันเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำอย่างรวดเร็ว โดยไม่ลืม "หัวใจของความเป็นมนุษย์" เพื่อตอบโจทย์ผู้ป่วยในอนาคต
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
แบนเนอร์และภาพโดย โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล