๑๓ เม.ย.๕๑เสียชีวิต ๗๖ ราย สะสม ๓ วัน ๑๘๐ ราย

ข่าวทั่วไป Wednesday April 16, 2008 09:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--ปภ.
ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี ๒๕๕๑ แถลงสถิติอุบัติเหตุทางถนนในวันที่ ๑๓ เม.ย. ๕๑ มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ๑,๐๑๘ ครั้ง ผู้เสียชีวิต ๗๖ ราย ผู้บาดเจ็บ ๑,๑๐๓ ราย รวมอุบัติเหตุสะสม ๓ วัน (๑๑ — ๑๓ เม.ย. ๕๑) มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น รวม ๒,๒๓๘ ครั้ง ผู้เสียชีวิต ๑๘๐ ราย ผู้บาดเจ็บ ๒,๕๑๔ ราย พร้อมสั่งกำชับจุดตรวจเข้มงวดกับเยาวชน หากพบการกระทำผิดให้ส่งฟ้องดำเนินคดีกับผู้ปกครองด้วย ตลอดจนให้เพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติงานช่วงเวลา ๑๖.๐๐ — ๒๐.๐๐ น. บนถนนสายรอง รวมทั้งเตรียมเสนอแนวคิดห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณที่มีการเล่นน้ำสงกรานต์อย่างเด็ดขาด
นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม กรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ประธานแถลงข่าวสถิติผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ จากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี ๒๕๕๑ ประจำวันที่ ๑๓ เม.ย. ๕๑ ซึ่งรวบรวมโดยศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี ๕๑ ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ๑,๐๑๘ ครั้ง มากกว่าปี ๒๕๕๐ (๙๖๕ครั้ง) จำนวน ๕๓ ครั้ง ร้อยละ ๕.๔๙ ผู้เสียชีวิต ๗๖ ราย มากกว่าปี ๒๕๕๐ (๗๑ ราย) จำนวน ๕ ราย ร้อยละ ๗.๐๔ ผู้บาดเจ็บ ๑,๑๐๓ ราย มากกว่าปี ๒๕๕๐ (๑,๐๖๒ ราย) จำนวน ๔๑ ราย ร้อยละ ๓.๘๖ สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดเกิดจากเมาสุรา ร้อยละ ๔๕.๕๘ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ ๘๔.๑๘ อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ ๓๙.๓๙ จุดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ทางตรง ร้อยละ ๕๕.๘๐ สำหรับช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลากลางคืน ร้อยละ ๕๗.๔๗ โดยเฉพาะช่วงพลบค่ำ เวลา ๑๖.๐๑ — ๒๐.๐๐ น. ร้อยละ ๓๐.๓๕ ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บมีอายุระหว่าง ๑๕ — ๑๙ ปี คิดเป็นร้อยละ ๑๙.๘๐ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงราย ๕๐ ครั้ง รองลงมา ได้แก่ เพชรบูรณ์ ๔๒ ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ชลบุรี ๕ ราย รองลงมา ได้แก่ จันทบุรี เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช พิษณุโลก จังหวัดละ ๔ ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต รวม ๔๐ จังหวัด จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บมากที่สุด ได้แก่ เชียงราย ๕๑ ราย รองลงมา ได้แก่ เพชรบูรณ์ ๔๐ ราย ทั้งนี้ ทั่วประเทศมีการจัดตั้งจุดตรวจ รวม ๓,๐๔๑ จุด มีผู้ปฏิบัติงาน รวม ๙๐,๑๖๗ คน และได้เรียกตรวจยานพาหนะ ๘๑๗,๙๘๑ คัน พบผู้กระทำผิด รวม ๔๕,๓๙๕ คัน ส่วนใหญ่ถูกดำเนินคดีเนื่องจาก ไม่สวมหมวกนิรภัยมากที่สุด ๑๕,๙๖๑ คัน รองลงมา ได้แก่ ไม่มีใบขับขี่ ๑๕,๖๐๓ คัน นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสมาชิก อปพร. ในพื้นที่ จัดตั้งจุดตรวจภายในชุมชน ได้แก่ จุดสกัดกั้น ๑๐,๘๗๕ จุด จุดบริการ ๓,๓๐๒ จุด เพื่อปรามผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงมิให้ออกไปสร้างความเดือดร้อนหรือเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุทางถนน
อุบัติเหตุทางถนนสะสม ๓ วัน (วันที่ ๑๑ — ๑๓ เม.ย. ๕๑) มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น รวม ๒,๒๓๘ ครั้ง มากกว่าปี ๒๕๕๐ (๒,๐๓๒ ครั้ง)จำนวน ๒๐๖ ครั้ง ร้อยละ ๑๐.๑๔ ผู้เสียชีวิต รวม ๑๘๐ ราย มากกว่าปี ๒๕๕๐ (๑๖๙ ราย) จำนวน ๑๑ ราย ร้อยละ ๖.๕๑ ผู้บาดเจ็บ รวม ๒,๕๑๔ ราย มากกว่าปี ๒๕๕๐ (๒,๒๙๖ ราย) จำนวน ๒๑๘ ราย ร้อยละ ๙.๔๙ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย ๑๐๖ ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก ๙ ราย รองลงมา ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ๘ ราย จังหวัดที่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต รวม ๑๕ จังหวัด จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย ๑๐๙ ราย รองลงมา ได้แก่ เชียงใหม่ ๑๐๑ ราย
นายจรัญ กล่าวต่อไปว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง ๓ วันที่ผ่านมา เพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ศปถ. จึงได้สั่งกำชับจังหวัดให้นำสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน มาวิเคราะห์ปรับแผนการปฏิบัติงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในพื้นที่ และจากสถิติ พบว่า ส่วนใหญ่อุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นกับวัยรุ่นที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ในช่วงเวลาพลบค่ำ บนเส้นทางสายตรง ของถนน ใน อบต. ภายในหมู่บ้านและชุมชน โดยมีสาเหตุมาจากการเมาแล้วขับ จึงขอให้ผู้บริหารในพื้นที่ออกตรวจเยี่ยมจุดตรวจ จุดสกัดต่างๆ เพื่อเน้นย้ำให้ด่านตรวจเข้มงวดกวดขันการตรวจจับกลุ่มเสี่ยงอย่างเข้มข้น ในช่วงเวลา ๑๖.๐๐ — ๒๐.๐๐ น. ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด โดยเฉพาะบนเส้นทางสายตรง ให้เพิ่มจุดตรวจ จุดบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง และชะลอความเร็วในการขับรถ และหากตรวจพบเยาวชนที่อายุต่ำกว่า ปีที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ และดื่มสุรามึนเมา ให้นำมาตรการทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ มาดำเนินคดีกับผู้ปกครองที่ปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ออกมากระทำผิด โดยให้มีการส่งฟ้องดำเนินคดีกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ของเด็กที่กระทำผิด ทั้งนี้ ขอฝากสื่อมวลชนร่วมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบถึงการกระทำความผิดตามกฎหมายดังกล่าวด้วย
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนน เห็นได้ว่า พื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด และมีผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ทั้งเชียงใหม่ เชียงราย รวมถึงจังหวัดใหญ่ที่เป็นเส้นทางผ่านไปยังภาคเหนือ เช่น พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ศปถ. จึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคเหนือ ให้ปรับเพิ่มจุดตรวจให้มากขึ้น ทั้งในเส้นทางสายหลักและสายรอง รวมถึงภายในชุมชน โดยเฉพาะบริเวณที่มีการเล่นน้ำสงกรานต์ เพื่อเข้มงวดกวดขันการกระทำผิด กฎจราจรของผู้ใช้รถใช้ถนน นอกจากนี้ จากการตรวจสอบสภาพอากาศ พบว่า ทั่วทุกภาคจะมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ จึงขอให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเพิ่มความระมัดระวังในการ ขับผ่านเส้นทางคดเคี้ยว ลาดชัน ขึ้น-ลงเขา เป็นพิเศษ และจากสถิติ พบว่า การเมาสุราแล้วขับเป็นสาเหตุสูงสุด ของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ศปถ. จึงได้มีแนวคิดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่จะกำหนดมาตรการห้ามจำหน่ายสุราช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในพื้นที่ที่ประชาชนไปร่วมเล่นน้ำสงกรานต์โดยเด็ดขาด สุดท้ายนี้ ในโอกาสที่วันนี้เป็นวันครอบครัว จึงขอให้ความรัก ความเอื้ออาทรของคนในครอบครัวเป็นพลังที่จะช่วยคุ้มครองให้ทุกคนได้รับแต่สิ่งที่ดีงาม และปลอดภัยจากอุบัติเหตุ ทั้งปวง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี ๒๕๕๑ และตลอดไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ