ครม.ไฟเขียวพาณิชย์ลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น

ข่าวทั่วไป Wednesday April 16, 2008 13:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--กระทรวงพาณิชย์
พาณิชย์ลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership: AJCEP) ครอบคลุมการค้าสินค้า บริการ การลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ชี้ไทยจะได้รับอานิสงส์จาก AJCEP ทำให้ใช้วัตถุดิบจากประเทศในอาเซียนเป็นส่วนประกอบในการผลิตเพื่อส่งออกไปญี่ปุ่นได้มากขึ้นจากเดิมภายใต้ JTEPA ส่งผลให้ไทยเป็นฐานการผลิตและการลงทุนที่สำคัญสำหรับตลาดญี่ปุ่นมากขึ้น
นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าประเทศไทยได้มีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น(ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership: AJCEP) แล้ว ในวันที่ 11 เมษายน 2551 หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการลงนามดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา
อาเซียนและญี่ปุ่นตกลงกันที่จะเปิดเผยรายละเอียดความตกลงให้ทราบเป็นการทั่วไป หลังจาก ลงนามครบทั้ง 10 ประเทศ หลังจากนั้นแต่ละประเทศสมาชิกจะดำเนินกระบวนการภายในเพื่อแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน สำหรับประเทศไทยจะต้องได้รับความเห็นชอบ จากรัฐสภาก่อน
AJCEP เป็นความตกลงระดับภูมิภาคของอาเซียนกับญี่ปุ่น ซึ่งครอบคลุมการค้าสินค้า บริการ การลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทยเสนอเปิดเสรีตามข้อผูกพันในระดับทวิภาคีหรือ JTEPA ในส่วนของญี่ปุ่นจะยกเลิกภาษีร้อยละ 90 ของมูลค่าสินค้านำเข้าจากอาเซียนทั้งหมดทันทีที่บังคับใช้ความตกลง และลด/ยกเลิกภาษีอีกร้อยละ 6.7 ภายใน 10 ปี ซึ่งในส่วนนี้จะมีผลให้ไทยจะได้รับประโยชน์จาก AJCEP โดยญี่ปุ่นจะลดภาษีเร็วกว่า JTEPA จำนวน 71 รายการ เช่น ปลาหมึกปรุงแต่ง ผงโกโก้ แวฟเฟิลและเวเฟอร์ พิซซ่าแช่แข็ง เพสทรีและขนมจำพวกเบเกอรี่อื่นๆ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้สะสมแหล่งกำเนิดสินค้าโดยใช้วัตถุดิบภายในภูมิภาคและผ่อนคลายกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่ยืดหยุ่นมากกว่า JTEPA อีกหลายรายการ ดังนั้นผู้ประกอบการและผู้ส่งออกจะสามารถเลือกที่จะส่งออกภายใต้ JTEPA หรือ AJCEP เพื่อได้สิทธิประโยชน์ที่ดีกว่าได้
ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียนมีมูลค่าการค้า 162 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีการลงทุนในอาเซียนเป็นอันดับ 1 คิดเป็นมูลค่า 11 พันล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่ามูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่นจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากจากความตกลง AJCEP นี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ