นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg Virus Disease) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนพ.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ติดตาม เฝ้าระวัง สังเกตผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายน่าสงสัยที่เข้าได้กับโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศอิเควทอเรียลกินีและประเทศใกล้เคียงในทวีปแอฟริกาตะวันตก
โดย กทม.ได้เตรียมพร้อมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งแนวทางการส่งตัวอย่างทางห้องปฏิบัติการให้กับกลุ่มงานเทคนิคการแพทย์และชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ป่วยที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และอาการที่มีความคล้ายเข้าได้กับโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ซึ่งประเทศไทยกำหนดให้เป็น 1 ใน 13 โรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีอัตราการป่วยเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 88 เป็นไวรัสในสกุลเดียวกับไวรัสอีโบลา อาการของโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก เป็นโรคติดต่อผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ เลือด และอุจจาระ เช่นเดียวกับไวรัสอีโบลา พบไวรัสในค้างคาวและแพร่เชื้อมาสู่คน โดยระยะการฟักตัวของโรค 2 - 21 วัน มักจะแสดงอาการในระยะเวลา 7 วัน เช่น ไข้สูง อาเจียนเป็นเลือด เลือดออกตามอวัยวะ ท้องร่วง จากนั้นจะเสียชีวิต โดยโรคนี้ยังไม่มียา หรือวัคซีนรักษา จะใช้การรักษาตามอาการของโรค อย่างไรก็ตาม การป้องกันยังใช้ตามหลักของโรคติดเชื้อโควิด 19 คือ การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างและล้างมือ รวมทั้งเตรียมจัดทำสื่อความรู้เกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก อาการ ช่องทางการติดต่อ และการป้องกันโรค ซึ่งประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารสุขภาพผ่านช่องทางต่าง ๆ ของ กทม.เพื่อรับข้อมูลที่ถูกต้อง สามารถเฝ้าระวังป้องกันตนเองและลดความวิตกกังวล