รายงานฉบับล่าสุดของหน่วยงานฝ่ายวิจัยของ เครดิต สวิส (Credit Suisse Research Institute, CSRI) ได้วิเคราะห์ถึงข้อเสียของระบบการเงินที่ใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นหลักและทางเลือกอื่นที่อาจจะเป็นไปได้
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจโลก การตอบรับนโยบายเศรษฐกิจ และขอบเขตภูมิศาสตร์การเมืองโลก ไม่น่าแปลกใจเลยที่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อตลาดเงิน ตลาดตราสารหนี้ และตลาดการแลกเปลี่ยนเงินตรา เฉกเช่นช่วงเวลาที่เกิดความผันผวนทางด้านเศรษฐกิจและความวุ่นวายในภูมิศาสตร์การเมืองที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามว่า ระบบการเงินระหว่างประเทศอาจจะขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานหรือระยะเวลาเป็นตัวกำหนดหรือไม่
รายงานฉบับนี้อธิบายถึงเรื่องความไม่สมดุลของเศรษฐกิจมหภาคและความสัมพันธ์ทางภูมิศาสตร์ว่าสามารถกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในระบบการเงินปัจจุบันที่ใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก ทุนสำรองของธนาคารกลางที่มีการพัฒนามาจนถึงปัจจุบันและอาจจะมีการประเมินใหม่ในอนาคต และนำไปสู่แนวคิดที่จะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบการเงินแบบใหม่หลากหลายสกุลได้อย่างไร
หัวข้อสำคัญ
- ระบบการเงินในปัจจุบันถูกวิพากษ์วิจารณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากผู้กำหนดนโยบายระดับสูงทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ สืบเนื่องมาจากความตึงเครียดที่เกิดขึ้นนอกสหรัฐอเมริกาจากการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายการเงินครั้งใหญ่ของธนาคารกลางสหรัฐ
- ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่แค่ช่วงที่เงินดอลลาร์สหรัฐมีความอ่อนค่า (และนโยบายการเงินที่หละหลวมของสหรัฐฯ) ที่ทำให้เกิดปัญหาในประเทศอื่น ๆ ของโลก แต่ยังมีช่วงที่นโยบายของเฟดตึงตัวและเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดความยุ่งเหยิงมากยิ่งขึ้นได้
- ปัจจุบัน ธนาคารกลางใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ คิดเป็นร้อยละ 60 เทียบกับในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ที่สูงถึงร้อยละ 80
- ในอนาคตอันใกล้นี้ ยังไม่มีสกุลเงินใดที่จะแทนที่ดอลลาร์สหรัฐในการเป็นสกุลเงินหลัก ไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินยูโรหรือเงินหยวน ที่ต่างก็ไม่มีคุณสมบัติเป็นสกุลเงิน "หลัก" ได้ ในขณะเดียวกันการสร้างเงินตราโลกนั้นเป็นเพียงภาพร่าง ที่ต้องอาศัยสภาพแวดล้อมทางความสัมพันธ์ทางภูมิศาสตร์อย่างจริงจัง
- แม้ในกรณีที่ไม่มีปัญหาด้านความสัมพันธ์ทางภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจที่เลวร้าย บทบาทของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วโลกที่ลดลง อาจเกิดจากปัจจัยสามประการ ได้แก่ ความต้องการทุนสำรองระหว่างประเทศในโลกที่ลดลงของอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว นโยบายกระจายความเสี่ยงของธนาคารกลาง และการทำธุรกรรมสัญญาอัตราแลกเปลี่ยน (swap line) ระหว่างธนาคารกลางที่เพิ่มมากขึ้น
- เงินยูโรมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วโลกรองจากเงินดอลลาร์สหรัฐ และสามารถซื้อขายข้ามพรมแดนได้อย่างอิสระ ซึ่งเป็นข้อกำหนดเบื้องต้นที่สำคัญสำหรับสกุลเงินหลัก แต่ผู้กำหนดนโยบายของยูโรโซนไม่ได้พยายามให้สกุลเงินของตนเป็นเงินสกุลหลักอย่างเห็นได้ชัด ขาดการจัดตั้งสหภาพการคลัง และสินทรัพย์ร่วมที่ "ปลอดภัย" พอๆ กับสหภาพการธนาคาร (Banking Union) ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สำหรับการจะมีบทบาทสำคัญในระบบการเงินโลก
- ในทางตรงกันข้าม ประเทศจีนมีหน่วยเงินเดียว และธนาคารขนาดใหญ่ของจีนก็สามารถถือเป็นธนาคารกลางได้ อย่างไรก็ตาม สกุลเงินหยวนยังขาดคุณลักษณะสำคัญที่จะเป็นคู่แข่งกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ นั่นคือ การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ดูเหมือนว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่จีนจะเปิดประเทศอย่างเสรีและเปิดตลาดการเงินสำหรับธุรกรรมข้ามพรมแดนได้อย่างเต็มที่ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวอาจมีความไม่มั่นคงและเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ส่วนแบ่งของเงินหยวนในทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วโลกยังคงมีจำนวนน้อย
- ระบบการเงินใหม่แบบหลายสกุลมีแนวโน้มที่จะค่อย ๆ เกิดขึ้นแทน อันเป็นผลจากการที่หลายประเทศเริ่มทำการค้าแบบทวิภาคี (Bilateral Trade) มากขึ้น การเติบโตของตลาดทุนท้องถิ่นในประเทศเกิดใหม่ และความพยายามที่จะพัฒนาแผนประกันร่วมกันเพื่อป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ
ระบบการเงินที่มีสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นศูนย์กลาง
นับตั้งแต่เปิดตัวอย่างเป็นทางการที่ Bretton Woods เมื่อปี 1944 ระบบการเงินที่มีสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นศูนย์กลางได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงอย่างมากเพื่อรับมือกับวิกฤตในระบบ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ ยังคงขยายวงจรธุรกิจหรือแม้แต่จุดชนวนให้เกิดวิกฤตในประเทศอื่น ๆ ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐได้พัฒนาเครื่องมือเพื่อจำกัดผลกระทบโดยร่วมมือกับธนาคารกลางอื่น ๆ แต่การเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบก็ยังคงมีอยู่
ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจมหภาคและความขัดแย้งทางความสัมพันธ์ทางภูมิศาสตร์การเมือง
เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ สหรัฐอเมริกากำลังต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ความไม่สมดุลภายนอกและด้านการคลังที่ย่ำแย่ลง สถานการณ์นี้ทำให้ย้อนนึกไปถึงช่วงปี 1970 ที่ความเชื่อมั่นในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐลดต่ำลงเป็นอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น ความตึงเครียดจากผลกระทบทางภูมิศาสตร์การเมืองได้พุ่งขึ้นไปถึงจุดสูงสุดครั้งใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งสองสถานการณ์ดูเหมือนจะทำให้เกิดการหันเหไปจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
การทบทวนเกี่ยวกับทุนสำรองระหว่างประเทศ
น้ำหนักของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองระหว่างประเทศยังคงเป็นตัวบ่งชี้ถึง "ความมีอำนาจ" ของเงินสกุลดังกล่าว อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว นโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ดีขึ้นในตลาดเกิดใหม่หลายแห่ง และการทำธุรกรรม swap ของธนาคารกลาง จะช่วยลดความจำเป็นในการสำรองเงิน ในทางกลับกัน เงินสำรองที่มีมูลค่าสูงมักจะเป็นผลมาจากความพยายามของธนาคารกลางที่จะต่อสู้เพื่อให้สกุลเงินของตนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีหลักฐานบางอย่างที่บ่งชี้ว่าธนาคารกลางรายใหญ่ ๆ กำลังกระจายความเสี่ยงออกจากเงินดอลลาร์สหรัฐและพันธบัตรสหรัฐฯ โดยที่ผู้ถือทุนสำรองรายใหญ่นั้นลงทุนในสินทรัพย์จริง
วิวัฒนาการของระบบการเงิน
ในปัจจุบัน ยังไม่มีสกุลเงินใดที่จะแทนที่ดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินหลักได้ และการสร้างสกุลเงินทั่วโลกก็ยังคงไม่น่าจะเป็นไปได้ สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ความสัมพันธ์ทางภูมิศาสตร์การเมืองที่กำลังสู้รบกันในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ตลาดทุนที่ขยายวงกว้างและการค้าที่เพิ่มขึ้นในตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญกำลังส่งเสริมบทบาทของสกุลเงินของประเทศเหล่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น แผนประกันร่วมกันเพื่อป้องกันผลกระทบจากการหมุนเงินดอลลาร์สหรัฐ และขั้นตอนในการพัฒนาทางเลือกในระบบการชำระเงิน ชี้ให้เห็นถึงโลกการเงินที่อ้างอิงเงินหลายสกุลมากยิ่งขึ้น
Axel Lehmann, Chairman of the Board of Directors of Credit Suisse Group AG and Chair of Credit Suisse Research Institute กล่าวว่า "การทำความเข้าใจพัฒนาการทางการเงินและการทำงานของระบบการเงินระหว่างประเทศเป็นกุญแจสำคัญสำหรับธนาคารระดับโลกอย่างเครดิต สวิส และภาคการเงินในวงกว้าง ซึ่งมีบทบาทในการส่งผ่านทางการเงิน เราหวังว่ารายงานฉบับนี้และข้อมูลเชิงลึกที่ผู้เขียนและวิทยากรรับเชิญของเราที่งาน CSRI Fall Conference 2022 จะมีส่วนช่วยสนับสนุนและมีคุณค่าต่อแนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์มหภาคในปัจจุบัน"
Nannette Hechler-Fayd'herbe, Client Investment Officer for the EMEA Region and Head of Global Economics and Research ของเครดิต สวิส กล่าวว่า "ถ้าจะประกาศว่าอำนาจเงินดอลลาร์สหรัฐนั้นจะสิ้นสุดลงอาจจะเร็วเกินไป อนาคตของสกุลเงินดังกล่าวในฐานะกระดูกสันหลังของระบบการเงินระหว่างประเทศก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ รวมถึงผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐฯ จะสามารถรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคและความไว้วางใจไว้ได้ในระดับใด เมื่อเทียบกับประเทศที่สำคัญอื่น ๆ"