มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี นำโดยองคมนตรี พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ (กลาง - บนสุด) ในฐานะประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ เปิดการอบรมออนไลน์ "โครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน ประจำปี 2566" โดยมี นายศุภชัย เจียรวนนท์ (ที่ 2 จากขวา - แถวบนสุด) ประธานกรรมการมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี และประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วยที่ปรึกษา ผู้บริหารระดับสูง วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคประชาสังคม องค์กรเอกชน และเครือข่ายพันธมิตรของมูลนิธิฯ ร่วมงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะ เพิ่มพูนความรู้ความสามารถ เตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ตลอดจนสร้างกำลังใจให้แก่ผู้นำรุ่นใหม่ (School Partner) ซึ่งเป็นพนักงานจิตอาสาจากองค์กรภาคเอกชนกว่า 1,100 คน ที่จะทำหน้าที่ปฏิบัติงานร่วมกับผู้บริหารและครู เพื่อร่วมผลักดันยุทธศาสตร์การดำเนินงานสู่โรงเรียนคอนเน็กซ์อีดีกว่า 2,800 แห่งทั่วประเทศ
ครั้งนี้ มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ได้จัดเสวนาพิเศษ โดยได้รับเกียรติจากคณะผู้บริหารองค์กรผู้ร่วมก่อตั้ง นำโดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี และประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ และนายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป มาร่วมพูดคุย ในหัวข้อ "ผู้นำรุ่นใหม่กับการศึกษาไทยยุคดิจิทัล" เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง พร้อมให้ข้อคิดแก่ School Partner ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาไทยโดยเฉพาะในยุคที่โลกกำลังหมุนอย่างรวดเร็ว รวมถึงบทบาทอันน่าภาคภูมิใจของนิวเจนที่จะมีส่วนร่วมขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนแบ่งปันประสบการณ์และผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการ Best Practice ต่างๆ ขององค์กรผู้ร่วมก่อตั้ง เพื่อให้ School Partner ได้ศึกษาเป็นกรณีตัวอย่าง ได้แก่
- โครงการ Learning Center ของบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น - จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เชื่อมโยงให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมจัดการการศึกษาและพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เป็นแหล่งความรู้อันนำไปสู่การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง สามารถบูรณาการความรู้ในห้องเรียนให้แก่บริบทของชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหา ต่อยอดองค์ความรู้ และส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชน โดยปัจจุบันมี Learning Center ในทุกภูมิภาคทั่วไทย
- โครงการ OTOP Junior ผู้ประกอบการน้อย ของบมจ. ไทยเบฟเวอเรจ - เสริมสร้างทักษะอาชีพทำมาค้าขายให้แก่นักเรียน โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ ดำเนินโครงการในโรงเรียน เพื่อสร้างผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ที่มีคุณภาพและความสามารถต่อไปในอนาคต
- โครงการ "ผอ.กล้าเปลี่ยน ครูกล้าปรับ" ของบมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป - เสริมสร้างทักษะให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษาและคุณครู โดยจัดการอบรมจากสถาบันโค้ชชั้นนำของประเทศให้แก่กลุ่มเป้าหมาย เพื่อสามารถนำความรู้และทักษะไปปรับใช้ในการบริหาร และจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กๆ นักเรียน
ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้จัดอบรมโดยวิทยากรที่มีชื่อเสียง เพื่อเสริมแกร่งผู้นำรุ่นใหม่อย่างรอบด้าน ทั้งหลักสูตร "Can Do Attitude: ใช้แนวทาง "Facilitator" ร่วมพัฒนาการศึกษาไทย" โดยดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ ที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี สร้างทัศนคติเชิงบวกและเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ตนเอง นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตร "บุคลิกภาพของผู้นำรุ่นใหม่กับการทำงานในยุคดิจิทัล" โดย "ครูน้ำฝน ภักดี ประธานบริหาร โรงเรียนสอนบุคลิกภาพ Pro Ac by Kru Fon ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้และมีประโยชน์อย่างมาก ทั้งเรื่องเทคนิคการเข้าสังคม ทักษะการสื่อสาร มารยาทการประชุมออนไลน์ และในโอกาสนี้ ยังเปิดโอกาสให้ตัวแทน School Partner รุ่นพี่ มาร่วมแลกเปลี่ยน แบ่งปันประสบการณ์ ส่งต่อแรงบันดาลใจให้แก่ School Partner รุ่นน้องในการวางแผนงานปฏิบัติภารกิจของผู้นำรุ่นใหม่ในโรงเรียนคอนเน็กซ์ อีดีให้ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นต่อไป
ทั้งนี้ สามารถติดตามข่าวสารและกิจกรรมของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ได้ที่ connexted.org
เว็บไซต์: http://connexted.org
FB: CONNEXT ED
เกี่ยวกับมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED Foundation)
มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2559 จากโครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ภายใต้ความร่วมมือ 3 ภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ต่อมาจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิในปี 2563 โดยมีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่น ในการขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้มั่นคงและยั่งยืน ตามแนวทาง 5 ยุทธศาสตร์หลัก พร้อมเดินหน้าสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้ามาส่งเสริมการศึกษาเยาวชนไทย
ปัจจุบัน มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี มีเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชนชั้นนำของไทยรวมแล้ว 47 องค์กร โดยมี 12 องค์กรเอกชน ร่วมเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิฯ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์, กลุ่มเซ็นทรัล, บมจ. ซีพี ออลล์, บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร, กลุ่มมิตรผล, กลุ่มปตท., ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), เอสซีจี, บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ, บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป และ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ต่อมาในระยะที่ 2 มีเครือข่ายพันธมิตรเข้าร่วมโครงการอีก 19 องค์กร ได้แก่ บจ. ไทยฮอนด้า, บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น, บมจ. บ้านปู, บมจ. บีอีซี เวิลด์, บจ. เบอร์แทรม (1958), บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย), บจ. เอดู พาร์ค, โรงเรียนเอ็นคอนเส็ปท์ อี แอคเคเดมี่, บจ. โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์), บจ. เควี อิเล็กทรอนิกส์, บจ. เลิร์น คอร์ปอเรชั่น, บจ. แม็คเอ็ดดูเคชั่น, สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์, บจ. เอส เค โพลีเมอร์, บจ. สลิงชอท กรุ๊ป, ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย, บจ. ไทยโตชิบาอุตสาหกรรมไฟฟ้า และบจ. สวนอุตสาหกรรมบางกะดี, บจ. เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย)
หลังจากนั้นในระยะที่ 3 มีเครือข่ายพันธมิตรเข้าร่วมโครงการ อีก 13 องค์กร ได้แก่ บจ. แอมิตี บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ บมจ. ซี.พี.แลนด์ บจ. เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส บมจ. เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย บมจ. สยามแม็คโคร บจ. โพรนาลิตี้ บมจ. สมิติเวช กลุ่มธุรกิจ ทีซีพี บมจ. ทิปโก้แอสฟัลท์ และบมจ. วีจีไอ และล่าสุด ในระยะที่ 3 นี้ มีเครือข่ายพันธมิตรใหม่เข้าร่วมอีก 3 องค์กร ได้แก่ ธนาคารออมสิน เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล และ บจ. ไตรโซลูชั่น