"พาณิชย์"ปิดจ๊อบหอมแดงศรีสะเกษ ฤดูกาลผลิต 65/66 หลังประสานผู้ประกอบการเข้ารับซื้อในราคานำตลาดถึงแหล่งผลิต ภายใต้แนวคิด "อมก๋อย โมเดล" ขณะเกษตรกรปลื้มนโยบายรัฐ ช่วยป้องกันพ่อค้ากักตุน-กดราคาผลผลิต
นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์เผยความคืบหน้าการขับเคลื่อนมาตรการจัดการพืช 3 หัวในฤดูกาลผลิต 2565/66 ภายในแนวคิด "อมก๋อย โมเดล" ตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรโดยการรับซื้อผลผลิตในราคานำตลาดเพื่อป้องกันปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ หลังคิกออฟโครงการไปเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ณ สหกรณ์การเกษตรบ้านกาดพัฒนา จำกัด อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ โดยมีนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธาน โดยมีปริมาณ ผลผลิตรวมทั้งสิ้น 22,800 ตัน มูลค่า 361.27 ล้านบาท แบ่งเป็นหอมหัวใหญ่ 7,300 ตัน หอมแดง 7,500 ตันและกระเทียม 8,000 ตัน
จากผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหอมแดง 1 ในพืช 3 หัวนั้น ซึ่งมีแหล่งผลผลิตใหญ่อยู่ใน จ.ศรีสะเกษ มีพื้นที่ปลูกหลักใน 2 อำเภอได้แก่ อ.ราษีไศลและอ.ยางชุมน้อย ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในร่วมกับผู้ประกอบการได้ดำเนินการเข้าไปรับซื้อผลผลิตถึงแหล่งปลูกตั้งแต่ต้นฤดูจนถึงโค้งสุดท้ายของฤดูในช่วงนี้ ปริมาณมากกว่า 500 ตัน โดยล็อตสุดท้ายจำนวน 10 ตันได้ทำการส่งมอบไปเมื่อวันที่ 23 ก.พ.66
"หอมแดงศรีสะเกษหมดฤดูแล้ว ได้ประสานผู้ประกอบการเข้ามารับซื้อ และส่งมอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ราคาปีนี้ดีกว่าปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 13 บาท ขณะปีที่แล้ว 9 บาทกว่า ผลจากการรับซื้อราคานำตลาด ทำให้ราคาหอมแดงปีนี้โตขึ้นมา 17% ถึงแม้เป็นโค้งสุดท้ายแต่กรมก็ประสานผู้ประกอบการไม่ให้หยุดซื้อเพื่อสร้างมั่นใจให้เกษตรกรยิ้มได้ตลอด"รองอธิบดีกรมการค้าภายในเผย
จากการคาดการณ์สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)ระบุว่าปริมาณพืชหอมแดงในฤดูกาลผลิตปี 65/66 มีปริมาณทั้งสิ้น 155,765 ตัน โดย จ.ศรีสะเกษ มีมากที่สุด 75,810 ตัน รองลงมาเชียงใหม่ 30,625 ตัน อุตรดิตถ์ 9,725 ตัน ลำพูน 3,931 ตัน แม่ฮ่องสอน 1,649 ตันและอื่น ๆ อีก 34,025 ตัน หลังจากนี้กรมการค้าภายในจะร่วมกับผู้ประกอบการจะทยอยดำเนินการรับซื้อในพื้นที่อื่นต่อไป โดยเฉพาะหลายจังหวัดทางภาคเหนือที่ขณะนี้หอมแดงเริ่มมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตและทยอยออกสู่ตลาดแล้ว ได้แก่ อุตรดิตถ์ ลำพูน
ขณะที่ นางพยอม ฤาชา กรรมการสภาการเกษตร จ.ศรีสะเกษและประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเขวาน้อย ต.ยางชุมน้อย อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ กล่าวขอบคุณกระทรวงพาณิชย์และกรมการค้าภายในที่ช่วยผลักดันและประสานผู้ประกอบการเข้ามารับซื้อผลผลิตหอมแดงของเกษตรกรในราคานำตลาดส่งผล ทำให้หอมแดงศรีสะเกษปีนี้ราคาดีกว่าทุก ๆ ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้พี่น้องเกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ เนื่องจากพืชหอมแดงเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงครอบครัวของพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะในอ.ยางชุมน้อย ซึ่งมีพื้นที่ปลูกหอมแดงมากที่สุดของจังหวัด
"ปี้นี้ราคาดีกว่าปีที่แล้วมาก ปีนี้หอมสดราคาเฉลี่ยอยู่ 11-13 บาทต่อกิโล แล้วแต่ขนาดเบอร์ เล็ก กลางใหญ่ ส่วนหอมแห้งอยู่ระหว่าง 40-48 บาท เมื่อต้นปีเคยพุ่งไปถึง 60 บาท ปัญหาที่ผ่านมาล้งเยอะเจอทั้งกดราคาและปัญหาการกักตุน พาณิชย์เข้ามาช่วยได้เยอะ เป็นการช่วยอีกแรงช่วยกระตุ้นพ่อค้าไม่ให้กักตุน ไม่กดราคาชาวบ้าน"ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเขวาน้อยกล่าว
นางพะยอมกล่าวต่อว่าสำหรับจุดเด่นหอมแดงศรีสะเกษนั้น มีลักษณะเปลือกบาง กลิ่นฉุน รสชาติออกหวาน ผิวมัน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 5 ตันต่อไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ อย่างเช่นปีนี้ปริมาณผลผลิตหอมแดงในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ จะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากฝนตกชุกและมีน้ำขังนาน ส่งผลทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย