THBA ชี้ผ่านครึ่งทาง Q1 กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง ส่งสัญญาณตลาดบ้านสร้างเองครึ่งปีแรกหดตัว เผยนำโปรแกรมฝึกอบรมมาตรฐานสร้างบ้านมืออาชีพออฟไลน์-ออนไลน์สมาชิก หวังช่วยเพิ่มศักยภาพและลดต้นทุน เชื่อปริมาณบ้านสร้างเองปีเถาะปรับตัวลดลง 8-10%
นายนิรัญ โพธิ์ศรี นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Builders Association :THBA)เผยว่า "ความต้องการสร้างบ้านของผู้บริโภคหรือตลาดบ้านสร้างเอง 2 เดือนแรกไม่คึกคักดังที่คาดการณ์กันไว้ ประเมินว่าปัจจัยหลัก ๆ น่าจะเกิดจาก 1.ค่าก่อสร้างบ้านที่ปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนวัสดุและค่าแรง 2.ปัญหาเงินเฟ้อและกำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลง 3.ความกังวลของผู้บริโภคที่มีต่ออัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยที่กล่าวมายอมรับว่าอยู่เหนือการควบคุมของฝ่ายผู้ประกอบการ คาดว่าปริมาณบ้านสร้างเองในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว และความต้องการสร้างบ้านของผู้บริโภคที่ลดลงย่อมกระทบต่อภาคธุรกิจรับสร้างบ้าน และผู้ประกอบการที่แข่งขันอยู่ในธุรกิจนี้จำเป็นจะต้องรู้เท่าทันและปรับตัวตาม เพื่อให้สามารถรับมือได้กับแนวโน้มตลาดและทิศทางการแข่งขันในภาวะที่กำลังซื้อชะลอตัว รวมถึงเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนและผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ด้วย"
สมาคมฯ เองได้ส่งสัญญาณเตือนให้ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิก ได้รับรู้และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ โดยเน้นย้ำถึงการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และให้ความสำคัญกับระบบงานหลังบ้าน (Back Office) เพื่อสามารถจัดการงานด้านต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและช่วยลดต้นทุน เช่น การนำโปรแกรมบัญชีออนไลน์มาใช้ปฎิบัติงาน การนำระบบ BIM มาใช้ในงานออกแบบสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม การจัดทำแผนงบประมาณรายรับ-รายจ่ายประจำปี ในส่วนของระบบงานหน้าบ้าน (Front Office) ได้แก่ งานขายและบริการลูกค้า งานบริหารและควบคุมการก่อสร้าง โดยสมาคมฯ ได้พัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับมาตรฐานการปฎิบัติงานของบุคลากรในแต่ละตำแหน่ง เช่น เจ้าหน้าที่ขาย สถาปนิกที่ปรึกษางานขาย โฟร์แมน วิศวกรควบคุมงาน พร้อมทั้งจัดโปรแกรมฝึกอบรมภาคทฤษฎีและปฎิบัติ โดยสมาชิกสามารถส่งบุคลากรที่เข้าร่วมงานใหม่และที่ปฎิบัติงานอยู่ก่อนแล้วเข้าร่วมฝึกอบรมได้ตามโปรแกรมที่กำหนดไว้ ทั้งนี้เพื่อบุคลากรจะได้เรียนรู้ทำความเข้าใจและทบทวนมาตรฐานการปฎิบัติงานได้อย่างถูกต้องแม่นยำและเป็นปัจจุบัน
"แนวทางปฎิบัติดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของสมาชิก เพื่อบริหารจัดการได้สมกับความเป็นมืออาชีพรับสร้างบ้านแท้จริง โดยมิต้องเอ่ยหรืออ้างถึงหน่วยงานใดมารับรองถึงความเป็นมืออาชีพแทนตัวเอง ซึ่งสมาคมฯ เองก็มิได้มีแนวคิดและต้องการให้สมาชิกปฎิบัติเช่นนั้น เพราะหากพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือในสายตาของผู้บริโภคที่มีต่อสมาชิกแล้ว ควรจะเกิดขึ้นจากผลงานและชื่อเสียงหรือแบรนด์ที่สมาชิกได้สร้างและสะสมมา อย่างไรก็ดี นอกจากการพัฒนาศักยภาพให้มีความเป็นมืออาชีพแล้ว ในส่วนของการตลาดและการแข่งขันก็เป็นสิ่งที่สมาชิกจะต้องปรับตัว โดยเฉพาะงบประมาณหรือต้นทุนทางการตลาด ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลง ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องใช้จ่ายระมัดระวังและได้ประโยชน์สูงสุด รวมทั้งสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย" นายนิรัญ กล่าว
ทั้งนี้จากข้อมูลที่สมาคมฯ เก็บรวบรวมเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบโฆษณาและประชาสัมพันธ์ พบว่าผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่แข่งขันทำการตลาดอยู่ในปัจจุบัน มีการใช้จ่ายงบด้านโฆษณาและประชาสัมพันธ์สูงถึง 5-10% ของตัวเลขยอดขายหรือรายได้ (ยังไม่นับรวมโปรโมชัน ลด แจก แถม 5-15%) ซึ่งมีผลทำให้ราคาขายบ้านสูงกว่าคุณภาพการสร้างบ้าน ที่ส่งมอบผู้บริโภค ทั้งในแง่คุณภาพวัสดุที่เลือกใช้ การให้บริการก่อนและหลังการขายด้านต่าง ๆ หรือแค่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทั่วไป ไม่ได้พิเศษหรือแตกต่างจากผู้รับเหมาสร้างบ้านรายย่อยทั่วไป ทำให้ผู้บริโภคที่เคยใช้บริการรู้สึกผิดหวังและมองผู้ประกอบการรับสร้างบ้านในเชิงลบ ด้วยเพราะคุณภาพที่ได้รับไม่ตรงกับคำโฆษณา สิ่งนี้สมาคมฯ ได้แนะนำสมาชิกให้ระมัดระวังและพิจารณาการตั้งราคาขายบ้าน ให้เหมาะสมกับต้นทุนการผลิตและบริการ หาทางปรับลดค่าการตลาดหรือค่าโฆษณาและประชาสัมพันธ์ลง หรือเฉลี่ยไม่ควรเกิน 3-5% โดยปรับมาใช้ช่องทางสื่อโฆษณาออนไลน์และโซเชียลมีเดียที่ต้นทุนต่ำกว่าแทน เพื่อลดต้นทุนการจัดการและผู้บริโภคได้บ้านที่ราคาสมเหตุสมผลที่สุด
"ก่อนหน้านี้สมาคมฯ ประเมินว่ามูลค่าบ้านที่ประชาชนสร้างเองทั่วประเทศ (มิใช่ บ้านจัดสรร) ปี 2566 มีปริมาณและมูลค่ารวม 2 แสนล้านบาทเศษ โดยกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งในต่างจังหวัด มีส่วนแบ่งตลาด 2.4 - 2.5 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 12% ซึ่งจากสถานการณ์ครึ่งทางไตรมาสแรกที่ผ่านมา แนวโน้มกำลังซื้อผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ก็คาดว่าปริมาณบ้านสร้างเองจะปรับตัวลดลง 8-10% ทั้งนี้หากผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิก สามารถปรับตัวได้ทันก็จะไม่ได้รับผลกระทบหรือมีผลกระทบไม่มาก" นายนิรัญ กล่าวทิ้งท้าย