กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.65-35.30 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 34.82 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 34.31-34.91 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือน สอดคล้องกับหลายสกุลเงินในภูมิภาค และเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนีดอลลาร์เทียบกับตะกร้าสกุลเงินหลักแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์ ขณะที่ตลาดปรับเพิ่มคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯหลังข้อมูลบ่งชี้ว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ทางด้านรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)วันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. ระบุว่าเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยในจังหวะที่ช้าลงเพื่อให้เฟดสามารถประเมินความคืบหน้าในการดึงอัตราเงินเฟ้อลงสู่เป้าหมายที่ 2% อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่บางรายสนับสนุนการปรับขึ้นดอกเบี้ย 50bps ในการประชุมครั้งนั้น ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อสูงจะยังคงเป็น "ปัจจัยสำคัญ" ที่มีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินและเฟดจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อไป ส่วนเงินเยนอ่อนค่าลงต่อเนื่องขณะที่ว่าที่ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)คนใหม่ไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งรีบในการปรับนโยบาย ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 19,531 ล้านบาท และ 7,284 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับสถานการณ์ในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดจะติดตามการเปิดเผยดัชนี ISM ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนก.พ.ของสหรัฐฯเพื่อประเมินว่าจะมีสัญญาณชะลอตัวลงบ้างหรือไม่ หลังจากข้อมูลเดือนม.ค.แข็งแกร่งอย่างมีนัยสำคัญส่งผลให้สัญญาล่วงหน้าสะท้อนไปแล้วว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 25bps อีกอย่างน้อย 3 ครั้งในปีนี้ สู่จุดสูงสุดของวัฏจักรที่ราว 5.4% ในเดือนก.ย. อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศอาจเป็นประเด็นรุมเร้าบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงและเพิ่มความผันผวนเป็นระยะ
สำหรับปัจจัยในประเทศ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับภาวะเศรษฐกิจเดือนม.ค.ซึ่งคาดว่ามูลค่าการส่งออกและนำเข้าจะหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดอาจเป็นบวกได้เล็กน้อยจากการเกินดุลบริการ อนึ่ง ในภาวะที่ตลาดได้ทบทวนคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯสู่ปลายทางที่สูงขึ้นไปพอสมควรแล้ว เรามองว่ากระแสเงินทุนไหลออกจากสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียรวมถึงไทยและการอ่อนค่าของเงินบาทอาจจะทุเลาลงบ้าง