แพทย์จุฬาฯ พัฒนาถุงมือพาร์กินสัน ลดอาการมือสั่นได้โดยอัตโนมัติ ใส่ง่าย น้ำหนักเบา คืนชีวิตทางสังคมให้ผู้ป่วยพาร์กินสัน ลดผลข้างเคียงจากการรับประทานยาหลายชนิดและโอกาสเสี่ยงจากการผ่าตัดสมอง
สั่น ช้า เกร็ง ? อาการผิดปกติที่สังเกตเห็นได้ชัดในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease) โดยเฉพาะอาการมือสั่นขณะพักอยู่เฉย ๆ ที่พบได้ในผู้ป่วยถึงร้อยละ 70 อาการสั่นอย่างควบคุมไม่ได้นี้ทำให้ผู้ป่วยมีภาพลักษณ์ของการเป็นโรค และอาจไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างที่ปรารถนา จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ดูแล ซึ่งลดทอนความรู้สึกมั่นใจในตัวเองและทำให้รู้สึกอายในการเข้าสังคม
แนวทางการรักษาโรคพาร์กินสันในปัจจุบัน คือ การรับประทานยารักษาโรคพาร์กินสันหลายชนิดร่วมกัน ซึ่งผลการรักษาส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถลดอาการสั่นได้ทั้งหมด และในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการสั่นมาก ๆ ก็อาจต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดสมองเพื่อลดอาการสั่น ซึ่งเป็นทางเลือกที่ไม่มีใครปรารถนา เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงและมีผลข้างเคียงมาก - นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้ทีมวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ พิทยศิริ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิง อรอนงค์ โพธิ์แก้ววรางกูล มุ่งมั่นวิจัยและพัฒนาต้นแบบนวัตกรรม "ถุงมือพาร์กินสันลดสั่น" มาตั้งแต่ปี 2557 ได้ทำการจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ โดยคำขอรับสิทธิบัตรภายใต้ชื่อ เครื่องวัดอาการสั่นและระงับอาการสั่นด้วยการกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้าแบบพกพา ตั้งแต่มกราคม 2560 และมีผลงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทางการแพทย์ระดับนานาชาติ ที่สนับสนุนประสิทธิภาพของอุปกรณ์ จนล่าสุดทีมได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนา "ถุงมือพาร์กินสันลดสั่นรุ่นที่ 5" ที่มีน้ำหนักเบา สวมใส่ง่าย ลดสั่นได้ดีอย่างเป็นอัตโนมัติ และที่สำคัญ คือ มีราคาย่อมเยากว่าอุปกรณ์ประเภทเดียวกันที่นำเข้าจากต่างประเทศ
"ถุงมือพาร์กินสันลดสั่นเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ชิ้นแรก ที่ช่วยลดอาการมือสั่นในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันด้วยการกระตุ้นกล้ามเนื้อมือด้วยกระแสไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ซึ่งเราหวังว่าจะช่วยให้คนไข้พาร์กินสันมีอาการสั่นลดลง โดยไม่ต้องเพิ่มยารับประทานจนเกินความจำเป็นและลดความเสี่ยงของการผ่าตัดสมองเพื่อลดอาการสั่น" ผศ.ดร.แพทย์หญิง อรอนงค์ เผยถึงความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมสำหรับโรคพาร์กินสัน
ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคพาร์กินสันกว่า 10 ล้านคน และในประเทศไทย มีราว 150,000 ราย โดยมีการประเมินว่าในจำนวนผู้สูงวัย (อายุ 60 ปีขึ้นไป) 100 คน จะมีผู้ที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน 1 คน! (อ่านเพิ่มเติม รู้จักโรคพาร์กินสัน)
"ยิ่งเราเข้าสู่สังคมสูงวัย ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น ซึ่งเราคาดการณ์ว่าแนวโน้มผู้ป่วยโรคโรคพาร์กินสันจะเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัวในอนาคต"
ผศ.ดร.แพทย์หญิง อรอนงค์กล่าวเสริมว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐานะและแนวทางการรักษาในระบบสาธารณสุขของประเทศ หากผู้ป่วยโรคพาร์กินสันอยู่ในวัยทำงาน ก็จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความสามารถในการทำงาน รวมไปถึงสถานะทางเศรษฐกิจในครอบครัวผู้ป่วย ในขณะที่โรคพาร์กินสันในผู้ป่วยที่สูงวัยจะเกิดผลกระทบทางสุขภาพอื่น ๆ ตามมาอีกหลายอย่าง อันเนื่องมาจากภาวะสูงวัยที่อาจจะเพิ่มปัญหาการทรงตัวไม่ดี การเดินลำบาก กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง จนอาจจะเกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น การหกล้ม จนอาจจะเกิดการบาดเจ็บหรือมีภาวะกระดูกหัก เป็นต้น ซึ่งนำไปสู่ภาวะผู้ป่วยติดเตียงได้ ทั้งหมดนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อแนวทางการรักษา งบประมาณค่าใช้จ่าย สุขภาวะทั้งของผู้ป่วยและครอบครัว และระบบสาธารณสุขโดยรวมของประเทศอีกด้วย
ถุงมือพาร์กินสันลดสั่น กระตุ้นกล้ามเนื้อมือให้ลดสั่นได้อย่างไร
ในปี 2557 ทีมผู้วิจัยนำโดย ผศ. ดร.แพทย์หญิงอรอนงค์ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาต้นแบบถุงมือพาร์กินสันลดสั่น (Prototype model) ที่สามารถตรวจวัดอาการมือสั่นของผู้ป่วยและกระตุ้นกล้ามเนื้อมือด้วยกระแสไฟฟ้า เพื่อระงับอาการมือสั่นได้โดยอัตโนมัติ
ผศ. ดร.แพทย์หญิงอรอนงค์ อธิบายว่าลักษณะการทำงานของถุงมือพาร์กินสันในการลดอาการสั่นแบบอัตโนมัติจะมาจากการทำงานร่วมกันของ 2 ระบบ ดังนี้
ผศ. ดร.แพทย์หญิง อรอนงค์ อธิบายเพิ่มเติมว่าอุปกรณ์ถุงมือพาร์กินสัน 1 ชุดจะประกอบด้วย 3 ส่วนประกอบหลัก ได้แก่ (1) ถุงมือที่มีการติดอุปกรณ์กระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยกระแสไฟฟ้า (2) เครื่องควบคุมการทำงานโดยการตรวจวัดอาการสั่นและการปล่อยกระแสไฟฟ้า และ (3) โทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่มีการติดตั้งโปรแกรมการควบคุมการทำงาน (mobile application) ในการเก็บข้อมูลอาการสั่นและการกระตุ้นกล้ามเนื้อบนหน่วยความจำในโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ คอมพิวเตอร์ที่มีโปรแกรมวิเคราะห์การสั่นโดยละเอียดอีกครั้ง ซึ่งทั้ง 3 ส่วนประกอบของถุงมือพาร์กินสันจะทำงานร่วมกันโดยอัตโนมัติ ผ่านการเชื่อมต่อและเก็บข้อมูลด้วยระบบไร้สาย (Bluetooth) (รูปภาพที่ 1)
6 จุดเด่นถุงมือพาร์กินสันลดสั่น
จากถุงมือต้นแบบที่ขนาดใหญ่จนเป็นที่สังเกตเห็นได้ชัด ในวันนี้ ถุงมือพาร์กินสันลดสั่นรุ่นที่ 5 ได้พัฒนาให้เป็นอุปกรณ์ที่มีรูปทรงสวยงาม ขนาดเล็กลงและมีน้ำหนักเบาขึ้น มีลักษณะเหมือนสายคล้องผ่ามือ (ดังภาพที่ 2) ซึ่งช่วยลดภาพลักษณ์ของความเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ลงไปได้มาก นอกจากนี้ ถุงมือพาร์กินสันรุ่นล่าสุดยังมีข้อดี-จุดเด่นอีกมาก ซึ่ง ผศ. ดร.แพทย์หญิง อรอนงค์ สรุปไว้ดังนี้
"ผู้ป่วยจำเป็นต้องสวมถุงมือนี้ตลอดเวลา เพื่อใช้การกระตุ้นกล้ามเนื้อมือด้วยไฟฟ้าในการลดอาการสั่น หากปิดเครื่อง หรือถอดอุปกรณ์นี้ ผู้ป่วยก็ยังคงมีอาการมือสั่นอยู่ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันส่วนใหญ่จะพบมีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติอื่น เช่น อาการช้า อาการเกร็ง ทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยารักษาโรคพาร์กินสัน แต่อาการสั่นมักพบต่อเมื่อมีการสนองต่อการรับประทานยาไม่ดี ดังนั้นการใช้ถุงมือลดสั่นนั้นจะช่วยผู้ป่วยไม่ต้องรับประทานยาเพิ่มเพื่อลดอาการสั่น และไม่ต้องเสี่ยงกับการผ่าตัดสมองเพื่อลดอาการสั่น" ผศ. ดร.แพทย์หญิง อรอนงค์ อธิบาย
หนุนงานวิจัย ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพชีวิตคนไข้พาร์กินสัน
แม้ในต่างประเทศจะมีการออกแบบและจำหน่ายอุปกรณ์ช่วยลดอาการมือสั่นในผู้ป่วยพาร์กินสัน แต่อุปกรณ์ส่วนใหญ่จะมีราคาสูงมากและยังไม่มีอุปกรณ์ในลักษณะแบบเดียวกันที่มีผลงานวิจัยทางการแพทย์รองรับ แต่นวัตกรรมถุงมือพาร์กินสันลดสั่นของจุฬาฯ มีผลงานวิจัยทางคลินิกรองรับ และมีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการทางการแพทย์ระดับนานาชาติ อีกทั้งราคาการผลิตถุงมือก็ต่ำกว่าของต่างประเทศ โดยปัจจุบันราคาการผลิตอยู่ที่ราว 3-4 หมื่นบาทต่อชุด
"ทีมงานอยากจะขอขอบคุณที่งานวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมถุงมือพาร์กินสันลดสั่นได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดจากหลายหน่วยงาน ทั้งทุนจากจุฬาฯ ภาครัฐ และภาคเอกชนภายนอก มาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีผู้มีจิตศรัทธาที่จะช่วยบริจาคเงิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาอุปกรณ์นี้แก่ผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยอุปกรณ์ถุงมือนี้ได้ดียิ่งขึ้น" ผศ. ดร.แพทย์หญิง อรอนงค์ กล่าว
ปัจจุบัน ถุงมือพาร์กินสันลดสั่นได้ถูกนำมาใช้กับคนไข้พาร์กินสันที่โรงพยาบาลจุฬาฯ แล้ว จำนวนกว่า 50 ราย และพิสูจน์ประสิทธิภาพว่าช่วยลดอาการมือสั่นได้ดี (ดังภาพที่ 3)
วางแผนพัฒนาถุงมือพาร์กินสันรุ่นต่อไป
ถุงมือพาร์กินสันลดสั่น จุฬาฯ เพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเภทหน่วยงานภาคเอกชน ประจำปี 2565 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถึงแม้อย่างนั้น ทีมผู้วิจัยก็ยังคงตั้งเป้าเดินหน้าการพัฒนานวัตกรรมให้เป็นประโยชน์และใช้งานง่ายกับคนไข้อย่างต่อเนื่อง
"ในอนาคตทีมผู้วิจัยถุงมือพาร์กินสันลดสั่นวางแผนว่า จะพัฒนาให้ถุงมือพาร์กินสันลดสั่นให้เล็กลงและสวยงามขึ้นอีก สามารถสวมใส่แล้วดูไม่เหมือนอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่ให้ดูเหมือนเป็นการสวมใส่เครื่องประดับ หรือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกาย แต่ยังคงประสิทธิภาพในการลดสั่นที่ดี มีประสิทธิภาพความเสถียรของกระแสไฟฟ้าที่ดี การอัปโหลดข้อมูลทำได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังพัฒนาให้สามารถตรวจวัดและลดอาการสั่นของอวัยวะอื่นของร่างกายได้ด้วย เช่น อาการขาสั่น รวมไปถึงการประยุกต์ใช้เพื่อลดอาการสั่นในกลุ่มโรคอื่น ๆ ได้ด้วย"
ตั้งเป้าหาผู้ร่วมทุน ผลิตถุงมือลดสั่นเพื่อคนไข้พาร์กินสัน
แม้ตอนนี้ถุงมือพาร์กินสันลดสั่นยังจำกัดการใช้อยู่ในกลุ่มคนไข้ของโรงพยาบาลจุฬาฯ ซึ่งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ ยังเปิดรับคนไข้ให้ได้ทดลองใช้อุปกรณ์นี้ ซึ่งถ้าใช้แล้ว อาการดีขึ้น ทางศูนย์ฯ ก็ยินดีที่จะสนับสนุนอุปกรณ์นี้ให้ผู้ป่วยได้ใช้ต่อเนื่อง
ผศ. ดร.แพทย์หญิง อรอนงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่านวัตกรรม "ถุงมือพาร์กินสันลดสั่น" อยู่ในระดับพร้อมถ่ายทอดและได้เริ่มทำการจำหน่ายเชิงพาณิชย์เพื่อประโยชน์กับคนไข้อย่างกว้างขวางแล้ว และกำลังเปิดรับความร่วมมือจากผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมาพัฒนาต่อยอดและผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อคนไข้พาร์กินสันจะได้รับประโยชน์จากอุปกรณ์ทางการแพทย์มากที่สุด
ข้อมูลติดต่อสำหรับหน่วยงานและผู้สนใจ ถุงมือพาร์กินสันลดสั่น
- คนไข้พาร์กินสันทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ที่ประสบกับปัญหาการอาการมือสั่น และต้องการใช้ถุงมือพาร์กินสันลดสั่น
- โรงพยาบาลภายในประเทศและต่างประเทศ คลินิกแพทย์อายุรกรรมและแพทย์ทั่วไป รวมถึงโรงเรียนแพทย์และพยาบาล ที่ต้องการใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอนในผู้ป่วยจริง
สามารถติดต่อ ศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ พิทยศิริ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตึกผู้สูงอายุ หรือ ตึกสธ. ชั้น 7 โทร.0-2256-4000 ต่อ 70702-3 โทรสาร 02-256-4000 ต่อ 70704 โทรศัพท์มือถือ 08-1107-9999 Website: www.chulapd.org