เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TRU ผู้ผลิตชิ้นส่วนและจัดจำหน่ายรถยนต์อเนกประสงค์สัญชาติไทย เปิดเผยผลการดำเนินงานประจำปี 2565 สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทฯ มีรายได้ 3,029 ล้านบาท โตขึ้นกว่า 48% และมีกำไรสุทธิ 394 ล้านบาท โตขึ้น 4 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช่วยส่งให้ธุรกิจในกลุ่มของบริษัทฯ เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันธุรกิจหลักของ TRU แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) งานแม่พิมพ์และชิ้นส่วนยานยนต์ คิดเป็น 50% ของรายได้รวม 2) งานรับจ้างประกอบและทำสี คิดเป็น 40% ของรายได้รวม และ 3) รถพิเศษเฉพาะทางต่างๆ และ After sale service คิดเป็น 10 % ของรายได้รวม โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ารายได้หลักของปี 2565 ยังคงมาจากธุรกิจงานแม่พิมพ์และชิ้นส่วนยานยนต์ และรับจ้างประกอบและทำสี ซึ่งเป็นงานที่ทางบริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์มามากกว่า 50 ปี
นายสมพงษ์ เผอิญโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ TRU กล่าวว่า "ในปี 2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่ทางบริษัทฯ เติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นสัญญาณที่ดีส่งต่อมาจนถึงปี 2566 ซึ่งทางบริษัทฯ เล็งเห็นโอกาสที่จะขยายงานได้อีกมากในอนาคต ในปีนี้เรามีโปรเจกต์ใหม่ส่งออกหัวเคบินหรือห้องโดยสารรถขุดตักไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้บริษัทฯ ประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี และยังมีงานรับจ้างผลิตรถสามล้อไฟฟ้าที่ยังคงมีออร์เดอร์อย่างต่อเนื่อง และมีโครงการใหม่รถสามล้อไฟฟ้าสำหรับขนส่งภายในปีนี้อีกด้วย
ทั้งนี้ ทิศทางการดำเนินงานของ TRU ในปี 2566 ทางบริษัทฯ จะเน้นการสร้างมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ อย่าง 'รถ TR TRANSFORMER' ซึ่งในปีนี้ตั้งเป้าเติบโตทั้งการขายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ และสามารถต่อยอดนวัตกรรมไปยังผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้เข้ามาสร้างสีสันและไฮไลท์สำคัญแก่วงการอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย อาทิ "รถหุ้มเกราะป้องกันกระสุน" ซึ่งปัจจุบันได้ผ่านการรับรองมาตรฐานยุทโธปกรณ์กระทรวงกลาโหมเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้านวัตกรรมไทย เพื่อขยายตลาดหน่วยงานราชการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่ง TRU มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจที่เป็น supply chain ในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และช่วยให้ประเทศไทยประหยัดงบประมาณนำเข้ายุทโธปกรณ์จากต่างประเทศได้
และจากการที่ภาครัฐมีนโยบายที่จะส่งเสริมสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น โดยมีนโยบายที่จะสนับสนุนให้ใช้รถบัสไฟฟ้าในการขนส่งมวลชนและรองรับธุรกิจท่องเที่ยวในเมือง เพื่อลดมลพิษ PM 2.5 และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ทางไทยรุ่งฯ จึงได้พัฒนา "รถมินิบัสไฟฟ้า" ขนาด 20-26 ที่นั่ง สามารถวิ่งได้ 150 กิโลเมตรต่อการชาร์จ มีขนาดแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน 105.3 kWh อีกทั้งยังได้พัฒนา "รถบรรทุกไฟฟ้า" (EV Truck) ขนาดบรรทุก 1,500 กิโลกรัม สามารถวิ่งได้ 240 กิโลเมตรต่อการชาร์จ เพิ่มเติมจากการผลิตรถสามล้อไฟฟ้าที่ผลิตอยู่ในปัจจุบัน เพื่อรองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์ (Logistic) ซึ่งมีการเติบโตสูงมาก ซึ่งการพัฒนารถไฟฟ้าทั้ง 2 รุ่นดังกล่าวเป็นหนึ่งในเป้าหมายการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมีนโยบายดำเนินธุรกิจสู่เป้าหมาย Carbon neutral และ Net zero emissions ในอนาคต โดยคาดว่าจะสามารถเปิดตลาดได้ภายในปี 2566 นี้ ซึ่งนับว่าเป็นธุรกิจที่มีอนาคตสดใส
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะขยายธุรกิจการรับจ้างประกอบรถยนต์และยานยนต์ไฟฟ้าให้กับบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการขยายตลาดเข้ามาขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย รวมทั้งมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูง"
ด้านที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมตินำเสนอให้ผู้ถือหุ้นจ่ายปันผลในอัตรา 0.45 บาท/หุ้น คิดเป็น 69% ของกำไร โดยแบ่งเป็นหุ้นปันผล 10 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นปันผล และปันผลเป็นเงินสด 0.35 บาท/หุ้น เพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้นทุกท่านที่ให้ความไว้วางใจและให้การสนับสนุนบริษัทฯ มาเป็นอย่างดี