ครั้งแรกในอาเซียน สุดยอดการประชุมนาชาติด้านความปลอดภัยและมั่นคงแห่งเอเชีย Asia Security and Emergency Congress

ข่าวทั่วไป Thursday April 17, 2008 15:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--อินเตอร์เนชั่นแนลโปรโมชั่นแอนด์เอ็กซิบิชั่น
ข่าวประชาสัมพันธ์ ครั้งแรกในอาเซียน สุดยอดการประชุมนาชาติด้านความปลอดภัยและมั่นคงแห่งเอเชีย Asia Security and Emergency Congress บิ๊กสมาคม "APSA" ชูงานประชุมนานาชาติ Asia Security & Emergency Congress จัดขึ้นพร้อมๆกับงาน Intersec Thailand 2008 ในช่วงปลายปี ดันตลาดอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยของไทยโต 5-10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี พร้อมจี้ภาครัฐ เร่งผลักดันร่าง"พ.ร.บ.รักษาความปลอดภัย" เชื่อจะเพิ่มมาตรฐานอาชีพรักษาปลอดภัยของไทยในอนาคต ดร.วัลลภ กิ่งชาญศิลป์ ประธานกรรมการ บริษัท กัทส์ อินเวสติเกชั่น จำกัด และกลุ่มบริษัทในเครือ ในฐานะประธานสมาคมรักษาความปลอดภัยภาคพื้นเอเชีย หรือ APSA (Asian Professional Security Association) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ 11 กันยา 2001 ที่สหรัฐอเมริกา เหตุระเบิดที่โรงแรม JW Marriot ในบาหลี และเหตุลอบวางระเบิดในกรุงเทพฯ รวมทั้งความไม่สงบในภาคใต้ ทำให้ปัจจุบัน คนไทยเริ่มตระหนักถึงความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ตลาดสินค้าประเภท Safety & Security ในเมืองไทยมีการขยายตัวที่น่าพอใจ มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 433 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยว และภาคการเงินการธนาคาร จากความต้องการอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยที่มากขึ้น ทำให้หน่วยงานต่างๆ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการริเริ่มจัดสุดยอดการประชุมนานาชาติ ที่จะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ด้านสินค้าและระบบรักษาความปลอดภัยขึ้น โดยในช่วงปลายปีนี้จะมีการประชุมสุดยอดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคและเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ภายใต้ชื่องาน Asia Security & Emergency Congress ซึ่งในส่วนของการประชุมนั้น สมาคม APSA จะเป็นองค์กรหลักในการจัดการประชุม "สำหรับการประชุม Asia Security & Emergency Congress จะมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับงานการป้องกันและรักษาความปลอดภัย หรือ Safety โดยมีหัวข้อที่เกี่ยวข้องครอบคลุมใน 6 หัวข้อหลัก คือ การรักษาความปลอดภัยในเพื่อการพาณิชย์ การป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติ การป้องกันและรักษาความปลอดภัยระดับประเทศ การรักษาความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การป้องกันภัยในด้านสาธารณะ และการป้องกันภัยในด้านบุคคลและการประกอบอาชีพ ทั้งนี้การประชุมในหัวข้อต่างๆ จะเชิญผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจากแขนงต่างๆ จำนวน 15 คน (Keynote Speakers) และผู้เชี่ยวชาญทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศอีก 60 คน มาเป็นวิทยากร เพื่อให้ความรู้ และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน" ดร.วัลลภ กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดการประชุมในครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากทั้งหน่วยงานรัฐบาล ราชการ ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานรักษาความปลอดภัยเป็นอย่างดี เพราะมีส่วนช่วยพัฒนามาตรฐานการดำรงชีวิตและอุตสาหกรรมในประเทศโดยรวม และในงานนี้จะมีการจัดงานแสดงสินค้าด้านอุปกรณ์และระบบรักษาความปลอดภัย Intersec Thailand 2008 ควบคู่กันไป ซึ่งจะช่วยเร่งการเติบโตของตลาดอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยของไทยให้มากกว่า 5-10 เปอร์เซ็นต์ต่อปีอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน "การประชุม Asia Security & Emergency Congress 2008 นั้น ทางสมาคมฯ ได้ตั้งเป้าหมายจะให้เป็นงานการประชุมนานาชาติที่สำคัญที่สุดงานหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย และจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ 2 ปีในประเทศไทย และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมจากต่างประเทศจำนวน 1,500 คน และในประเทศอีก 5,000 คน โดยการประชุมในครั้งนี้ จะมีการแปลใน 3 ภาษาคือ ไทย จีน และอังกฤษ อีกด้วย" อย่างไรก็ตาม ดร.วัลลภ ยังได้กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติอาชีพธุรกิจรักษาความปลอดภัย ที่มีการผลักดันมากว่า 10 ปี ว่า อยากจะเห็นการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ให้เร็วที่สุด เพื่อให้ผู้ทำงานด้านรักษาความปลอดภัยเป็นมืออาชีพ โดยมี พ.ร.บ.ฉบับนี้มารองรับและเป็นตัวกำหนดมาตรฐาน ซึ่งจะเป็นการยกระดับอาชีพดังกล่าวให้มีมั่นคง และมีสวัสดิการเหมือนกับอาชีพทั่วไป อีกทั้งผู้ปฏิบัติงานดังกล่าว สามารถเป็นกองกำลังเสริมให้กับหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐ ทั้งทหารและตำรวจได้ รวมทั้งภาคเอกชนที่ต้องการรักษาความปลอดภัย อาทิ ร้านทอง ธนาคาร คุ้มกันการขนส่งทรัพย์สินหรือเงินสด ตลอดจนการตรวจตราทั่วไป ซึ่งผู้ปฏิบัติงานด้านรักษาความปลอดภัย ก็สามารถแบ่งเบาภาระในส่วนนี้ได้เช่นกัน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ไอริณ ฤกษะสาร 081 584 1797 บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนลโปรโมชั่นแอนด์เอ็กซิบิชั่น จำกัด โทร 02 664 6488 ต่อ 401 ภัทรวดี ใจผ่อง (เอ) 085 239 8400 สร้อยสน ทองใบศรี 086 310 9859

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ