ก.แรงงาน เดินสายเยี่ยมโรงงานชลบุรี กระตุ้นนายจ้าง จ้างแรงงานถูกกฎหมาย ดูแลสิทธิ - สวัสดิการต่างด้าวเท่าเทียม

ข่าวทั่วไป Wednesday March 1, 2023 10:33 —ThaiPR.net

ก.แรงงาน เดินสายเยี่ยมโรงงานชลบุรี กระตุ้นนายจ้าง จ้างแรงงานถูกกฎหมาย ดูแลสิทธิ - สวัสดิการต่างด้าวเท่าเทียม

นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงานและโฆษกกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมออกหน่วยประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่(Road Show) ของกระทรวงแรงงาน ตามโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ และความเข้าใจนโยบายการบริหารจัดการ การนำเข้า ป้องกันและคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าวของกระทรวงแรงงานและรัฐบาล เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องสิทธิของแรงงานต่างด้าว ภายใต้กรอบแนวคิด "แรงงานต่างด้าวและแรงงานไทยได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม" เพื่อส่งเสริมให้นายจ้างสถานประกอบการจ้างแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย โดยมี นายอาคม คุ้มหมู่ ผู้อำนวยการกองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดชลบุรี ผู้จัดการฝ่ายบุคคลบริษัท พนัสโพลทรี่ กรุ๊ป จำกัด และลูกจ้างแรงงานต่างด้าว ร่วมให้การต้อนรับ ณ บริษัท พนัสโพลทรี่ กรุ๊ป จำกัด ต.หมอนนาง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นสถานประกอบกิจการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตร ประเภทแปรรูปอาหารแช่แข็ง ไก่ เพื่อการส่งออกไปต่างประเทศ ปัจจุบันมีลูกจ้าง แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา และกัมพูชาจำนวนประมาณ 6,500 คน เป็นคนไทยประมาณ 1,000 คน

นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ ท่านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงาน โดย ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามโดยคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศและความปลอดภัยของประชาชนชาวไทย ซึ่งวันนี้ในส่วนของกระทรวงแรงงาน โดยกองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ได้นำกิจกรรม นิทรรศการมาออกหน่วยประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ตามโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ และความเข้าใจนโยบายการบริหารจัดการ การนำเข้า ป้องกันและคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าวของกระทรวงแรงงานและรัฐบาล เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องสิทธิของแรงงานต่างด้าว ภายใต้กรอบแนวคิด "แรงงานต่างด้าวและแรงงานไทยได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม" โดยมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ไปสู่นายจ้าง สถานประกอบกิจการที่จ้างแรงงานต่างด้านในพื้นที่ รวมทั้งกำชับให้ส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่ให้ความสำคัญในการบูรณาการบริหารจัดการ การนำเข้า ป้องกัน และคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าวให้ได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกับแรงงานไทย เช่น อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ การรักษาพยาบาลการได้รับสวัสดิการจากสถานประกอบการ อย่างเป็นธรรม เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดปัญหาการค้ามนุษย์ในรูปแบบที่เลวร้าย ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการจัดลำดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทยให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเดิม

นายวรรณรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบการจัดกิจกรรมในสถานประกอบกิจการครั้งนี้ จะเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในสิทธิความเท่าเทียมระหว่างแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวที่จะให้ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายของประเทศไทย รวมถึงเป็นการแสดงออกของกระทรวงแรงงานและรัฐบาลในการมุ่งมั่นส่งเสริม ป้องกัน มิให้นายจ้าง/สถานประกอบกิจการเอารัดเอาเปรียบแรงงานต่างด้าวในสถานประกอบกิจการของตนเอง ซึ่งจะส่งผลให้การจัดลำดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทยจาก Tier 2 ไปสู่ Tier 1 ตามความมุ่งหวังของกระทรวงแรงงานและรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

โอกาสเดียวกันนี้ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ยังได้เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดชลบุรี เพื่อติดตามการบริหารจัดการ การนำเข้าป้องกันและคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าว ณ ห้องประชุมสำนักงานจัดหางานจังหวัดชลบุรี โดยได้กำชับหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานให้ดำเนินการทำตามนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวอย่างเคร่งครัด

สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงานต่างด้าวของจังหวัดชลบุรี ปัจจุบันมีคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฯ จำนวนทั้งสิ้น 221,473 คนแบ่งออกเป็นคนต่างด้าว มาตรา 62 (BOI) จำนวน 16,488 คน แรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ เมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม จำนวน 204,985 คน แรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ เมียนมากัมพูชา ลาว และเวียดนาม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ กลุ่มที่เดินทางเข้ามาตามบันทึกข้อตกลงระหว่างประเทศ (MOU) จำนวน 37,094 คน กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีจำนวน 167,891 คน สำนักงานจัดหางานจังหวัดชลบุรีตรวจสอบนายจ้าง/สถานประกอบการและการทำงานของคนต่างด้าว ประจำปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 - 25 มกราคม 2566 ได้ดำเนินการตรวจสอบสถานประกอบการ 659 แห่ง ต่างด้าว 14,092 คน

"การใช้แรงงานที่ถูกกฎหมายจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะเกิดความมั่นคงด้านแรงงาน เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ที่สำคัญจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการดูแลสิทธิให้ความคุ้มครองแก่แรงงานทุกคน ทุกกลุ่มตลอดจนจะช่วยต่อต้านการบังคับใช้แรงงานในรูปแบบต่างๆ รวมถึงป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอีกด้วย" นายวรรณรัตน์ กล่าวท้ายสุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ