อว.ปูพรมภาคอีสานศรีสะเกษ-สุรินทร์ ช่วยผู้ประกอบการดันสินค้าชุมชน U2T for BCG เต็มกำลัง "ดร.ดนุช"ลั่น! พร้อมส่งเสริมถึงส่งออก
หากพูดถึงจังหวัดศรีสะเกษและสุรินทร์ หลายคนต้องนึกถึงสินค้าชุมชนที่หลากหลาย ทั้งสินค้าทางการเกษตร พืชผัก ข้าว ผ้าไหม เครื่องจักสานต่างๆ เป็นต้น ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมและเพิ่มมูลค่าทางวัตถุดิบให้เกิดประโยชน์สูงสุด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอย่างยั่งยืน ได้ดำเนินโครงการ "มหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG" เพื่อเพิ่มมูลค่า ยกระดับสินค้าชุมชนให้เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน
โดย ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เจ้าของฉายา "มิสเตอร์ U2T" ลงพื้นที่ลุย "กิจกรรมโครงการส่งเสริมการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้า U2T for BCG" ที่จังหวัดศรีสะเกษ และสุรินทร์ต่อเนื่อง พร้อมกล่าวว่า "อว.พร้อมช่วยเหลือและสนับสนุนชุมชนทุกรูปแบบ โดยเอาองค์ความรู้ต่างๆ หน่วยงานต่างๆ ทั้งคลินิกเทคโนโลยี, Science Park และศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ(UBI) ที่มีอยู่ มาช่วยพัฒนาสินค้าให้ชุมชนตั้งแต่จิ้งหรีดจนถึงจานดาวเทียม จิ้งหรีดก็พัฒนาทำเป็นโปรตีนผง ซึ่งมีโปรตีนสูงมาก และสามารถทำราคาขายได้ดีกว่า ส่วนดาวเทียม ก็มีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ดูแลเรื่องดาวเทียม ที่ดูแลสภาพอากาศให้สินค้าทางการเกษตรอีกที"
เรื่องการผลักดันสินค้า U2T ไปจนถึงการส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศนั้น อว.ก็พร้อมช่วยซัพพอร์ตเต็มที่ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของชุมชนด้วยว่า มีความต้องการถึงขั้นไหน แค่ทำตลาดออนไลน์ แค่ขอ อย. หรือแค่ต้องการเอาสินค้าเข้าไปขายในห้างสรรพสินค้า หรือไปไกลถึงขั้นส่งออกตลาดต่างประเทศ แต่ ณ วันนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จเกินคาดแล้ว ในเรื่องของการช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุนในเรื่องของการทำมาร์เก็ตติ้งออนไลน์ เพราะสินค้าผลิตไม่ทันขาย
"ปีงบประมาณ 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ยังคงมุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG หรือ Bio Circular Green Economy ในพื้นที่ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์และบริการออกสู่ตลาดอย่างเป็นระบบ"
จังหวัดศรีสะเกษและสุรินทร์ มีจุดได้เปรียบในหลายๆ เรื่อง มหาวิทยาลัยและชุมชนจึงนำทรัพยากรต่างๆ ในแต่ละชุมชน แต่ละตำบล แต่ละอำเภอมาเพิ่มมูลค่าเป็นสินค้าใหม่ๆ รวมถึงนำทรัพยากรที่เป็นของเสียมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างเงิน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่นสินค้าภายใต้แบรนด์ "กูยรงระ" ของชุมชนบ้านรงระ ต.ตูม อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีหลากหลายผลิตภัณฑ์ทั้งข้าวสาร ปลาส้ม ปลาร้าบรรจุขวด โลชั่นทาผิว แชมพูสระผม โคลนหมักผม ผ้าไหม ผ้าทอ กระเป๋าผ้าปักมือ เป็นต้น ถือเป็นหนึ่งในชุมชนเข้มแข็ง ที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากโครงการ U2T for BCG จนชาวบ้านในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
เช่นเดียวกับนายธีรโชติ พลชัย ตัวแทนกลุ่มทำกระเป๋าถือสตรีจากไม้ไผ่ลายเข่งปลาทู และเสื่อกก ต.สำโรงพลัน อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ เล่าว่า ต.สำโรงพลัน อ.ไพรบึง มีอาชีพหลักทำเครื่องจักสานขาย เช่น เข่งปลาทู และทอเสื่อกก โดยเข่งปลาทู ทำรายได้เข่งละ 7 บาท ขณะที่เสื่อกก ทำรายได้ผืนละ 250-300 บาท พอทางมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และอว.เข้าไปช่วยเพิ่มองค์ความรู้และบูรณาการสิ่งที่มีอยู่แล้ว โดยนำผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานต่างๆ มาแปรรูปทำเป็นกระเป๋าถือสตรี สามารถช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าได้หลายเท่าตัว โดยกระเป๋าถือสามารถทำราคาขายได้สูงถึงใบละ 2,500 บาท พร้อมช่วยผลักดันให้สินค้าออกสู่ตลาดอย่างเป็นระบบทั้ง online/offline
ด้านนางสาวสุพรรณี ทรงทัน ตัวแทนกลุ่มแม่บ้านสินค้าแปรรูปจากแหล่งผลิตอินทรีย์ "ปลาส้ม พ่อขุน" ต.กระหวัน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ เล่าว่า การมีโครงการ U2T for BCG เข้าไปในพื้นที่ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยเหลือชุมชนได้เยอะมากๆ ช่วยทั้งให้ความรู้ พัฒนา ส่งเสริมและสนับสนุนแปรรูปสินค้า จากปลาเลี้ยง เป็นปลาส้ม ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าจากเดิมที่ปลาสดทั้งปลานิล ปลาตะเพียนขายได้กิโลกรัมละ 65-70 บาท พอแปรรูปเป็นปลาส้มสามารถขายได้ถึงกิโลกรัมละ 120 บาท นอกจากนี้ยังช่วยสร้างแบรนด์สินค้า"ปลาส้ม พ่อขุน" ช่วยส่งเสริมการตลาด ประชาสัมพันธ์ และแนะนำสินค้าออกสู่ตลาดอย่างเป็นระบบมากขึ้นด้วย
เช่นเดียวกัน ชาวบ้านในต.ตาวัง อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ นายสังเวียน ป้อนคำ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ U2T for BCG ที่ทำ "ปุ๋ยมูลค่าสูง" จากการส่งเสริมและสนับสนุนของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และ อว.จนสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในชุมชนเป็นจำนวนมาก โดยปุ๋ยมูลค่าสูงที่มีส่วนประกอบหลักเป็นมูลวัว ตะไคร้หอม ผงถ่านหมักจาวปลวก บรรจุถุง 2.5 กิโลกรัม สามารถทำราคาขายได้ถึงถุงละ 39 บาท จากเดิมที่มูลสัตว์(ขี้วัว)ใส่กระสอบปุ๋ยขนาดใญ่ขายได้เพียงกระสอบละ 40 บาทเท่านั้น "เดิมชุมชน ต.ตาวัง อ.บัวเชด เป็นชุมชนที่เลี้ยงสัตว์อยู่แล้ว ดังนั้นจึงมีมูลสัตว์จำนวนมาก สร้างมลภาวะให้ชุมชนใกล้เคียง พอ U2T เข้าไปช่วยบริหารจัดการ นำองค์ความรู้ต่างๆ นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนา ช่วยสร้างมูลค่าของมูลสัตว์ให้มีมูลค่ามากขึ้น"
ในปีนี้ อว.จะเดินหน้าโครงการส่งเสริมการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้า U2T for BCG ให้เข้าถึงผู้บริโภคต่อ เพื่อเป้าหมายสร้างผลิตภัณฑ์และผู้ประกอบการที่มีคุณภาพต่อไป