กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--กทม.
กทม.ออก 7 มาตรการปฏิบัติตนเพื่อความปลอดภัยจากพายุฝนฟ้าคะนอง พร้อมเร่งรัดรื้อถอนป้ายผิดกฎหมาย 270 ป้าย หากล้มเจ้าของต้องรับผิดชอบทั้งหมด ที่ผ่านมารื้อถอนไปแล้ว 35 ป้าย นอกนั้นจะประสานกรมโยธาธิการและผังเมือง ดันกฎกระทรวงบังคับใช้กับป้ายโฆษณาให้สามารถรับแรงลมได้จากเดิม 3 เท่า
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แจ้งว่า ขณะนี้เป็นฤดูร้อนมีฝนฟ้าคะนองและลมกรรโชกแรงหลายแห่งในพื้นที่ กรุงเทพมหานครจึงออกประกาศเรื่องการปฏิบัติตนเพื่อความปลอดภัยจากพายุฝนฟ้าคะนอง เพื่อป้องกันอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน และเตรียมการหลบเลี่ยงอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง คือ 1. 1. กรณีพบเหตุความเสียหายอันเกิดจากพายุฝนฟ้าคะนอง เช่น ป้ายโฆษณาพัง ต้นไม้ล้ม เสาไฟฟ้าโค่นหัก เป็นต้น ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครทันทีที่หมายเลขโทรศัพท์ 199 2. ขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองควรอยู่ภายในอาคารบ้านเรือนที่มีความมั่นคงแข็งแรงจนกว่าสถานการณ์จะยุติลง ถ้าอยู่ในตึกหรืออาคารสูงให้หลีกเลี่ยงการใช้ลิฟต์ขึ้น-ลง และควรใช้บันไดแทน เนื่องจากอาจเกิดไฟฟ้าดับ ทำให้ติดค้างอยู่ภายในลิฟต์ได้ 3. กรณีที่อยู่ในที่โล่งแจ้ง ไม่ควรเข้าไปใต้ต้นไม้ยืนต้น หรือเพิงที่อยู่โดดเดี่ยว และควรหลีกเลี่ยงหรือระงับการทำกิจกรรมกลางแจ้งทันที เนื่องจากพื้นที่ที่เปียกจะเป็นสื่อและเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าได้มากขึ้น 4. ควรให้คำแนะนำบุตรหลาน เด็กเล็กให้อยู่ห่างจากวัตถุที่เป็นสื่อไฟฟ้าทุกชนิด เช่น ลวด โลหะ ท่อน้ำ แนวรั้วบ้าน อุปกรณ์ทำสวน เป็นต้น ในกรณีที่พบเห็นสายไฟฟ้าหรือสายโทรศัพท์ขาด ตกห้อยพาดตามพื้นถนนไม่ควรหยิบจับหรือเข้าใกล้ เพราะอาจเป็นอันตรายจากการถูกไฟฟ้าดูดได้ ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาดำเนินการแก้ไข 5. ไม่ควรใส่เครื่องประดับโลหะ เช่น ทองเหลือง ทองแดงในที่โล่งแจ้ง หรือถือวัตถุโลหะในขณะที่เกิดฝนฟ้าคะนอง เพราะวัตถุดังกล่าวจะเป็นสื่อให้เกิดฟ้าผ่าลงมาที่ตัวได้ 6. ควรงดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น โทรทัศน์ และงดใช้โทรศัพท์ชั่วคราว ยกเว้นในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น เพราะฟ้าอาจผ่าลงมาที่เครื่องโทรทัศน์และสายโทรศัพท์ได้ 7. ควรดูแลสิ่งของต่างๆ ที่อยู่ภายนอกบ้านให้อยู่ในสภาพที่มั่นคง แข็งแรง และปลอดภัยเสมอ โดยเฉพาะสิ่งที่อาจจะโค่นหักหรือพังลงมา เช่น ป้ายโฆษณา เป็นต้น และหากพบเห็นกิ่งไม้ที่ไม่แข็งแรง หรือพาดอยู่บนสายไฟ หรือพบเห็นสิ่งปลูกสร้างใดๆ ที่ไม่แข็งแรงและอาจเกิดการโค่นหักจากลมพายุได้ ให้รีบโทรศัพท์แจ้งหมายเลข 199 หรือแจ้งสำนักงานเขตท้องที่ เพื่อดำเนินการแก้ไขและให้ความช่วยเหลือต่อไป
ด้าน ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้กรุงเทพมหานครได้เร่งรัดการรื้อถอนป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่ไม่ได้รับการอนุญาตให้ติดตั้ง จำนวน 270 ป้าย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เขตลาดกระบังจำนวนถึง 35 ป้าย ซึ่งกรุงเทพมหานครได้มีหนังสือแจ้งให้เจ้าของป้ายทั้งหมดรื้อถอนแล้ว โดยส่วนหนึ่งเจ้าของจะรื้อถอนเอง นอกนั้นกรุงเทพมหานครจะรื้อถอนโดยตั้งงบประมาณไปก่อนแล้วค่อยเรียกเก็บกับเจ้าของป้ายทีหลัง ซึ่งในระหว่างที่ดำเนินการนั้นหากมีเหตุป้ายล้ม แล้วก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตทรัพย์สินผู้อื่น เจ้าของป้ายต้องรับผิดชอบทั้งหมด เนื่องจากเป็นทรัพย์สินของเอกชนไม่ใช่ทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร แต่ในการรื้อย้ายนั้นกรุงเทพมหานครจะอำนวยความสะดวกด้านการกันพื้นที่ การอำนวยการจราจรให้ ทั้งนี้ที่ผ่านมามีการรื้อถอนป้ายไปแล้วจำนวน 35 ป้าย คงเหลือ 235 ป้ายที่ต้องเร่งรัด
สำหรับมาตรการที่ได้แจ้งให้เขตดำเนินการนั้น รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ กล่าวว่า ให้ดำเนินการตามประกาศทั้ง 7 ข้ออย่างเคร่งครัด ส่วนหนึ่งให้ตรวจสอบในพื้นที่ว่ามีป้ายที่ไม่มั่นคงแข็งแรงหรือไม่ หากมีให้รีบดำเนินการโดยด่วน ส่วนการตัดแต่งกิ่งต้นไม้นั้นให้ประสานกับการไฟฟ้านครหลวงให้เข้าตัดแต่งแล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้กรุงเทพมหานครจะประสานการดำเนินการกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ผลักดันกฎกระทรวงบังคับใช้กับป้ายโฆษณาให้สามารถรับแรงลมได้จากเดิม 50 กิโลกรัมต่อตารางเมตร เป็น 150 กิโลกรัมต่อตารางเมตรในความสูงไม่เกิน 10 เมตร และ 180 กิโลกรัมต่อตารางเมตรในความสูงเกิน 10 เมตร ส่วนการอนุญาตให้กับผู้ประกอบการป้ายนั้นต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ