กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--สสวท.
เดือนเมษายนของทุกปี มีกิจกรรมหนึ่งที่เยาวชนทุน โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเฝ้ารอคอย นั่นคือ ค่ายวิทยาศาสตร์ พสวท.ภาคฤดูร้อนที่จัดโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
ปีนี้เด็ก ๆ เก่งวิทย์นักเรียนทุน พสวท. ชั้น ม. 4 และ ม. 5 จำนวนเกือบ 100 คน จากศูนย์ของโครงการ พสวท. 7 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ โรงเรียนบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย โรงเรียนศรีบุณยานนท์ โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย และโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย มารวมตัวกันในค่ายนี้
ค่ายนี้เป็นกิจกรรมเสริมในระหว่างปิดภาคฤดูร้อนที่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆเหล่านี้ ได้เรียนรู้ ทำการทดลอง วิเคราะห์ข้อมูลนอกห้องเรียน เกิดความสนุกสนานในการทำกิจกรรมร่วมกันในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างไปจากโรงเรียน ทำให้เกิดการเรียนรู้และประสบการณ์ตรงที่กว้างขวางออกไป ซึ่งจะทำให้พวกเขาเกิดความซาบซึ้งและเล็งเห็นประโยชน์ของการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์และการประกอบอาชีพเป็นนักวิทยาศาสตร์ ค่ายนี้มีรุ่นพี่ พสวท. ที่ทำงานแล้วเป็นนักวิทยาศาสตร์ และอาจารย์หาวิทยาลัยมารวมตัวกันจัดค่ายวิทยาศาสตร์ให้รุ่นน้อง เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ทั้งกลเม็ดเคล็ดลับในการเรียน การทำวิจัยสร้างความผูกพันของชาว พสวท. ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และได้ร่วมสุขทุกข์ด้วยกัน นำโดย พี่เชาว์ หรือ ดร. ชวลิต จีนอนันต์ นักคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT)
เป็นประธานค่าย และพี่ ๆ ที่มากความสามารถและประสบการณ์จากหลายหน่วยงานทั้งสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย และอื่น ๆ มาเป็นทีมงาน
ในวันแรกนั้นเด็ก ๆ มารวมตัวกันที่ห้องประชุมอาคารอินเตอร์โซน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีนายบุญลือ ประเสริฐโสภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาเป็นประธานในพิธีเปิดค่าย โดยท่านบอกกับน้อง ๆ ชาวค่ายว่า “เมื่อทุกคนเก่งทางวิทยาศาสตร์ และได้รับทุน พสวท. แล้ว หวังว่าจะพัฒนาตัวเองให้ประสบความสำเร็จสมดังเจตนารมย์ของโครงการ พสวท. เพราะบุคลากรทางวิทยาศาสตร์มีความสำคัญ ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องมีพื้นฐานที่ดีทางวิทยาศาสตร์ รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะสนับสนุนในเรื่องการพัฒนาเยาวชนในด้านนี้ด้วย”
หลังจากนั้น รศ. ดร. สนอง เอกสิทธิ์ นักวิทยาศาสตร์รุ่นพี่ในโครงการ พสวท. จากหน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรู้ จุฬาลงกรณ์หาวิทยาลัย มาบรรยายพิเสษให้น้อง ๆ ฟังในหัวข้อ “ทำงานวิจัยอย่างไรให้สนุก”
พี่สนองนั้นมีผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ เช่น สังเคราะห์ซิลเวอร์นาโนมูลค่าสูงและคุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศได้เอ งโดยใช้อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ออกแบบและพัฒนาเอง ผลิตอุปกรณ์และคิดค้นเทคนิควิเคราะห์อัญมณี เช่น เพชร พลอย ว่าเป็นของจริงหรือไม่โดยไม่ทำลายอัญมณีนั้น ๆ
พี่สนองเล่าให้น้อง ๆ ฟังว่า “ผมมีความสุขกับการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาก เพราะขณะที่ทำงานวิจัยอยู่นั้น ไม่ได้ทำเพื่อให้ได้ผลงาน แต่เพื่อตอบสนองความอยากรู้ตอบสนองสิ่งที่อยากค้นหา ทำในสิ่งที่ต้องการทำด้วยความรัก เมื่อได้ทุนดี ๆ ได้รับการสนับสนุนดี ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็สามารถไปได้ไกลในสิ่งที่ต้องการ ถึงจะจบปริญญาเอกแล้วมาทำงานเป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมทำวิจัยเดือนแรกได้เงินเดือนหนึ่งหมื่นกว่าบาท ส่วยน้องเขยจบปริญญาเอกไปทำงานให้บริษัทได้เงินเดือนแสนกว่าบาท แต่ผมได้ทำวิจัยในสิ่งที่ผมรัก ส่วนเขาได้ทำในสิ่งที่บริษัทต้องการ แต่ถึงอย่างไรอาชีพนักวิจัยถึงทำงานในหน่วยงานรัฐก็สามารถมีรายได้อย่างสบาย ๆ จากผลงานวิจัยของตนเอง”
หลังจากที่น้อง ๆ ได้สนุกกับการฟังคำอธิบายถึงงานวิจัยต่าง ๆ ผลงานของพี่สนองแล้วนั้น น้อง ๆ ม. 5 ทุกคนจะต้องนำเสนอรายงานการฝึกงานทางวิทยาศาสตร์ ที่ได้ไปฝึกงานกับนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยง ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยมีรุ่นพี่ บัณฑิต พสวท. รับฟังการนำเสนอ ติชม แนะนำ พร้อมเสนอแนะเพื่อ การปรับปรุงแก้ไขการทำวิจัยให้ดีขึ้น
อย่างเช่น นายจารุพัฒน์ วงษ์พานิช โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย ศึกษาขั้นตอนการผสมยางแผ่นกับสารต่าง ๆ ที่ใช้ขึ้นรูปยางพาราซึ่งเป็นขั้นตอนต่อจากการตากยางแผ่น เนื่องจากปัจจุบันมีการส่งเสริมการผลิตและแปรรูปยางพาราเป็นจำนวนมากในภาคอีสาน นางสาวนัชชนันท์ ดวงแก้ว โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย สกัดและทดสอบสารปฏิชีวนะจากเชื่อราปรสิตในแมลง เพื่อสร้างสารปฏิชีวนะยับนยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร นายวรัชญ์ เฉลิมพรพงศ์ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ทดลองผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปในแท่งแม่เหล็กถาวร และขดลวดโซลินอยด์ที่พันรอบแท่งแม่เหล็กถาวร แล้ววัดความเข้มของสนามแม่เหล็กที่เกิดขึ้น นางสาวชลกานต์ นวลสุวรรณ โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ตรวจสอบโครงสร้างของชั้นดินโดยวิธีการสำรวจคลื่นไหวสะเทือนแบบหักเหเพื่อวิเคราะห์โอกาสในการเกิดหลุมยุบซึ่งเป็นธรณีพิบัติถัยอย่างหนึ่งในเขตภูเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง
นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรม การศึกษาดูงานการปฏิบัติงานของนักวิจัย ณ สวทช. ศึกษาดูงานท้องฟ้าจำลองรังสิต หรือ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต กิจกรรมฟิสิกส์ในสวนสนุกที่สวนสนุกดรีมเวิร์ล โดยมี ดร.วิศิษฐ์ สิงห์สมโรจน์ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รุ่นพี่ พสวท. เป็นวิทยากร แล้วเก็บสัมภาระเดินทางไปยังสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
ในยามค่ำคืนที่สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชนั้น ชาวค่ายก็ไม่ได้ปล่อยเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะ พี่ ๆ ได้เตรียมกิจกรรม ไว้ให้ทั้ง ศึกษาชีวิตแมลงกลางคืน ส่องกล้องดูดาว ปิ้งข้าวจี่ ข้าวโป่ง ฟังเสียงธรรมชาติ และกิจกรรมดูดาว ซึ่งกิจกรรมดูดาวนั้นได้เซียนดูดาว โดย ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา รุ่นพี่ พสวท. จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติมาเป็นวิทยากรให้
ส่วนกิจกรรมในช่วงกลางวันที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชนั้นก็มีหลากหลาย ได้แก่ กิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติ และยังมีกิจกรรมปฏิบัติการทางเคมี คณิตศาสตร์ ศิลปะกับวิทยาศาสตร์ จริยธรรมนักวิทยาศาสตร์ พี่เพื่อน้อง ประกวดสิ่งประดิษฐ์ส่วนในวันสุดท้ายของการจัดค่าย ชาวค่ายได้เดินทางไปศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ โดยมีรุ่นพี่บัณฑิต พสวท. ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านซินโครตรอนรออยู่ที่นั่นเช่นกัน
นายโอฬาริก ตาสุยะ (ยิฆ) ชั้น ม. 5 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ซึ่งชอบเรียนฟิสิกส์มาก บอกว่า มาค่ายนี้ชอบกิจกรรมเดินป่าสะแกราชมากที่สุด เพราะได้ศึกษาสิ่งแวดล้อมจากสถานที่จริงโดยตรง โอกาสอย่างนี้หาได้ยาก และยังได้รับความรู้ใหม่ในเรื่องพืชและสมุนไพร นายพงศ์วิศว์ ศรีแสงเจริญยิ่ง (ปาล์ม) ชั้น ม. 4 โรงเรียนศรีบุณยานนท์ ชอบเรียนเคมี บอกว่า ชอบกิจกรรมรับน้อง เพราะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง และรุ่นน้องกับรุ่นน้องด้วยกัน ทั้งยังได้รู้จักเพื่อนและรุ่นพี่ต่างศูนย์ การเข้าค่ายนี้ได้รับสิ่งดีมาก ๆ เช่น ประสบการณ์ ความรู้ มิตรภาพ
นางสาวทิพเนตร จงจิตสถิตมั่น (ลี้) ชั้น ม 5 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ชอบทั้งเคมีและชีววิทยา บอกว่า กิจกรรมในการเข้าค่าย พสวท. ครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่สนุกสนานทั้งยังสร้างความสนในยให้กับพวกเราโดยกระตุ้นให้เกิดความอยากรู้ อยากคิด อยากลงมือปฏิบัติ กิจกรรมที่ประทับใจที่สุด คือ พิสูจน์ทฤษฎีฟิสิกส์ที่ดรีมเวิร์ล
“ตอนแรกคิดว่าการไปสวนสนุกจะดึงความสนใจของพวกเราจากเนื้อหาวิชาการ แต่พอได้ทำกิจกรรมนี้จริง ๆ พบว่าพวกพี่ ๆ บัณฑิตไม่ได้มานั่งพิสูจน์ให้เราฟัง แต่พวกเราต้องพิสูจน์หาด้วยตนเอง แต่เท่านั้นก็ยังไม่เป็นการท้าทายความสามารถมากพอ เพราะอุปกรณ์เครื่องมือการวัดค่าต่าง ๆ ที่พวกพี่ ๆ หามาให้เราจะต้องมาประยุกต์หาทางใช้กันเอาเอง เช่น ให้ไม้ครึ่งวงกลมกับตุ้มเหล็กอันเล็กกับเชือกมา เราก็ต้องมาสร้าง แล้วนำมาวัด หาค่าการแกว่ง ซึ่งค่าที่ได้อาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้างเพราะความไม่สะดวก ในการวัดและเครื่องมือก็ไม่ได้มาตรฐานสำหรับการใช้ในห้องทดลอง แต่กิจกรรมนี้ก็สร้างกระบวนการคิด วิเคราะห์ แก้ปัยหาอย่างเป็นขั้นตอน อีกทั้งยังทำให้พวกเรารู้จักการแบ่งงานกันภายในกลุ่ม เพราะ ถ้าเราทำอยู่คนเดียวอาจจะเสร็จช้าหรือทำไม่ได้เลย”
ส่วน นางสาวเพชรรัตน์ ใจเอื้อ โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย นั้นบอกว่าชอบเดินป่า เพราะทำให้ได้เห็นสิ่งต่าง ๆ มากมายในระบบนิเวศในป่าที่สัมพันธืกัน ชอบดูนก ซึ่งสนุกมาก ไม่เคยทำมาก่อน เป็นประสบการณ์ที่ดี ชอบดูดาว แม้ว่าท้องฟ้าจะปิด แต่ประทับใจบรรยากาศที่สวยงามของป่าและท้องฟ้า ยามค่ำคืนมาก ชอบกิจกรรมสิ่งประดิษฐ์ เพราะใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้เต็มที่ และสิ่งสำคัญอีกอย่างในค่ายนี้ คือ สายสัมพันธ์ของความเป็นรุ่นพี่ รุ่นน้องของชาว พสวท. ก็หยั่งรากลงเหนียวแน่น วิธีคิดอย่างเป็นระบบแบบวิทยาศาสตร์ เจตคติที่ดีทางวิทยาศาสตร์ และการทำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างมีความสุข ได้ถูกปลูกฝังสู่ดวงใจของต้นกล้าเหล่านี้เพื่อให้งอกงามยิ่งขึ้นไป