จังหวัดเชียงใหม่ โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ ได้จัดพิธีถวายราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย" เนื่องในวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 2566 เพื่อเทิดพระเกียรติ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเพื่อแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถทางด้านการช่างของพระองค์ ในวันที่ 2 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุม 911 สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2513 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดงาน แนะแนวอาชีพ และแข่งขันฝีมือแห่งชาติครั้งที่ 1 ณ ลุมพินีสถาน และมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับความเป็นช่างของคนไทย ความตอนหนึ่งว่า
"...ช่างทุกประเภท เป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของคนทุกคน เพราะตลอดชีวิตของเรา เราต้องอาศัยและใช้บริการหรือสิ่งต่างๆ ที่มาจากฝีมือของช่างอยู่ทุกวี่ทุกวัน ผู้เป็นช่างจึงสมควรได้รับความเอาใจใส่ สนับสนุนจากทุกๆ ฝ่าย ยิ่งในสมัยปัจจุบัน วิทยาการทุกอย่างเจริญก้าวหน้ายิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ช่างที่มีความสามารถสูง ให้มีสิ่งใช้สอยที่มีคุณภาพดีและเพียงพอกับความต้องการในการส่งเสริมนั้น มีปัญหาอันควรจะได้พิจารณาช่วยเหลืออยู่สามประการ
- ประการแรก ได้แก่ ปัญหาเรื่องการให้ความรู้ทางหลักวิทยาการ และความรู้ทางการออกแบบ
- ประการที่สอง ได้แก่ ปัญหาเรื่องฝีมือซึ่งต้องปรับปรุงให้มีความประณีตและประสิทธิภาพได้มาตรฐานจริงๆ
- ประการที่สาม ได้แก่ ปัญหาเรื่องการจัดหางานและหาตลาด เพื่อช่วยให้ช่างได้มีงานทำ มีตลาดที่จะ ส่งสินค้าที่ผลิตได้ไปจำหน่าย
การช่วยเหลือทั้งสามประการนี้จะต้องการทำให้สอดคล้องกันไป เพื่อให้ช่างมีรายได้และผลกำไร สำหรับนำมาเป็นทุนรอนสร้างฐานะและความก้าวหน้า ข้าพเจ้าขอฝากความคิดทั้งนี้ไว้เป็นแนวปฏิบัติ ของท่านทั้งหลายต่อไป...."
จากพระปรีชาสามารถทางด้านการช่าง และพระราชดำรัสที่ทรงให้ไว้ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2513 นั้น
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ในการถวายพระราชสมัญญา "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย" แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่พระองค์ท่านที่มีพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทย และทรงปรีชาสามารถด้านช่าง รวมทั้งทรงให้ความสำคัญในการพัฒนาฝีมือแรงงานของช่างไทยให้มีความเป็นมาตรฐาน และเพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ในการเสด็จทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานแนะแนวอาชีพและแข่งขันฝีมือช่างแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2513 ณ ลุมพินีสถาน จึงได้กำหนดให้ วันที่ 2 มีนาคม ของทุกปีเป็น "วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ"
นางณฐมน ปัทมะสุคนธ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่าการจัดงานในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างแรงกระตุ้นให้แก่แรงงานไทยให้ได้รับการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และตระหนักถึงความสำคัญของ "มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ" ซึ่งจะส่งผลให้ได้รับสวัสดิการ ค่าจ้างที่เป็นธรรม และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น อีกทั้งมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ยังช่วยเพิ่มผลิตภาพกำลังแรงงานเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติอีกด้วย และเป็นนโยบายรัฐบาลจากยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคน 20 ปี และกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกำหนดให้ปี 2561 - 2579 เป็นปีแห่งการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ Thailand 4.0 ซึ่งในปีนี้ได้รับเกียรติจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายกเหล่ากาชาด ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรเอกชน ของจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมประกอบพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จำนวนกว่า 200 คน และหลังจากเสร็จพิธีการ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ ได้เชิญท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ให้เกียรติเป็นประธานมอบหนังสือรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานตามมาตรา ๒๖ ให้สถานประกอบกิจการที่มีการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของตน ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท คลีโอคลินิก เวชกรรม สาขาอาชีพภาคบริการ สาขาผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณคลีโอ ระดับ 1 และบริษัท โตโยต้าริช จำกัด สาขาอาชีพช่างเครื่องกล สาขาช่างบำรุงรักษารถยนต์ ระดับ 1 และมอบหนังสืออนุญาตให้เป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ให้สถานประกอบกิจการที่ได้รับพิจารณาอนุญาตให้เป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนไอทีเอ็ม นวดไทยโบราณ กลุ่มสาขาอาชีพภาคบริการ สาขาอาชีพ พนักงานนวดไทย ระดับ 1 และสาขาอาชีพนักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม สปาตะวันตก(หัตถบำบัด)ระดับ 1 การมอบเงินช่วยเหลือเงินหรืออุดหนุนให้แก่สถานประกอบกิจการที่ดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับลูกจ้างเกินกว่าร้อยละ 70 ของลูกจ้างทั้งหมดในปี 2565 ที่ผ่านมา มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือหรือเงินอุดหนุ จำนวน 200 บาท ต่อลูกจ้างหนึ่งคน มูลค่ารวม เป็นเงิน 324,000.-บาท จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท ช้อยส์ มินิสโตร์ จำกัด จำนวน 232,000.- บาท, บริษัท นิ่มลิสซิ่ง จำกัด จำนวน 84,200.- บาท และห้างหุ้นส่วน พี.ดับบลิว.เอสคอนกรีต จำนวน 7,800.- บาท การมอบเงินช่วยเหลือหรือเงินอุดหนุนให้แก่ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ที่ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานและมีผู้ผ่านการทดสอบใน 2565 จำนวน ตั้งแต่ 100 คน ขึ้นไป มีสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุน จำนวน 200 บาท ต่อผู้ผ่านการทดสอบหนึ่งคน มูลค่ารวม เป็นเงิน 204,800.-บาท จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน วิทยาลัยเทคโนโลยีโปลิเทคนิคลานนา จำนวน 105,600.-บาท, ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ จำนวน 62,800.-บาท และศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน วิทยาลัยเทคโนโลยีพายัพและบริหารธุรกิจ จำนวน 36,400.-บาท และสุดท้ายขอขอบคุณหน่วยงานที่ที่ร่วมให้การสนับสนุนการจัดงานในวันนี้ ได้แก่ บริษัท นิ่มซี่เส็ง 1988 จำกัด, บริษัท น้ำใสใจจริง จำกัด, บริษัทวีพีเอฟ กรุ๊ป (1973) จำกัด และบริษัท ช้อยส์มินิสโตร์ จำกัด โดยหลังจากเสร็จพิธีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และผู้ร่วมพิธี เข้าเยี่ยมชมการฝึกอบรมเพื่อขยายผลให้แก่กลุ่มผู้ดูแลผู้สูงอายุ จำนวน 35 คน ภายใต้โครงการเศรษฐกิจใส่ใจ(Care Economy) โดยสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชา และสปป.ลาว (ILO) ร่วมกับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ ดำเนินการฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน หลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ ขั้นกลาง 70 ชั่วโมง และร่วมชมนิทรรศการ เทิดพระเกียรติ "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย" ที่ได้จัดแสดงไว้ภายในบริเวณพิธี