นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการติดตามกรณีพบนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับจากการเข้าพักที่โรงแรมในกรุงเทพฯ เป็นผู้ติดเชื้อยืนยันโรคลีเจียนแนร์ จำนวน 4 คน โดยพบเชื้อก่อโรคในโรงแรมที่นักท่องเที่ยวเข้าพักว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ. ศูนย์บริการสาธารณสุข และสำนักงานเขตพื้นที่ ร่วมกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค เข้าสอบสวนและควบคุมโรค โดยสำรวจระบบสุขาภิบาลน้ำใช้ ระบบการทำความเย็น และค้นหาผู้ป่วยและผู้สัมผัสโรคเพิ่มเติม ขณะเดียวกันทีมสอบสวนโรคได้ดำเนินมาตรการควบคุมโรค โดยแนะนำให้ความรู้เรื่องโรคลีเจียนแนร์ และมาตรการป้องกันควบคุมโรคให้กับโรงแรมดังกล่าว แนะนำการทำความสะอาดถังพักน้ำและถังเก็บน้ำ (Storage tank) โดยทำความสะอาด 1 - 2 ครั้ง/ปี ไม่ให้มีตะกอน ตะกรัน เมือก และตะไคร่น้ำภายในถังพักน้ำและให้มีคลอรีนอิสระตกค้างไม่น้อยกว่า 0.2 Parts per million (ppm.) เก็บตัวอย่างน้ำใช้และ Swab ถาดรองแอร์ในห้องพักที่ผู้ป่วยเคยพัก เพื่อตรวจหาเชื้อเพิ่มเติมที่ห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งแนะนำการทำความสะอาดหัวก๊อกและฝักบัวอาบน้ำ โดยให้ทำความสะอาดหัวก๊อกน้ำและแช่ฝักบัวด้วยสารละลายคลอรีนเข้มข้น 10 ppm. หรือแช่น้ำร้อน 65 องศาเซลเซียส นาน 5 นาที และแนะนำให้ตรวจสอบน้ำในระบบน้ำร้อนรวม ต้องมีอุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส และน้ำที่ส่งออกต้องมีอุณหภูมิสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส และถังเก็บไม่ต่ำกว่า 42 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ กทม.ขอแนะนำทุกหน่วยงาน หรือสถานประกอบการที่พักนักท่องเที่ยวจัดการระบบคลอรีนในน้ำประปา ตรวจสอบระบบน้ำร้อนรวม ระบบปรับอากาศ อุปกรณ์ในห้องน้ำ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทำความสะอาด สิ่งของที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์น้ำอย่างสม่ำเสมอ สำหรับประชาชนทั่วไป เพื่อลดความเสี่ยงต่อการก่อเชื้อโรคดังกล่าว ขอให้ดูแลและล้างทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศที่บ้านอย่างถูกวิธีทุก 1 - 2 สัปดาห์ รวมถึงทำความสะอาดท่อหล่อเย็น หรือถาดรองน้ำหล่อเย็นของเครื่องปรับอากาศ ไม่ให้มีน้ำขัง เปียกชื้น และควรทำให้แห้งหากไม่ได้ใช้งานฝักบัว หรือก๊อกน้ำต่าง ๆ เป็นเวลานาน ควรเปิดน้ำทิ้งเป็นเวลา 20 นาที หมั่นทำความสะอาดหัวฉีดอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ให้อุดตัน
สำหรับอาการป่วยของโรคลีเจียนแนร์ แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ อาการเบาไปจนถึงอาการหนัก โดยอาการเบาจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ไอ คลื่นไส้อาเจียน หากติดเชื้อลงไปที่ปอด ทำให้ปอดอักเสบ มีไข้สูง ไอ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และอาจเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจเกิดระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้