นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ให้การต้อนรับ นายฮิวจ์ เวทเธอร์ส (Mr. Hugh Weathers) Commissioner, South Carolina Department of Agriculture National Association of State Department of Agriculture (NASDA) พร้อมคณะผู้แทนจาก NASDA และสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ หารือยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคี และขยายความร่วมมือทางการค้าสินค้าเกษตรและการลงทุนภาคการเกษตร โดยหารือประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรไทย-สหรัฐ ความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการเกษตร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร และ การส่งออกผลไม้สด
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการภายใต้ นโยบายการเกษตรและอาหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่นางสาว มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรียช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนับสนุนมุ่งเป้าให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก ขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบาย 3S (Standard - Safety - Sustainability) เพื่อความปลอดภัยทางอาหาร ความมั่นคงและมั่งคั่งของภาคเกษตรและอาหาร และ ความยั่งยืนของภาคการเกษตร ขอให้ประเทศสหรัฐอเมริกา มั่นใจว่า สินค้าเกษตรและอาหารของไทย ผลิตด้วยความปลอดภัยทั้งระบบ เพื่อผู้บริโภคภายในประเทศ และส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ
นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร ยังให้ความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร โดยการทำ MOU ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ก่อให้เกิดการสนับสนุนทั้งด้านการพัฒนา และผลักดันการจัดการคาร์บอนเครดิต รวมทั้งเสริมสร้างการตอบสนองต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้อย่างยั่งยืน มีการสร้างการสร้างและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และ ร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ในพืชเศรษฐกิจสำคัญ
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสอันดีที่กรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานภาคการเกษตรของสหรัฐฯ จะมีความร่วมมือกันในด้าน smart agriculture ด้าน climate change และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร โดยสหรัฐอเมริกามีองค์ความรู้และเทคโนโลยีในเรื่องดังกล่าว ซึ่งหากมีผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ มาถ่ายทอดเทคโนโลยี ก็จะนำไปสู่การพัฒนาการวิจัยด้านการเกษตรของไทยต่อไป
ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาได้อนุญาตให้นำเข้าผลไม้สด (fresh fruit) ของไทย ได้แก่ มะม่วง ลำไย มังคุด ลิ้นจี่ เงาะ สับปะรด และแก้วมังกร โดยจะต้องได้รับการฉายรังสีก่อนส่งออก และล่าสุดคือ ส้มโอซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการร่วมกันระหว่างกรมวิชาการเกษตรและหน่วยงาน Animal and Plant Health Inspection Service ในการส่ง inspector จากสหรัฐฯ มายังประเทศไทย เพื่อจัดทำ dose mapping สำหรับการฉายรังสีส้มโอเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยปัจจุบันสหรัฐฯ ได้กำหนดให้มีการฉายรังสีผลไม้ไทยเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในปริมาณที่ไม่ต่ำกว่า 400 เกรย์ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของผลไม้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรจึงประสงค์ขอให้ฝ่ายสหรัฐฯ พิจารณาการลดปริมาณรังสีสำหรับการฉายรังสีผลไม้เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ โดยกรมวิชาการเกษตรยินดีส่งข้อมูลทางวิชาการ เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป